คำว่า "อภินิหารทางกฎหมาย" เคยออกจากปากรองนายกฯวิษณุ เครืองาม ในบริบทของการทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้
กรณีแรกที่อ้างอิงว่ารองนายกฯวิษณุพูดวลีนี้ ก็คือการตามเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร ทั้งๆ ที่ผ่านมานานถึง 10 ปี กระทั่งกรมสรรพากรยืนยันว่าน่าจะพ้นเวลาในการเรียกเก็บภาษีไปแล้ว และยังมีคดียึดทรัพย์อดีตนายกฯทักษิณที่จบไปแล้วด้วย ซึ่งภาษีก็น่าจะรวมอยู่ในทรัพย์ที่ถูกยึดไปแล้ว แต่สุดท้ายก็มีการตั้งเรื่องดำเนินการตามช่องทางที่เรียกว่า "อภินิหารทางกฎหมาย"
ภายหลังวลีนี้ถูกนำมาเอ่ยอ้างถึงกันอย่างกว้างขวาง ในแง่ของการเลือกใช้หรือเลือกตีความกฎหมายให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองของพวกตน ฝ่ายตน ทำให้เกิดความรู้สึก "เหลื่อมล้ำทางความยุติธรรม"
เรื่องราวคล้ายๆ กันนี้กำลังลุกลามไปที่ภาคใต้ตอนล่าง ในมุมมองของคนที่เคารพสิทธิมนุษยชน เพราะมีการนำตัวผู้ต้องสงสัยคดีลอบวางระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปควบคุมไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
เหตุลอบวางระเบิดเกิดในกรุงเทพฯ ผู้ต้องสงสัยถูกจับที่ชุมพร แต่เหตุใดจึงต้องนำตัวไปควบคุมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถมไม่มีการตั้งข้อหา ไม่มีการขอหมายจับ กระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปถึง 7 วันจึงเพิ่งขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญา (เหตุเกิด 1 ส.ค. จับกุมได้คืนเดียวกัน แต่ศาลอนุมัติหมายจับวันที่ 8 ส.ค.)
นักสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ว่า ช่วงเวลาก่อนออกหมายจับ ตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับไหนในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย แน่นอนว่าการหิ้วตัวลงใต้ ย่อมแสดงเจตนาว่าจะใช้กฎหมายพิเศษอย่าง "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" แต่จุดเกิดเหตุไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก. แล้วจะคุมตัวไปสอบสวนในพื้นที่ประกาศกฎหมายพิเศษได้อย่างไร
เมื่อเสียงตั้งคำถามดังมากขึ้น ก็มีคำชี้แจงจากทางตำรวจว่า ผู้ต้องสงสัย 2 คนนี้เกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ปี 60 หรือ 2 ปีก่อน ตำรวจจึงขออนุมัติหมายจับในวันที่ 2 ส.ค.62 ในคดีเก่าเมื่อปี 60 แล้วก็อาศัยหมายจับนี้ในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษ สอบปากคำผู้ต้องสงสัยในคดีลอบวางระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป โดยคนระดับ ผบ.ตร.ลงไปสอบปากคำเองด้วย
เป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยว่านี่คือ "อภินิหารทางกฎหมาย" แบบหนึ่งด้วยหรือเปล่า?
เรื่องราวไม่ปกติแบบนี้ ยังเกิดขึ้นกับกรณีของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกควบคุมตัวเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพียง 1 คืน ก็มีอาการหมดสติ และสมองบวม ต้องหามส่งโรงพยาบาลปัตตานี เข้าห้องไอซียู ภายหลังย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ต่อเนื่องวันที่ 21 ก.ค. ก่อนเหตุการณ์ลอบวางระเบิดกลางกรุงเทพฯ 10 วัน
หลังเกิดเหตุ มีกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่านายอับดุลเลาะอาจถูกซ้อมทรมาน แต่ฝ่ายทหารยืนกรานว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะไม่มีบาดแผลตามร่างกาย
ไม่ใช่แค่ยืนยันกันเปล่าๆ แต่ฝ่ายทหารโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไปเชิญให้คุณหมอโรงพยาบาลปัตตานีร่วมตั้งโต๊ะแถลงด้วย ซึ่งตลอดการแถลง แพทย์ทุกคนที่ร่วมรักษาก็อธิบายสาเหตุที่ทำให้นายอับดุลเลาะหมดสติตามหลักวิชาการ เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงว่าถูกใครทำให้หมดสติหรือไม่ เป็นเรื่องของกระบวนการสอบสวนในความรับผิดชอบของตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่แพทย์ ซึ่งหมอทุกคนก็ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง คือไม่สามารถฟันธงอะไรได้
แต่การให้หมอไปนั่งแถลงข่าวกับทหาร ในประเด็นอ่อนไหวในพื้นที่ขัดแย้งอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวงการแพทย์และสาธารณสุข
ที่หนักกว่านั้้นคือมีแพทย์หญิงคนหนึ่ง นามสกุลเดียวกับแม่ทัพภาคที่ 4 คือ คุณหมอสุภัค พูลสวัสดิ์ หลังไปแถลงข่าวร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ทำให้เธอถูกสร้างกระแสโจมตีอย่างหนักจนกระทบกับสภาพจิตใจและการทำหน้าที่ของเธอ
คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาคประชาสังคมหลายกลุ่มในพื้นที่ ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจคุณหมอ ทำให้เจ้าตัวเปิดใจสั้นๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเธอยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณของแพทย์ การแถลงข่าวก็ไม่มีสคริปต์จากใครทั้งนั้น
"หมอทำหน้าที่รักษาคนไข้ เขา (นายอับดุลเลาะ) เป็นคนไข้ของหมอ เราก็รักษาประดุจญาติ ทำเต็มที่เพื่อช่วยชีวิตคนจริงๆ ตั้งใจดูแลคนไข้คนนี้มาก ทำมากกว่าการรักษาตามมาตรฐานทั่วไปด้วยซ้ำ เอ็กซเรย์ทั้งช่องปอด ช่องท้อง ให้ยากระตุ้นหัวใจ แล้วลดยาเมื่อหัวใจเต้นเป็นปกติ พยายามหาสาเหตุสุดๆ แต่ไม่เจอ หมอก็บอกว่าไม่เจอ พูดตามหลักฐานที่หาได้ ที่ประจักษ์ตามผลที่พิสูจน์ แล้วส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์" แพทย์หญิงสุภัค ระบายความอัดอั้น
"หมอหาสาเหตุได้เบื้องต้น เพราะเขาอยู่กับหมอเพียง 1 วันก็ส่งไปรักษาต่อ แล้วจะให้หมอทำอย่างไร ย้อนไปดูคลิปวันแถลงข่าวก็พูดชัดเจนว่าไม่มีสคริปต์อะไรทั้งนั้น เรายังไม่เจอหลักฐาน หรืออาจมีโรคบางตัวที่เราไม่รู้ก็เป็นได้"
แน่นอนว่าหนึ่งในสาเหตุที่คุณหมอสุภัคถูกโจมตีหนัก เพราะใช้นามสกุล "พูลสวัสดิ์" นามสกุลเดียวกับแม่ทัพภาคที่ 4 แต่คุณหมอยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแม่ทัพในทางเครือญาติเลยแม้แต่น้อย
"นามสกุลพูลสวัสดิ์ เป็นนามสกุลมาแต่กำเนิด มีนามสกุลนี้ในทุกจังหวัด หมอไม่ได้เป็นอะไรกับแม่ทัพภาคที่ 4 เพียงแต่ได้พูดคุยกันประมาณ 30 วินาทีเมื่อวันที่แม่ทัพภาคที่ 4 มาเยี่ยมนายอับดุลเลาะ ก่อนส่งตัวไปรักษาต่อ และไม่ได้พบหรือพูดคุยกันอีกหลังจากวันนั้น"
คุณหมอสุภัค ยืนยันทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงทดท้อ "หมอตั้งใจช่วยเขา (นายอับดุลเลาะ) แต่หมอทำผิดอะไรจึงถูกโจมตี และต้องได้รับการตอบกลับแบบนี้"
ตลอดการเผยความในใจของหมอสุภัค ไม่ได้มีถ้อยคำให้ร้ายหรือตำหนิใคร และไม่ได้พูดย้อนไปถึงการที่ต้องนั่งแถลงข่าวร่วมกับฝ่ายความมั่นคง
แต่สำหรับคนที่ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด จะทราบดีว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความอ่อนไหวในสถานการณ์ขัดแย้งที่ฝ่ายความมั่นคงพึงระมัดระวัง มิฉะนั้นวงการแพทย์และสาธารณสุขจะถูกดึงเข้าไปอยู่ในวังวนขัดแย้ง
และสถานการณ์อาจบานปลายเกินคาดเดา...