การประกาศกรอบเวลาการลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ที่ชายแดนใต้ จริงๆ เริ่มต้นมาก่อนหน้านี้หลายวันแล้ว แต่วันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.62 เป็นวันเปิดทำการ (ไม่ใช่วันหยุดราชการ) วันแรก จึงมีประชาชนทยอยไปลงทะเบียนกันมากพอสมควร ท่ามกลางกระแสคัดค้านของกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มและพรรคการเมืองบางพรรค
จุดที่เปิดให้ลงทะเบียนซิมการ์ด เป็นสำนักงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในแต่ละจังหวัด ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา โดยพุ่งเป้าไปที่ซิมการ์ดระบบเติมเงิน และผู้ที่ต้องการซื้อซิมการ์ดใหม่
อัสสชิ สิงห์ทอง พนักงานขาย AIS สาขาปัตตานี หนึ่งในผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ชายแดนใต้ เล่าว่า ลูกค้าเริ่มทยอยมาลงทะเบียนมากขึ้น เพราะเพิ่งทราบข้อมูลจากางการ ส่วนวันเสาร์กับวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีประชาชนมากันประมาณวันละประมาณ 200 คน คาดว่าเดือนหน้าจะมีลูกค้าทยอยมามากขึ้น
"จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ กสทช.ออกประกาศมาตั้งแต่ปี 60 โดยในแต่ละครั้งของการลงทะเบียนซิม ก็จะมีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชนให้เซ็นรับรองอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ให้ถ่ายรูปเพื่อยืนยันอัตลักษณ์บุคคลเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ซิมแบบเติมเงิน และไม่เคยถูกถ่ายรูปมาก่อน ซึ่งครั้งนี้ทำเหมือนกันทุกพื้นที่ สำหรับในพื้นที่ชายแดนใต้มีการกำหนดกรอบเวลาภายในวันที่ 31 ต.ค.62 ทำให้เกิดกระแสตื่นตัว"
"สรุปก็คือการลงทะเบียนปกติที่ผ่านมา กับการลงทะเบียนแบบใหม่ที่ทางกอ.รมน.กำหนด ก็ไม่ได้ต่างอะไรกัน เพียงแค่มีการถ่ายรูปเพิ่มเท่านั้น ซึ่งโดยปกติที่ผ่านมาเราก็มีการทำอยู่แล้วสำหรับผู้ที่ซื้อซิมใหม่ จึงไม่ได้ต่างจากที่ทำอยู่เดิมสักเท่าไหร่" อัสสชิ กล่าว และว่า สำหรับผู้ใช้มือถือรายเก่า จะต้องมาลงทะเบียน ถ่ายรูปเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าใช้ซิมหมายเลขนี้อยู่จริงในปัจจุบัน
"ผมคิดว่าการลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นเรื่องดี นอกจากประโยชน์เพื่อป้องกันมิจฉาชีพและกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงนำซิมไปใช้ประกอบระเบิดแล้ว ยังทำให้เราสามารถจัดระเบียบของผู้ที่ไม่ได้ใช้ซิม หรือซื้อซิมแล้วไปหักทิ้ง แต่เครือข่ายยังจ่ายสัญญาณต่อไปด้วย"
สำหรับวิธีการลงทะเบียนอัตลักษณ์ อัสสชิ อธิบายว่า เมื่อลูกค้ามาถึง ทางผู้ให้บริการก็จะตรวจสอบว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ กับบุคคลที่มาลงทะเบียน ตรงกันหรือไม่ ใช้หมายเลขนี้มากี่ปี หรือใช้ซิมตั้งแต่ปีไหน ใช้ระบบเติมเงินหรือระบบคิดค่าบริการรายเดือน จากนั้นก็จะดำเนินการตรวจสอบและทำการลงทะเบียนพร้อมถ่ายรูป ใช้เวลาราวๆ 5 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย ส่วนการส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชนนั้น ทางสำนักงานใหญ่ส่งข้อความไปให้ลูกค้าของ AIS ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ราวๆ 300,000 ราย และทาง กอ.รมน.ก็จะส่งด้วย ก็ถือว่าน่าจะครอบคลุมพอสมควรในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน
ด้านประชาชนที่ไปลงทะเบียนซิมการ์ด สมภพ ศรีทรง ชาว อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี บอกว่า ใช้โทรศัพท์มือถือแบบคิดค่าบริการรายเดือนมานานแล้ว จึงตัดสินใจมาลงทะเบียนใหม่ ถ่ายรูป ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จ
"คิดว่าเขาให้ทำอะไรก็ทำไป ดีที่สุด เพื่อความสงบสุขของทุกฝ่าย อีกอย่างบ้านเรามีเรื่องของความไม่สงบ กลัวว่าจะมีการนำซิมไปใช้ในทางไม่ดี ฉะนั้นมาลงทะเบียนยืนยันให้ชัดก็ถือว่าดีเหมือนกัน" สมภพ กล่าว
ขณะที่ สาและ หมะมะซางอ ชาว จ.ปัตตานี บอกว่า "มาลงทะเบียนซิม แต่ชื่อผู้ใช้เป็นของลูกชาย จึงไม่สามารถลงทะเบียนแทนได้ ต้องให้ลูกชายมาลงทะเบียนเอง คิดว่า ไม่น่าเป็นปัญหาหรือภาระอะไรมาก
"เขาให้ลงทะเบียนก็ทำตาม ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องน่ากังวลอะไรด้วย" สาและ บอก
จากการสังเกตการณ์ของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า การลงทะเบียนซิมการ์ดตามประกาศของ กอ.รมน. ไม่ถึงขั้นต้องสแกนใบหน้าผ่านเครื่องสแกน (เหมือนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองบางด่าน) หรือต้องเก็บดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล แต่เป็นเพียงการถ่ายรูปใหม่ เพื่อยืนยันว่าตรงกับบัตรประชาชนของผู้ครอบครองซิมการ์ดหรือไม่ การดำเนินการคล้ายๆ จัดเก็บเป็นฐานข้อมูล หรืออัพเดทข้อมูลให้ตรงกันเท่านั้น
---------------------------------------------------------------------------------------
อ่่านประกอบ : รุมค้านลงทะเบียนซิมการ์ดรอบใหม่ชายแดนใต้