โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจงคุมตัว “นักข่าวอาสา” เพราะเป็นแอดมินเพจยุยงปลุกปั่นให้เกลียดเจ้าหน้าที่ เผยเจ้าตัวยอมรับ ร่วมมือเป็นอย่างดี ท่าทีเป็นมิตร นัดปล่อยตัว 17 ก.พ. อีกด้านนักเรียนปอเนาะควนดินได้อิสระแล้ว ไม่พบเอี่ยวบึ้มตำรวจดับใกล้แยกดอนยาง บิดายอมรับฝ่ายทหารดูแลดี แถมสื่อสารภาษามลายู
ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบังคับใช้กฎหมาย เข้าควบคุมตัว นายอับดุลอาฟิร (สงวนนามสกุล) นักข่าวอาสา สำนักสื่อ wartani ในพื้นที่บ้านท่าเรือ หมู่ 5 ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์เผยแพร่ข่าวบิดเบือน โจมตีฝ่ายความมั่นคงให้สังคมเข้าใจผิด
ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงในครั้งนี้ ถูกตั้งคำถามจากบางฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนบางแขนง โดยมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ชี้แจง และปล่อยตัวนายอับดุลอาฟิร แบบไม่มีเงื่อนไข พร้อมย้ำว่า “การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม” จึงไม่มีเหตุผลต้องจับกุมหรือควบคุมตัว โดยใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต่อมา พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้แถลงชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า การเชิญตัวนายอับดุลอาฟิร เนื่องจากมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับฐานความผิด “ยุยงปลุกปั่น” และ “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์”
โดยเมื่อวันที่ 2 ส.ค.67 นายอับดุลอาฟิร ได้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก ถึงเหตุเจ้าหน้าที่ยิงปะทะกับคนร้ายในพื้นที่บ้านคลองช้าง ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยมีเนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งลักษณะของเหตุการณ์รุนแรง และจำนวนผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้บาดเจ็บ
นอกจากนั้น เนื้อหาในการนำเสนอข้อมูลของนายอับดุลอาฟิร ยังสื่อให้เห็นถึงความพยายามในการยุยงปลุกปั่นให้ผู้อ่านหรือผู้ติดตามข้อมูลเกิดความรู้สึกแบ่งแยก และเคียดแค้นชิงชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวอย่างเช่น การเรียกเจ้าหน้าที่รัฐว่า “เจ้าหน้าที่สยาม” และเรียกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า “กองกำลังติดอาวุธ” ซึ่งหากประชาชนที่เข้าไปอ่านหรือติดตามข้อมูลและแสดงความคิดเห็น อาจทำให้เกิดความสับสน หรือเข้าใจผิดต่อเจ้าหน้าที่ และเกิดกระแสความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงาน
การกระทำดังกล่าว ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงแห่งรัฐ โดยโพสต์ของนายอับดุลอาฟิร มีผู้เข้าไปกดถูกใจ 283 ครั้ง แสดงความคิดเห็น 20 ครั้ง และแชร์ต่อ 53 ครั้ง
@@ เผย “นักข่าวอาสา” ร่วมมือ จนท. - นัดปล่อย 17 ก.พ.
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวอีกว่า การเชิญตัวนายอับดุลอาฟิร มาสอบถามข้อมูล เพื่อขอทราบเหตุผลของการกระทำที่อาจเข้าข่ายลักษณะความผิดตามที่กล่าวมา รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกรณีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในระหว่างการพูดคุยซักถาม นายอับดุลอาฟิร ได้แสดงความเป็นมิตร และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี โดยให้การยอมรับว่า เป็นแอดมินเพจที่เผยแพร่ข้อมูลตามที่กล่าวมาจริง
“ในระหว่างการเชิญตัวนายอับดุลอาฟิร เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพร่างกาย อนุญาตให้บิดา มารดา หรือญาติเข้าเยี่ยมได้ตามเวลาที่กำหนด และให้มีการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนา เมื่อเสร็จสิ้นกรรมวิธีตามขั้นตอนต่างๆ แล้ว นายอับดุลอาฟิร จะได้รับการปล่อยตัวในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.68”
@@ Suara Patani V.2 แจง “นักข่าวอาสา” ถูกคุมตัวไม่ใช่แอดมิน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.68 ทางเพจเฟซบุ๊ก “Suara Patani V.2” ซึ่งเป็นเพจที่ถูกทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เป็นมูลเหตุในการควบคุมตัวนายอับดุลอาฟิร เนื่องจากเป็นแอดมินเพจ Suara Patani V.2
ปรากฏว่าทาง Suara Patani V.2 ได้โพสต์แถลงการณ์ชี้แจงว่า การให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นความจริง เพราะนายอับดุลอาฟิร ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเพจ Suara Patani V.2
@@ จนท.ปล่อยตัวนักเรียนปอเนาะควนดิน
ด้านความคืบหน้ากรณีการควบคุมตัวนายอาดัม (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี นักเรียนปอเนาะอูลูมมุลอิสลามียะห์ หรือ “ปอเนาะควนดิน” หมู่ 4 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดตำรวจ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ปัตตานี - หาดใหญ่) บริเวณป้อม ชรบ.บ้านโคกกอดอนยาง ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 ก.พ.68 จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และมีผู้บาดเจ็บ 5 รายนั้น
ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.พ. เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงให้ข้อมูลว่า หน่วยซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้ปล่อยตัวนายอาดัมแล้ว ภายหลังจากครบกำหนดการควบคุมตัว 7 วัน เจ้าหน้าที่จึงได้ปล่อยตัว และกลับบ้านไปแล้ว
โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการซักถามทุกประเด็นที่เจ้าหน้าที่สงสัย และนายอาดัมได้ปฎิเสธหมดทุกข้อกล่าวหา แต่นายอาดัม ยอมรับแค่เรื่องเดียวคือ กรณีที่มีอุสตาซ ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้มีการชักชวนเข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน และรับฟังการบรรยายประวัติศาสตร์
@@ ไม่ได้เอี่ยวเหตุบึ้มตำรวจ แค่พบภาพเอกสารต้องสงสัยในมือถือ
ด้านนายมายิ พ่อของนายอาดัม กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เข้าไปเยี่ยมลูกชายที่ค่ายอิงคยุทธฯ และได้พบกับลูกชายอย่างใกล้ชิด โดยมีเจ้าหน้าที่ให้บริการตอบคำถามข้อสงสัยของญาติเป็นภาษาที่เข้าใจ ใช้ภาษามลายู และพูดอย่างสุภาพ ถือว่าสะดวกพอสมควร
“เจ้าหน้าที่บอกว่าอาดัม ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาวางระเบิด และไม่ได้ใส่ข้อหาอะไร แต่เหตุที่เอาตัวอาดัมไปเพื่อขยายผล กรณีเอกสารฉบับหนึ่งที่มีคนเอามาให้อาดัม และอาดัมเอามาถ่ายลงในเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเจ้าหน้าที่พบเจอขณะเข้าค้นปอเนาะ”
บิดาของนายอาดัม กล่าวอีกว่า เอกสารที่เจ้าหน้าที่พูดถึงนั้น เป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับระเบียบวินัย 12 ข้อที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสำหรับนักรบจูแว (หมายถึงนักรบที่ต่อสู้กับรัฐไทยเพื่อปลดปล่อยดินแดนปัตตานี) ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
“ผมเคยได้ยิน มีชาวบ้านเขาคุยกันเรื่องนี้ แต่ทางครอบครัวไม่รู้เรื่องนี้เลยจริงๆ” บิดาของนายอาดัม กล่าว