ก่อนที่ ส.ส.ฝ่ายค้านจะยื่นกระทู้ถามสดถามรัฐมนตรีกลาโหม กรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เพียง 1 วัน หน่วยงานในพื้นที่ชายแดนใต้อย่าง ศอ.บต.ได้ลงมติจ่ายเงินเยียวยา 500,000 บาทให้กับครอบครัวผู้ตายแล้ว ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนถามกระทู้เรื่องนี้ พร้อมเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนชุดใหม่ และยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ
เมื่อวันอังคารที่ 3 ก.ย.62 มีการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. โดยมีวาระสำคัญคือพิจารณาจ่ายเงินเยียวยา นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งเสียชีวิตหลังจากถูกควบคุมตัวเข้าค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้เพียง 1 คืนแล้วหมดสติไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จากนั้นนายอับดุลเลาะอยู่ในสภาพเป็นเจ้าชายนิทรา รักษาตัวอยู่ 35 วันก็สิ้นใจที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
การประชุมของคณะกรรมการช่วยเหลือเยียวยาฯ เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของการเสียชีวิต ได้ส่งเรื่องต่อให้ ศอ.บต.พิจารณา เพราะจากรายงานสรุปของแพทย์พบว่า นายอับดุลเลาะเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ก็ยืนยันว่าได้ควบคุมตัวและดำเนินการตามระเบียนขั้นตอนทุกประการ
การประชุมครั้งนี้มี นายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธาน และมี นายกิตติ สุระคำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ ร่วมกับผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 สน. ผู้แทนผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคม เข้าหารืออย่างพร้อมเพรียง
เยียวยาเบื้องต้น 5 แสน บวก 3 หมื่น
มติที่ประชุมสรุปว่า ให้เยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะเป็นเงิน 500,000 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ โดยที่ประชุมพิจารณาองค์ประกอบของการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ พบว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ และเจ็บป่วยจนเสียชีวิตขณะควบคุมตัว จึงเข้าหลักเกณฑ์การเยียวยาตามระเบียบฯ
แม้รายงานทางการแพทย์จะระบุชัดว่า นายอับดุลเลาะเสียชีวิตด้วยอาการสมองบวม และระหว่างการรักษาเกิดภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้ออย่างรุนแรง แต่อาการป่วยถือว่าเกิดขึ้นระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐจนนำไปสู่การเสียชีวิต จึงถือว่าการป่วยและเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการควบคุมตัว ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตตามระเบียบฯ
นอกจากนั้น ศอ.บต.ยังได้อนุมัติให้มีการเยียวยาด้านจิตใจ เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท พร้อมชดเชยค่าเสียหายตามจำนวนวันที่จะถูกควบคุมตัวอีก 6 วัน วันละ 400 บาท ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งในส่วนนี้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภารคใต้ หรือ กพต. พิจารณาเยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะเพิ่มเติม เกี่ยวกับทุนการศึกษาบุตร 2 คน และส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตอื่นๆ ตามสภาพปัญหา และความจำเป็นต่อไปด้วย
ก่อนหน้านี้ในช่วงที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่ "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวนายอับดุลเลาะนั้น มีข่าวว่าทางครอบครัวกำลังรอดูความจริงใจของรัฐว่าจะจ่ายเยียวยาและดูแลเรื่องทุนการศึกษาของลูกทั้ง 2 คนหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีแต่คำพูดปากเปล่า
ครอบครัวอับดุลเลาะบุกสภาร้องฝ่ายค้าน
ต่อมาวันพุธที่ 4 ก.ย. ครอบครัวของนายอับดุลเลาะได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมกับโฆษกพรรคอนาคตใหม่ "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช ที่อาคารรัฐสภาใหม่ เกียกกาย โดย นางสาวพรรณิการ์ บอกว่า ต้องการให้กองทัพและกระทรวงกลาโหมอธิบายอย่างมีน้ำหนักเหตุผลว่า เหตุใดนายอับดุลเลาะจึงกลับออกจากค่ายทหารด้วยสภาพสมองขาดออกซิเจน
นอกจากนั้นยังอยากให้รัฐบาลให้สัญญาว่า เมื่อญาติไปขอข้อมูลเวชระเบียนจากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเเรกที่ตรวจอาการนายอับดุลเลาะ ทางโรงพยาบาลจะต้องให้ข้อมูลเวชระเบียนทั้งหมด พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับชาติ เพื่อตรวจสอบการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ส.ส.ประชาชาติถามกระทู้ - จี้เลิก กม.พิเศษ
วันเดียวกัน นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนฝ่ายค้าน ยื่นกระทู้ถามสดกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ โดยมีคำถามทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน คำถามแรกคือ ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่ที่ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นประธาน เพราะคณะกรรมการตรวจสอบชุดแรกที่แม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งขึ้น คือ คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีตัวแทน กอ.รมน.ภาค 4 สน.เป็นประธาน ทำให้คนในพื้นที่เคลือบแคลงผลการตรวจสอบที่ออกมา
สำหรับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่ตอบกระทู้เรื่องนี้ คือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.ชัยชาญ ตอบกระทู้ถามข้อแรกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบกับภรรยาของนายอับดุลเลาะ ช่วงเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 และได้กำชับทุกหน่วยให้ดูแลให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่
ในส่วนของการตรวจสอบ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กับชุดที่ 2 คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการตั้งอนุกรรมการ 2 คณะ คณะแรกดูเรื่องสถานที่เกิดเหตุ คือ หน่วยซักถาม และได้พูดคุยเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทุกนายที่อยู่ในเหตุการณ์ ดูภาพต่างๆ ที่บันทึกเอาไว้ กับอนุกรรมการคณะที่ 2 เป็นอนุกรรมการด้านการแพทย์ ได้ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์จาก 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งผลการตรวจสอบได้มีการชี้แจงต่อสาธารณะไปหมดแล้ว
หลักฐานทางการแพทย์ไม่พบปอดบวม จึงยืนยันได้ว่าไม่มีการใช้น้ำ และไม่พบเลือดออกที่เยื่อบุตา จึงยืนยันได้ว่าภาวะขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ไม่ได้เกิดจากคนอื่นกระทำ ส่วนที่ถามว่าจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่หรือไม่ ขอบอกว่าผลการตรวจสอบที่ออกมามีความชัดเจนแล้ว แต่ถ้าญาติผู้เสียชีวิตต้องการใช้สิทธิ์ดำเนินคดีอาญาหรือแพ่ง ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ต่อไป
จากนั้น นายกมลศักดิ์ ได้ถามคำถามที่ 2 เรื่องการเยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะ และ คำถามที่ 3 พิจารณายกเลิกกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" เนื่องจากใช้มานาน 15 ปีแล้ว มีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้สิทธิ์ผู้ต้องสงสัยน้อยกว่าผู้ต้องหา
พล.อ.ชัยชาญ ตอบกระทู้ 2 ข้อนี้ว่า เรื่องเยียวยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้ว โดยลงมติให้จ่ายเยียวยาขั้นต้น 532,400 บาท และจะดูแลด้านอื่นๆ ทั้งด้านการศึกษาบุตร 2 คน ตลอดจนอาชีพของคนในครอบครัวต่อไป
ส่วนความจำเป็นที่ต้องใช้กฎหมายพิเศษนั้น พล.อ.ชัยชาญ บอกว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงกระทำการเป็นเครือข่าย เป็นกลุ่มขบวนการ การใช้กฎหมายปกติจึงไม่สามารถป้องกันเหตุร้าย หรือจับกุมผู้ก่อเหตุหลังเกิดเหตุแล้วได้ แต่กฎหมายพิเศษทั้งหมดถูกใช้เท่าที่จำเป็น ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประชาชนในพื้่นที่ก็มีความสูญเสียด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งเด็ก ผู้หญิง พระ ครู ผู้นำศาสนา ทุกคนย่อมมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองเช่นกัน
สำหรับการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีศูนย์ประมวลผลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทุกครั้งก่อนพิจารณาต่ออายุทุกๆ 3 เดือน และที่ผ่านมาได้ลดระดับการบังคับใช้กฎหมายลง จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นพระราชบัญญัติอการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" แล้ว 8 อำเภอ ขณะนี้กำลังเพิ่มอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส อีก 1 อำเภอ
มีแค่ 3 รัฐบาลที่เสนอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายพิเศษที่ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติอ้างถึง โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ถูกยกร่างและประกาศใช้บังคับในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 48 โดยประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน จากนั้นก็ต่ออายุครั้งละ 3 เดือนต่อเนื่องมาถึง 56 ครั้ง รวมระยะเวลา 14 ปี ซึ่งในช่วง 14 ปีมานี้ มีรัฐบาลมาแล้ว 9 ชุด เป็นรัฐบาลขั้วของของนายทักษิณถึง 5 ชุด คือ รัฐบาลทักษิณ 1 รัฐบาลทักษิณ 2 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่กลับไม่มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในช่วงรัฐบาลเหล่านี้เลยแม้แต่อำเภอเดียว
การลดระดับการใช้กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่มีดีกรีอ่อนกว่านั้น เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลอื่นทั้งสิ้น คือ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บังคับใช้ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี รวม 5 อำเภอ ขณะที่รัฐบาล คสช. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 อำเภอ คือ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ล่าสุดในรัฐบาลชุดปัจจุบันเสนอยกเลิกที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
---------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ส.ส.กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ จากพรรคประชาชาติ ถามกระทู้กับ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (ภาพจากสถานีโทรทัศน์รัฐสภา)
2 การประชุมจ่ายเยียวยาให้ครอบครัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ
3 ภรรยานายอับดุลเลาะ ยื่นหนังสือร้องความเป็นธรรมต่อโฆษกพรรคอนาคตใหม่