การประกาศประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ไปลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์นั้น เรียกกันสั้นๆ ว่า "2 แชะอัตลักษณ์"
คำว่า "2 แชะ" สื่อความหมายถึงการกดชัตเตอร์ถ่ายรูปแค่ 2 ครั้ง ก็เป็นอันจบสิ้นกระบวนการลงทะเบียนซิมการ์ดสำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ก็มีหลายคน หลายกลุ่ม ออกมาเคลื่อนไหวโดยอ้างเหตุผลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและข้อมูลส่วนบุคคล ถึงขั้นไปรณรงค์ใน www.change.org ทว่า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ออกมาปฏิเสธกระแสรณรงค์นี้อย่างสิ้นเชิง และเสนอข้อมูลตอบโต้แบบตรงกันข้าม 180 องศา
พ.อ.ปราโมทย์ อธิบายว่า ประกาศ กสทช.ในเรื่องนี้ออกมาตั้่งแต่ปี 60 รณรงค์กันทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครือข่ายมือถือแทบทุกค่ายมีการทำแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสถานะซิมการ์ดด้วยว่า บัตรประชาชนของผู้ใช้บริการอยู่ขณะนี้ครอบครองซิมการ์ดอยู่กี่ใบกันแน่ มีใครลอบนำบัตรประชาชนของเราไปซื้อซิมหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการประกอบอาชญากรรมทางการเงิน โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.อ.ปราโมทย์ บอกว่า ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มขึ้นกว่าที่ กสทช.ขอความร่วมมือ เพียงแค่กำหนดเวลาให้ดำเนินการเท่านั้น สาเหตุที่ต้องเร่งก็เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าคนร้ายและผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้บัตรประชาชนของบุคคลอื่นสั่งซื้อซิมการ์ด หรือซื้อซิมจากนอกพื้นที่ เช่น จากประเทศเพื่อนบ้าน มาใช้เป็นตัวจุดระเบิด
จากช่องโหว่ที่ผ่านมาทำให้ยุ่งยากในการขยายผลจับกุมคนร้าย ฉะนั้นการลงทะเบียนซิมใหม่ และเพิ่มการถ่ายภาพเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ให้ได้ว่าตรงกันกับบัตรประชาชนจริงหรือไม่ จะช่วยปิดช่องโหว่ไม่ให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงนำบัตรประชาชนของคนอื่นไปซื้อซิมการ์ดมาก่อเหตุได้
"ที่ผ่านมา เหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือก ที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เมื่อปลายปีที่แล้ว คนร้ายก็ใช้บัตรประชาชนของผู้หญิงคนหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้ไปสั่งซื้อซิมการ์ดมาจำนวนมาก โดยส่งผ่านเคอร์รี่ และนำไปใช้ก่อเหตุ นี่คือช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นการรณรงค์เรื่องนี้จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิ์ แต่เป็นการคุ้มครองสุจริตชน และไม่ขัดต่อกฎหมาย ขอย้ำว่าระบบนี้ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ และเรื่องนี้ยังคงเป็นสิทธิส่วนบุคคล หากใครไม่จดทะเบียน หน่วยงานรัฐก็ไม่บังคับ เพียงแต่จะไม่สามารถใช้ซิมการ์ดนั้้นในพื้นที่นี้ได้เท่านั้น" โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุ
ในประเด็นข้อกฎหมาย พ.อ.ปราโมทย์ ย้ำว่า การดำเนินมาตรการนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการควบคุมเพื่อดูแลความปลอดภัยของคนส่วนใหญ่และสุจริตชน ที่สำคัญการประกาศมาตรการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถกระทำได้อยู่แล้วโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อหยุดยั้งการกระทำที่นำมาสู่สถานการณ์ฉุกเฉิน
และว่า "มาตรการนี้เป็นการคุ้มครองสิทธิและปกป้องชีวิตสุจริตชน แต่ไปจำกัดสิทธิอาชญากร ผู้ก่อเหตุรุนแรง และแนวร่วม"
------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
รุมค้านลงทะเบียนซิมการ์ดรอบใหม่ชายแดนใต้
ไม่ถึงขั้น "สแกนใบหน้า-เก็บ DNA" คนจชต.โอเคลงทะเบียนซิมการ์ด