7 ส.ค.62 "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิด "ศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้" แห่งใหม่ ที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
แม่งานในเรื่องนี้คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งจะว่าไปก็มีสถานะเป็น "เจ้าของอาคาร" เพราะจัดซื้ออาคารเก่าของโรงแรมชื่อดังกลางเมืองยะลาในอดีตมาปรับปรุงเป็นศูนย์ราชการ โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการตามรายงานที่ทำเสนอนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ว่า "ศูนย์บริหารราชการภาคใต้ตอนล่าง" กระทั่งถึงวันเปิดตึกจึงมีการเปิดผ้าแพรคลุมป้าย ใช้ชื่อว่า "ศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้"
อาคารหลังนี้ เดิมเป็นอาคารโรงแรม ชื่อ "ชางลี" ตั้งอยู่ใจกลางเมืองยะลา เคยเป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสูง 15 ชั้น แต่ภายหลังต้องปิดกิจการลงจากพิษเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบ เคยโดนลอบวางระเบิดทั้งที่โรงแรมและบริเวณใกล้เคียงหลายครั้ง จนมีสภาพเป็น "โรงแรมร้าง"
ต่อมาในปี 55 ศอ.บต.ในยุคที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ได้ตัดสินใจซื้อโรงแรมชางลี จากบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ บสส. ตามมติเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 ในราคา 124 ล้านบาท และตั้งงบสำหรับปรับปรุงอาคาร รวมถึงชำระค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกราว 43 ล้านบาทเศษ
วัตถุประสงค์ของการจัดซื้อโรงแรมร้างชางลี คือต้องการให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และพหุวัฒนธรรม รวมถึงศูนย์บริการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ และศูนย์เยียวยาจิตใจ โดยเน้นให้เป็นสถานที่ของประชาชนเป็นหลัก มีแผนการใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอท็อปของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนสร้างความคึกคักของเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ศอ.บต.หลังการยึดอำนาจเมื่อปี 57 ทำให้การสานต่อโครงการนี้เงียบหายไประยะหนึ่ง กระทั่งภายหลังมีการทำโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยราว 10,000 ตารางเมตร ปรากฏว่าต้องใช้งบเพิ่มอีก 96 ล้านบาทเศษ กระทั่งแปลงโฉมเป็นศูนย์บริหารราชการภาคใต้ตอนล่าง หรือศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
สรุปรวมงบประมาณที่ใช้ไปตั้งแต่จัดซื้อ จนถึงการปรับปรุง ซ่อมแซม และรีโนเวทอาคารใหม่ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งสิ้น 263 ล้านบาทเศษ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงความจำเป็นและความคุ้มค่า เพราะปัจจุบัน ศอ.บต.ใช้อาคารนี้เป็นสถานที่ทำงานของตนเอง และของหน่วยราชการบางหน่วยในพื้นที่เท่านั้น ทั้งๆ ที่ ศอ.บต.และหน่วยงานอื่นๆ ก็มีสถานที่ทำงานของตนอยู่แล้ว (ป้ายชื่อบนอาคารยังเป็นชื่อ ศอ.บต.)
แต่ข้อดีก็คือมีการจัดพื้นที่บางส่วนเป็น "ศูนย์ประสานงานและบริการการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ" หรือ OSOS (one start one stop service) สำหรับให้บริการพี่น้องประชาชน ทว่าก็ยังมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ เพราะอาคารแห่งนี้เป็นโรงแรมสมัยเก่า แม้จะอยู่ใจกลางเมือง แต่ไม่ได้มีสถานที่จอดรถกว้างขวางเพียงพอที่จะรองรับรถยนต์ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่มาใช้บริการได้ทั้งหมด
ข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งบรรจุอยู่ในรายงานที่ ศอ.บต.จัดทำเสนอนายกรัฐมนตรีก็คือ โครงการปรับปรุงอาคาร หรือ "รีโนเวท" โรงแรมร้างชางลีที่นายกฯเดินทางไปเปิดด้วยตัวเองนี้ เพิ่งเสร็จเรียบร้อยในระยะที่ 2 คือชั้น 1 ถึงชั้น 7 เท่านั้น ส่วนโครงการปรับปรุงระยะที่ 3 ชั้น 8 ถึงชั้น 15 ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
โดยชั้น 8 จะเป็นสำนักงานเพิ่มเติม ชั้น 9-13 จะเป็นห้องพักเพื่อให้บริการแก่ผู้รับบริการจากศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการประมาณ 100 ห้องพัก ห้องพักละ 2 คน สามารถรองรับได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 200 คน ส่วนชั้น 14 และ 15 จัดสร้างเป็น "หอเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์กับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้"
โครงการ "รีโนเวท" โรงแรมชางลี เคยเป็น 1 ใน 4 โครงการพัฒนาที่ใช้งบสูงของ ศอ.บต. กระทั่งถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่รัฐบาล คสช.ตั้งขึ้นด้วย โดยมี นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน แต่ผลสรุปการสอบสวนไม่เป็นที่ปรากฏชัด
ขณะที่ นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการพัฒนาของ ศอ.บต. บอกกับผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีว่า เมื่อปี 60 รัฐบาลมอบหมายให้ตนเป็นประธานลงไปตรวจสอบ 4 โครงการพัฒนาที่ใช้งบประมาณจำนวนมากของ ศอ.บต. ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการการปรับปรุงอาคารโรงแรมชางลี โดยให้ตรวจสอบประเมินว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่
หลังจากการตรวจสอบ ได้มีการทำรายงานเสนอไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น โดยได้มีข้อเสนอไปว่าการจะปรับปรุงอาคารต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และความเหมาะสม โดยจะต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แต่หลังจากที่ได้เสนอรายงานไปแล้วจะมีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่ ตนไม่ทราบ
"จริงๆ แล้วการดำเนินการควรจะต้องมีแผนการปฏิบัติอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เพียงแค่ของบประมาณไปเท่านั้น แต่ต้องมีการจัดทำแผนการใช้งานด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีการของบประมาณไปใช้ในการซ่อมแซมปรับปรุงอยู่ทุกปี" นายจิรชัย กล่าว
ทั้งหมดนี้คืออดีตและปัจจุบันของ "โรงแรมร้างชางลี" หรือ ศูนย์บริหารราชการภาคใต้ตอนล่าง หรือ ศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปี 2562
------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"บิ๊กตู่" ลงใต้ 7 ส.ค.เปิดศูนย์ราชการแห่งใหม่หลังเนรมิตโรงแรมร้างชางลี
ศอ.บต.ทำคลิปโปรโมท "ชางลีโฉมใหม่" อ้างใช้งบแค่ 147 ล้าน!
เปิดงบปรับปรุง "โรงแรมร้างชางลี" เฉียดร้อยล้าน! ออฟฟิศใหม่ ศอ.บต.
เบื้องหลัง ศอ.บต.ซื้อ "ชางลี" โรงแรมร้างกลางยะลา เล็งตั้งองค์การมหาชนบริหาร