เปิดเนื้อหาประกาศ 4 ฉบับเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่เพิ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา พบเป็นการขยายเวลา-ต่ออายุการบังคับใช้กฎหมายใน 9 อำเภอชายแดนใต้ ซึ่งเป็นอำเภอที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปก่อนหน้านี้
ประกาศ 4 ฉบับถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ย.62 ประกาศฉบับหลักคือ "ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" มีเนื้อหาหลักๆ เป็นการขยายเวลาการประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประกอบด้วย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี / อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี จังหวัดสงขลา / อำเภอเบตง จังหวัดยะลา / อำเภอสุไหงโกลก สุคิริน และศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส โดยเป็นการขยายเวลาการประกาศพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งทั้ง 9 อำเภอ คืออำเภอที่ได้รับการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามที่ได้ยกเลิกมาเป็นลำดับก่อนหน้านี้ เพื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่มีดีกรีอ่อนกว่าแทน
จากประกาศหลักฉบับนี้ จึงมีประกาศออกตามมาอีก 3 ฉบับ คือ
1. การให้ใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เปิดโอกาสให้ผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งก็คือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่เหล่านี้ สามารถเข้าอบรมตามคำสั่งศาลแทนการถูกดำเนินคดีได้
2. การให้เจ้าพนักงานของ กอ.รมน. มีอำนาจตามกฎหมายอีก 32 ฉบับ เพื่อระงับ ยับยั้ง แก้ไข ปราบปราม สถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในพื้นที่
3. การออกข้อกำหนดตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งมีอยู่ 6 ข้อ ประกอบด้วย ให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานมีหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และบรรเทาเหตุการณ์ฉุกเฉิน, อำนาจห้ามบุคคลเข้าหรือออกจากพื้นที่อาคาร หรือสถานที่อื่นใดตามที่กำหนด, อำนาจห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด หรือ "เคอร์ฟิว", อำนาจห้ามนำอาวุธออกนอกเคหะสถาน, อำนาจห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ และอำนาจสั่งการบุคคลใดก็ตามเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
อำนาจทั้ง 6 ข้อนี้เป็นอำนาจที่มีอยู่แล้วตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉะนั้นการออกข้อกำหนดนี้ จึงเป็นเพียงการประกาศรับรองอำนาจที่มี แต่ยังไม่มีการใช้อำนาจนั้น รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวด้วย เพราะการใช้อำนาจ จะต้องมีการออกคำสั่งจากแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นกรณีๆ ไป เช่น หากจะประกาศเคอร์ฟิว ก็ต้องมีกำหนดเวลาออกมา ว่าห้ามประชาชนท้องที่ใดออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลากี่โมงถึงกี่โมง เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือประกาศทั้ง 4 ฉบับที่ออกมา สรุปง่ายๆ ก็คือเป็นกรอบการให้อำนาจหน่วยปฏิบัติในการทำงาน หลังจากมีการขยายเวลาการบังคับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 9 อำเภอ ออกไปอีก 1 ปี แต่ยังไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรการเหล่านั้น โดยเฉพาะเคอร์ฟิว
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ยืนยันว่า ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวตามที่เป็นกล่าว และแม้แต่ที่ผ่านมาในการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีดีกรีเข้มข้นกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านก่อนๆ ก็แทบไม่เคยใช้อำนาจประกาศเคอร์ฟิว ยกเว้นเมื่อปี 50 เพียงแค่ช่วงนั้นๆ ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา กับอำเภอยะหา จังหวัดยะลาเท่านั้น
----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ข้อพึงระวังของ "ม. 21" เสียงเตือนในความสำเร็จของ พ.ร.บ.ความมั่นคง
เส้นทาง พ.ร.บ.มั่นคงฯ ชายแดนใต้ 5 พื้นที่ - เทียบดีกรี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
"ไอซีเจ"ชำแหละ ม.21 "ลิดรอนสิทธิ-ตัดสินล่วงหน้า" กังขาเว้นโทษความผิดร้ายแรง
พ.ร.บ.มั่นคงฯกับปมปัญหา...นิยาม"ผู้ต้องหา" ต้องไม่รวมผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.
"กบฏ-ก่อการร้าย-ฆ่าคนตาย-วางระเบิด" เข้าข่าย ม.21 มีลุ้นอบรม 6 เดือนแทนถูกดำเนินคดี