ปักษ์แรกของเดือน ก.ค.62 มีข่าวสารที่เรียกความสนใจจากประชาคมชายแดนใต้ผุดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการปรากฏโฉมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเป็นทางการ
ข่าวที่ว่านี้ก็คือ ข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊คของบรรณาธิการเว็บไซต์ดีพเซาท์วอทช์ (Deep South Watch) นามว่า นายรอมฎอน ปันจอร์ เกี่ยวกับงานวิจัยฉบับหนึ่งที่เจ้าตัวให้สมญาว่า "งานวิจัยสุดพีค" หัวข้อ "สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่" ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่าเป็นงานวิจัยที่ถูกถอดจากเว็บไซต์ของ สกว. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ไปเรียบร้อย
สำหรับเว็บไซต์ Deep South Watch คือเว็บไซต์ขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นแหล่งรวมข้อมูลทางวิชาการ สถิติ และข่าวสาร ซึ่งผู้ที่สนใจปัญหาไฟใต้รู้จักกันเป็นอย่างดี
หน้าตาของ ครม.ประยุทธ์ 2/1 ดูๆ แล้วไม่มีสัญญาณบวกใดๆ ต่อสถานการณ์ไฟใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี ทำให้สปอตไลท์ของกลุ่มคนที่สนใจปัญหาภาคใต้ฉายจับไปที่ "งานวิจัยสุดพีค" ฉบับนี้แทน
นายรอมฎอน ให้ข้อมูลว่า หัวหน้าทีมวิจัย คือ รศ.ดร.มารค ตามไท อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ ในยุคที่การพูดคุยยังปิดลับ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ระหว่างปี 2550-2554) โดยมีผู้ช่วยวิจัยเป็นคนของ PerMas และ The Patani
กลุ่ม PerMas หมายถึง สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ส่วน The Patani นิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มปฏิบัติการทางการเมือง ขับเคลื่อน รณรงค์ เพื่อสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองในพื้นที่ปาตานี
สาระสำคัญของงานวิจัยที่นายรอมฎอนนำมาเปิดเผย ก็คือ คำตอบจากการตั้งคำถามคนใน "ปาตานี" จำนวน 1,000 คนที่อ้างว่าสนับสนุนให้มีเอกราชปาตานีอยู่แล้ว ว่าเหตุใดต้องการเอกราชให้ปาตานี โดยได้คำตอบกลับมา 1,660 เหตุผล จัดกลุ่มได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
1. เป็นเจ้าของดินแดน (ในเอกสารใช้คำว่า "ดินแดนของฉัน") ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุด ร้อยละ 42.2
2. เป็นวิธีการที่จะได้อนาคตที่ปรารถนา (ในเอกสารใช้คำว่า "มีอนาคตตามที่ต้องการ") มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 14.51
3. การเป็นพันธะทางศาสนา (ในเอกสารใช้คำว่า "ศาสนา") มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 12.76
4. เป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐไทยได้ดีที่สุด (ในเอกสารใช้คำว่า "แก้ปัญหาที่กำลังมีอยู่กับรัฐไทย") มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 24.20
5. อื่นๆ มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 6.32
นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาใน "บทคัดย่อ" ที่อ้างถึงจุดประสงค์ของงานวิจัย สรุปว่า เพื่อหาเหตุผลของคนปาตานีที่ต้องการเอกราชว่ามีอะไรบ้าง โดยได้สัมภาษณ์ชาวปาตานีที่สนับสนุนเอกราช จำนวน 1,000 คน เพราะการรู้เหตุผลมีความสำคัญ จะทำให้รู้ถึงคุณค่าที่เป็นฐานของเหตุผลเหล่านั้น เมื่อรู้ว่าคุณค่าชุดนั้นคืออะไร ก็จะศึกษาลักษณะของคุณค่านั้น เพื่อใช้หาวิธีลดความรุนแรงและนำสันติสุขมาให้คนที่อาศัยในพื้นที่ทุกคน ซึ่งมีความสำคัญในการทำความเข้าใจกับแนวทางสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะเดียวกัน เนื้อหาในงานวิจัยบางตอนที่นายรอมฎอนนำมาเปิดเผย คือ ข้อเสนอสำหรับลดความรุนแรงและสร้างสันติสุขในชีวิตของคนที่อยู่ในปาตานีทุกคน ระบุว่า รัฐไทยควรจะยุติความพยายามที่จะทำให้คนปาตานีที่มีความฝันที่จะได้เอกราช ทิ้งความฝันนี้ เพราะความพยายามดังกล่าวจะไม่สำเร็จ แต่ควรจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีขบวนการเอกราชปาตานีที่ยึดหลักไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้มีการถกกันอย่างเปิดเผยและกว้างขวางระหว่างคนปาตานีกันเองว่า การไปสู่เอกราชคือเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับปาตานีหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับ "งานวิจัยสุดพีค" ที่บรรณาธิการเว็บไซต์ดีพเซาท์วอทช์นำมาเผยแพร่ ซึ่งก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร และมีสื่อกระแสหลักบางแขนงนำมารายงานข่าวในเวลาต่อมา
แม่ทัพฉุน! สั่งทหารทำวิจัยโต้ข้อมูล?
จริงๆ แล้วความเคลื่อนไหวการทำวิจัยชิ้นนี้มีมาก่อนที่นายรอมฎอนนำมาเปิดเผย และไม่ได้รอดพ้นสายตาของฝ่ายความมั่นคง
ร่องรอยที่เป็นหลักฐานของเรื่องนี้ ก็คือท่าทีของแม่ทัพภาคที่ 4 "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ที่แสดงออกถึงความไม่สบอารมณ์อย่างชัดเจน โดย "บิ๊กเดฟ" ได้ระบายเรื่องนี้เอาไว้ระหว่างพูดคุยกับ "สื่อมวลชนส่วนกลาง" ที่เดินทางลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรมของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย.62
บางช่วงบางตอนที่ "บิ๊กเดฟ" เล่าให้นักข่าวฟังก็คือ ได้สั่งการให้ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมออกแบบสอบถามให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสอบถามความต้องการว่าต้องการรูปแบบการปกครองแบบใด ซึ่งจะสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของคนในพื้นที่ประมาณ 2 ล้านคน
และเมื่อผลออกมา จะนำไปพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งยูเอ็น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนองค์กรนานาชาติต่างๆ ที่อ้างว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน เพื่อให้ทราบความเห็นที่แท้จริง โดยผลสำรวจทั้งหมดจะเสร็จสิ้นเดือนในช่วงปลาย มิ.ย.นี้ และจะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย จากนั้นจะส่งผ่านข้อมูลไปยังองค์กรระหว่างประเทศทุกองค์กร โดยเฉพาะยูเอ็น นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ตัวแทนกลุ่มพูโล บีอาร์เอ็น และกลุ่มอื่นๆด้วย
จากคำบอกเล่าของ "บิ๊กเดฟ" ที่พูดคุยกับนักข่าว แสดงให้เห็นว่าแม่ทัพภาคที่ 4 รับรู้ความเคลื่อนไหวของการทำงานวิจัยชิ้นนี้มาตลอด และตีความว่างานวิจัยอาจเป็นการรับรองว่ามีประชากรจำนวนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการแยกดินแดน และต้องการเอกราช ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่เคยทำความตกลงกับผู้เห็นต่างจากรัฐว่า ทุกข้อเรียกร้องต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย
และท่าทีของ "บิ๊กเดฟ" นี้เองที่นำไปสู่การนำเสนอข่าวของสื่อส่วนกลางบางแขนง มีการพาดหัวข่าวแบบตรงไปตรงมาทำนองว่า "เอาให้ชัด! ทหารทำโพลล์ชายแดนใต้แยกหรืออยู่?"
จะว่าไปสถานการณ์ในช่วงนั้น สาธารณชนและผู้คนในสังคมทั่วๆ ไปน่าจะยังไม่ได้รับรู้ถึงการทำวิจัยเรื่องเอกราชปาตานี ทำให้การนำเสนอข่าวของสื่อบางแขนงที่อ้างคำพูดของ "บิ๊กเดฟ" ก่อกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางตามมา
กระทั่งวันรุ่งขึ้นโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ต้องออกมาสยบข่าว โดยยืนยันว่าไม่มีการทำสำรวจสอบถามความเห็นประชาชนเรื่องรูปแบบการปกครอง
"การสำรวจความเห็นของประชาชนนั้นทำจริงๆ แต่ไม่ได้มีการสอบถามเรื่องรูปแบบการปกครอง มีคำถามเพียง 5 ประเด็น คือ ปัญหายาเสพติด การต่อต้านและปฏิเสธความรุนแรง การต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธี การยอมรับการอยู่ร่วมกันตามแบบพหุวัฒนธรรม และการร่วมกันพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ทั้งหมดก็เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยจะรวบรวมความต้องการจากประชาชนเสนอต่อรัฐบาล และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย" พ.อ.ปราโมทย์ ระบุตอนหนึ่ง
ประสานเสียงกับ พล.ต.ธิรา แดหวา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่บอกว่า คำถาม 5 ข้อไม่มีเรื่องรูปแบบการปกครอง หรือประเด็นว่าอยากจะแยกดินแดนหรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะตั้งคำถามแบบนั้น เนื่องจากประชาชนทุกคนเป็นคนไทย มีสิทธิ์อยู่อาศัยและทำมาหากินบนผืนแผ่นดินไทย
เปิดแบบสำรวจของทหาร กับคำถามเรื่องแยกดินแดน
"ทีมข่าวอิศรา" ได้รับเอกสารที่ยืนยันได้ว่ามีการเตรียมทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง และมีคำถามเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองจริงๆ โดยเอกสารสำรวจความคิดเห็นประชาชนนี้ มีคำถามมากมายหลายสิบข้อ แหล่งข่าวบางรายที่ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ระบุว่า มีคำถามมากถึง 100 ข้อ
โดยในข้อที่ 15 ถามว่า การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เหมาะสมคือ แบ่งแยกดินแดนปกครองตนเองเป็น "รัฐเอกราชปาตานี"
ขณะที่ข้อ 16 ถามว่า การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เหมาะสมคือ การปกครองระบอบประชาธิปไตย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
นอกจากนั้นยังมีคำถามอีกหลายข้อที่ถามถึงขบวนการบีอาร์เอ็น ปัญหายาเสพติด และการสร้างสังคมสันติสุข
วิธีตอบแบบสอบถาม เป็นการให้คะแนน โดยกำหนดน้ำหนัก 5 คะแนน คือเห็นด้วยมากที่สุด ลดหลั่นกันลงไปจนถึง 1 คะแนน คือไม่เห็นด้วยมากที่สุด
อย่างไรก็ดี มีแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการทำแบบสำรวจชุดนี้ ยืนยันว่าแบบสำรวจยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ เพราะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งระงับเสียก่อน และมีการแก้แบบสำรวจใหม่ เป็นการสอบถามความเห็นประชาชนเพียง 5 ประเด็นตามที่โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. และผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีฯ ชี้แจง แต่ความน่าเชื่อถือของผลสำรวจนี้ ก็คือจะมีการสอบถามความเห็นประชาชนในวงกว้างที่สุด โดยใช้กำลังพลของทหารลงพื้นที่นำแบบสอบถามไปให้ประชาชนตอบโดยตรงทุกตำบลและอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา
คำถามย้อนกลับถึงงานวิจัยเอกราชปาตานี
ความน่าสนใจจากบริบทความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคงที่ระงับแบบสำรวจที่มีคำถามเรื่องรูปแบบการปกครองก็คือ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งรวมไปถึงประชาคมต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ที่ทราบข่าวการสำรวจนี้จากการให้สัมภาษณ์ของ "บิ๊กเดฟ" พากันตระหนักถึงความอ่อนไหวของการตั้งคำถามในลักษณะของการ "แบ่งแยกประชาชน" ซึ่งนอกจากจะสุ่มเสี่ยงเพิ่มความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนในพื้นที่ให้ร้าวลึกหนักขึ้นแล้ว ยังส่อว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดต่อความมั่นคงของรัฐด้วย
เมื่อมีความกังวลถึงความอ่อนไหวจากการทำแบบสอบถามของฝ่ายความมั่นคงในประเด็นนี้ จึงมีการตั้งคำถามถึง "งานวิจัยสุดพีค" ที่สอบถามความเห็นของคนที่อ้างว่าสนับสนุนเอกราชปาตานี ที่มี รศ.ดร.มารค ตามไท เป็นหัวหน้าทีมวิจัยด้วยเช่นกัน
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ต้นปี 62 มีความเคลื่อนไหวการจัดทำหนังสือ The Freedom to Decide Our Future: Patani People Call for a Peaceful Settlement หรือ "อิสรภาพในการตัดสินอนาคตตนเอง: คนปาตานีเรียกร้องข้อตกลงสันติภาพ" ซึ่งจัดทำโดยองค์กร The Patani ร่วมกับองค์กรที่ศึกษาด้านสันติภาพและความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชาติตะวันตก มีเนื้อหาถ่ายทอดความคิดเห็น ความรู้สึก และความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อปัญหาและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยมีการเก็บข้อมูลการสัมภาษณ์ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรุงเทพฯ และประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำเนื้อหาที่ได้มาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม และแขวนไฟล์หนังสือไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรผู้สนับสนุนในต่างประเทศ
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีบุคคลจากเครือข่ายองค์กร PerMus และ The Patani เดินสายแจกจ่ายหนังสือเล่มนี้ให้กับคณะบุคคลและองค์กรในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งทั้งสององค์กรนี้จัดกลุ่มตนเองเป็น "ภาคประชาสังคม" ที่เคลื่อนไหวในประเด็น "สิทธิในการกำหนดใจตนเอง" หรือ Rights to Self Determination ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างเปิดเผยมานานหลายปี
และเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ ก็มีการพูดถึง "สิทธิในการกำหนดใจตนเอง" ด้วย โดยอยู่ในส่วนของการสรุปข้อค้นพบจากการสัมภาษณ์ประชาชน ซึ่งมี 4 ประเด็นสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ ประชาชนต้องการสิทธิในการกำหนดใจตนเอง และประชาชนสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราช เพราะเชื่อว่ามีความจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง และมีการอ้างอิงถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย
ฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสังเกตว่า "งานวิจัยสุดพีค" ที่บรรณาธิการเว็บไซต์ดีพเซาท์วอทช์นำมาเปิดเผย อาจเชื่อมโยงหรือต่อยอดจากการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำหนังสือเล่มนี้หรือไม่ เพราะมีการระบุว่าผู้ช่วยวิจัยเป็นคนจาก PerMus และ The Patani ขณะที่มีข้อมูลจากบางแหล่งระบุว่า รศ.ดร.มารค เป็นที่ปรึกษาของ The Patani ด้วย
ทั้งนี้ หากงานวิจัยเป็นการใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน หรือต่อยอดมาจากหนังสือที่ The Patani เคยทำ คำถามก็คือใช้กระบวนการอะไรในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างมาสัมภาษณ์ ใช้มาตรวัดอะไรในการชี้ว่าคนคนนั้นต้องการเอกราช นิยามคำว่าเอกราชหมายถึงอะไร ผู้ตอบแบบสอบถามหรือผู้ให้สัมภาษณ์เข้าใจนิยามตรงกันกับผู้ถามหรือไม่ และกลุ่มที่ให้สัมภาษณ์มีความเป็น "ตัวแทน" ของประชากรที่อ้างว่าเป็นคนปาตานีหรือไม่ อย่างไร
ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วย ระบุว่า ในเวทีเสวนาเปิดตัวและแนะนำหนังสือเล่มนี้ มีนักวิชาการที่เข้าร่วมเวทีหลายคนตั้งข้อสังเกตด้วยเช่นกันว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่งานวิจัย และการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์อาจใช้ความรู้สึกมากเกินไป รวมทั้งการเลือกกลุ่มตัวอย่างมาสัมภาษณ์ก็อาจเลือกจากกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันกับกลุ่มผู้จัดทำหนังสือ จึงมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ และสถานะความเป็นตัวแทนของข้อมูลว่าสามารถอ้างอิงถึงความคิดของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่
ขณะที่ประเด็นเรื่อง "สิทธิในการกำหนดใจตนเอง" หรือ Rights to Self Determination ซึ่งทั้ง PerMus และ The Patani เคลื่อนไหวรณรงค์อย่างเปิดเผยนั้น ก็มีเงื่อนแง่หลายประการซึ่งผู้ที่ไม่เคยศึกษาอย่างถ่องแท้อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า สิทธินี้ถูกระบุไว้ในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 ลงวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1960 ในบริบทของ "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยใช้วิธีการทำประชามติ ในห้วงเวลาที่มีกระแสการเรียกร้องอิสรภาพและเอกราชของดินแดนอาณานิคมต่างๆ หลังหมดยุคล่าอาณานิคมแล้ว แต่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคน เช่น ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ก็เคยตั้งคำถามว่า สถานะของ "รัฐปัตตานี" เคยเป็นรัฐอาณานิคมของไทยตามความหมายของรัฐสมัยใหม่จริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว "ไม่เคยเป็น" ยิ่งไปกว่านั้นการทำประชามติเพื่อใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเอง ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าอาณานิคมด้วย ซี่งหากจะนำกรณีนี้มาใช้กับไทย ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลไทยจะยินยอม
คำถามของผู้ที่ตั้งข้อสังเกตกระบวนการเก็บข้อมูลวิจัยและจัดทำหนังสือเล่มที่ว่านี้ก็คือ ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้รับทราบข้อมูลในด้านเหล่านี้ด้วยหรือไม่
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ยังประเมินสถานการณ์ด้วยว่า หลังจากนี้หากมีการเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐรอบใหม่ อาจมีกลุ่มผู้เห็นต่างฯบางกลุ่มฉกฉวยโอกาสนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปใช้อ้างอิงบนโต๊ะพูดคุย ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากและถกเถียงกันหนักขึ้น เพราะในสายตาของฝ่ายความมั่นคงไทยแล้ว ข้อมูลชุดนี้ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้เลย
ความสำคัญของกลุ่มตัวอย่างและการตั้งคำถาม
กระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลวิจัย โดยเฉพาะจากการเลือกบุคคลมาสัมภาษณ์ รวมถึงการตั้งคำถาม ล้วนมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำวิจัยเชิงสำรวจ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความอ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ดร.ถวิลวดี บุรีกุล มือทำวิจัยเชิงสำรวจที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อธิบายว่า การสุ่มตัวอย่างที่ดี ทุกคนต้องมีโอกาสถูกเลือกอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาจึงจะใช้อธิบายคนทั้งหมดได้
"สมมติเราเลือกสุ่มตัวอย่างหมู่บ้านละ 5 คน โดยใช้ถนนเป็นจุดเริ่มต้น แล้วกำหนดให้เข้าไปสอบถามบ้านทุกๆ 5 หลังริมถนน ก็ต้องทำแบบนี้เหมือนๆ กันทุกหมู่บ้าน เมื่อได้บ้านที่จะเข้าไปสัมภาษณ์หรือทำแบบสอบถามแล้ว เปิดประตูเข้าไปเจอใคร ไม่ใช่ถามได้เลย แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย เช่น ถามผู้หญิงสลับกับผู้ชาย บ้านแรกเป็นผู้หญิงไปแล้ว ไปถามบ้านต่อไปไม่เจอผู้ชาย มีแต่ผู้หญิง ก็ต้องข้ามไปอีก 5 หลัง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความน่าจะเป็น แบบนี้เป็นต้น" ดร.ถวิลวดียกตัวอย่าง
ส่วนเรื่องการตั้งคำถาม นักวิจัยชื่อดัง เน้นว่า คำถามที่ใช้ถามต้องมีกระบวนการตรวจสอบความเชื่อมั่นก่อน ไม่ใช่ถามแบบอคติ หรือเอาคำตอบที่อยากจะได้มาตั้งเป็นคำถาม หรือแม้แต่เอาคำตอบตามใจผู้ศึกษา
"ที่สำคัญคือจริยธรรมของการวิจัยต้องมี ผู้ศึกษาต้องเคารพผู้ตอบ ไม่เลือกคำถามที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คำถามที่ล่อแหลมก็ไม่ควรใช้ โดยเฉพาะในปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนสูง"
"อย่างสมมติเราอยากจะวัดความเป็นประชาธิปไตยของคนไทย ไม่ใช่ไปถามว่า คุณชอบประชาธิปไตยหรือเปล่า เพราะถามตรงๆ แบบนี้ อาจไม่ได้รับคำตอบที่แท้จริง แต่เราสามารถตั้งคำถามอ้อมๆ 2-3 คำถามเพื่ออธิบายสิ่งที่เราอยากรู้ได้ เช่น เวลาบ้านเมืองมีปัญหาควรหาทางออกแบบไหน 1.ใช้กระบวนการรัฐสภาในการจัดการปัญหา 2.ใช้ผู้นำที่เข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ โดยไม่ต้องรอสภา หรือ 3.ยอมให้กองทัพเข้ามาจัดการปัญหาได้ จากนั้นก็นำคำตอบมาวิเคราะห์อีกที ก็จะทราบว่าความเป็นประชาธิปไตยของคนไทยโน้มเอียงไปทางไหน แต่ถ้าไปตั้งคำถามเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้วิจัย ก็จะทำให้ชาวบ้านหรือประชาชนเป็นเพียงวัสดุของการวิจัย ไมได้นำมาสู่การได้ข้อมูลที่แก้ปัญหาได้จริง" ดร.ถวิลวดี กล่าว
ท่าทีและความรู้สึกของคนที่ไม่ถูกวิจัย
หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับประเด็นการทำแบบสำรวจของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. รวมไปถึง "งานวิจัยสุดพีค" ในทัศนะของบรรณาธิการเว็บไซต์ดีพเซาท์วอทช์ ก็มีอารมณ์ความรู้สึกจากหลายฝ่ายที่รับทราบข่าวสารแต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
อย่างชาวบ้านไทยพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ เรียกร้องให้ทีมวิจัยของ รศ.ดร.มารค มาถามความเห็นของพวกตนบ้าง จะได้นำข้อมูลที่ได้มาช่วยปกป้องพวกตนให้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มที่นิยมความรุนแรง
ขณะที่ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นหลายคนซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนในพื้นที่ บอกว่า มองไม่เห็นประโยชน์ของการทำวิจัยลักษณะนี้ เพราะคนกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ก็จะถามว่าทำไมไม่มาสัมภาษณ์หรือเก็บข้อมูลจากพวกตนบ้าง เหมือนอย่างที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามจะทำแบบสำรวจเพื่อนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร นอกจากการนำข้อมูลมาบลัฟกัน ที่สำคัญข้อมูลลักษณะนี้ไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนความคิดของคนในพื้นที่ทั้งหมดได้
ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายราย มองว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ได้นำมาสู่ทางออกของพื้นที่ เพราะกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ตั้งต้นตรงที่ข้อเรียกร้องต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ขณะที่ผู้นำประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเอง ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกของกระบวนการพูดคุย ก็ยังเคยให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า การเรียกร้องเอกราชไม่มีทางเป็นไปได้ ฉะนั้้นจึงควรแสวงหาจุดร่วมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขจะดีกว่า
ด้านนักวิชาการที่เฝ้าสังเกตการณ์ปัญหาภาคใต้มาตลอด บอกว่า การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการพูดคุย หรือผ่านกลไกอื่นๆ ต้องยืนอยู่บนความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงว่าต้องการอะไร การเก็บข้อมูลควรทำจาก "คนกลาง" ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา เพื่อลดอคติ และสังเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างแท้จริง
ที่ผ่านมามีงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าหลายชิ้น โดยเฉพาะจากนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข หรือ 4ส. ที่มีคนหลากหลายสาขาอาชีพจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปร่วมเรียนและอบรมด้วยเป็นจำนวนมาก มีการทำเวที "วงปิด" พูดคุยกับคนทุกอาชีพ ทุกศาสนาในพื้นที่ และพบว่าสิ่งที่ประชาชนอยากได้ไม่ใช่การแยกดินแดน แต่ต้องการการกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งในท้องถิ่นทุกระดับที่มีการวางกติกาให้ได้คนดี มีความรู้ มีความสามารถมาดูแลประชาชน เช่น มีสภาซูรอระดับท้องถิ่นมากรองคุณสมบัติผู้สมัครชั้นหนึ่งก่อน หรือกำหนดคุณสมบัติให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจบปริญญาตรี เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ระบบเครือญาติมายึดกุมการบริหารท้องถิ่นเหมือนที่เป็นอยู่ตลอดมา
ความคิด ความเห็น และความต้องการเหล่านี้ น่าจะมีความสำคัญและสมควรรับฟังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความคิด ความเห็น และความต้องการของคนที่อ้างว่าอยากได้เอกราชด้วยเช่นกัน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 3 และ 4 แบบสอบถามของฝ่ายความมั่นคงที่ถูกสั่งระงับ
2 พล.ต.ธิรา แดหวา