ฝ่ายความมั่นคงใช้หมาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” คุมตัว “นักกิจกรรม – นักข่าวอาสา” จากสื่อทางเลือกชื่อดังชายแดนใต้ พฤติกรรมเป็นแอดมินเพจเผยแพร่ภาพไลฟ์สดโจมตีรัฐ ปลุกปั่นบิดเบือนข้อเท็จจริง เผยเป็นปฏิบัติการช่วงเดียวกับ “ผู้นำฝ่ายค้าน - สส.พรรคส้ม” ลงพื้นที่หารือฝ่ายความมั่นคงถกการใช้กฎหมายพิเศษ งดดำเนินคดีนักกิจกรรม
วันอังคารที่ 11 ก.พ.68 เจ้าหน้าที่กำลังผสมจังหวัดปัตตานี เปิดปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย ติดตามบุคคลเป้าหมายตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ในพื้นที่บ้านท่าเรือ หมู่ 5 ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พบบุคคลเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ นายอับดุลอาฟิร (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี เป็นคณะทำงานกลุ่มบุหงารายาปัตตานี และยังเป็นอาสาสมัครนักข่าวของสำนักสื่อ Wartani ด้วย
จากการตรวจค้นภายในบ้านไม่พบสิ่งของต้องสงสัยหรือผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดสิ่งของเพื่อนำไปตรวจสอบ ประกอบด้วย วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ และสมุดบันทึกปกสีน้ำตาล ทั้งยังควบคุมตัวนายอับดุลอาฟิร ไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.โคกโพธิ์ และควบคุมตัวนำส่งศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อดำเนินกรรมวิธีซักถามต่อไป
@@ กล่าวหาเป็น “แอดมินเพจ” โจมตีรัฐ ปลุกปั่น บิดเบือน
เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยถึงมูลเหตุของการออกหมายเชิญตัวว่า สืบเนื่องจากนายอับดุลอาฟิร ได้เผยแพร่ภาพและไลฟ์สดผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว “PAK CU MING” รวมถึงบัญชี “Buah Diyae” และ “Suara Patani V.2” ที่นายอับดุลอาฟิร เป็นแอดมินด้วยตนเอง โดยเนื้อหาที่เผยแพร่มีลักษณะโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ, ปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและหลงเชื่อ รวมทั้งบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ
เจ้าหน้าที่รายนี้ ยอมรับว่า การควบคุมตัวนายอับดุลอาฟิร เป็นประเด็นที่อาจก่อให้เกิดกระแสตอบโต้ เนื่องจากนายอับดุลอาฟิร เป็นบุคคลที่มีบทบาทในกลุ่มภาคประชาสังคม และเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง เมื่อข่าวการจับกุมถูกเผยแพร่ออกไป เป็นไปได้สูงที่เครือข่ายภาคประชาสังคมจะออกมาเคลื่อนไหว จนอาจมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือกล่าวหาว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นความพยายามปิดกั้นเสรีภาพของนักเคลื่อนไหวทางสังคม อาจมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน พร้อมทั้งใช้ประเด็นนี้ปลุกปั่นและกระตุ้นให้เกิดกระแสต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจมีการรวมตัวกันจัดชุมนุมเชิงสัญลักษณ์หรือประท้วง
“ในเรื่องนี้ทางผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้มีการเตรียมแนวทางรับมือกับกระแสความเคลื่อนไหวที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้ว ทั้งในด้านการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และการบริหารสถานการณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ระบุ
@@ จี้แจงเหตุผลการควบคุมตัว หวั่นมีการกลั่นแกล้ง
ขณะเดียวกัน ทางเพจเฟซบุ๊กของสำนักสื่อ Wartani ได้โพสต์ข่าวดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวนายอับดุลอาฟิร ขณะกำลังอยู่ภายในบ้าน ในพื้นที่ หมู่ 5 ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ ยังไม่ทราบถึงสาเหตุในการควบคุมตัว แต่ทราบว่า นายอับดุลอาฟิร ถูกนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยผู้ใหญ่บ้านได้ติดตามไปด้วย
ข้อมูลจากสำนักสื่อ Wartani ระบุว่า นายอับดุลอาฟิร หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย ต้องดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และกำลังวางแผนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปีนี้ ทั้งยังเป็นอาสาสมัครนักข่าวให้กับสำนักสื่อ Wartani ด้วย
น.ส.อัญชนา หีมมิน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ควรแจ้งเหตุผลอย่างเหมาะสมก่อนควบคุมตัว อาทิ มีการควบคุมภายใต้กฎหมายอะไร สาเหตุการควบคุม และถ้าแค่มีคนแจ้งเบาะแสคงไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะมีการกลั่นแกล้งกันได้
@@ โป๊ะพอดี! “พรรคส้ม” พบแม่ทัพ 4 ถกปมดำเนินคดีนักกิจกรรม
ปฏิบัติการควบคุมตัวนักกิจกรรม เกิดขึ้นวันเดียวกับที่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราฎร และหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเดียวกัน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และ สส.พรรคประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางลงค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อประชุมหารือกับ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคง และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษดำเนินคดีทางการเมือง
อาทิ การดำเนินคดีกับ 9 นักกิจกรรมซึ่งแกนนำจัดกิจกรรมแต่งชุดมลายูในข้อหายุยงปลุกปั่น (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) รวมไปถึงคดีการจัดกิจกรรมประชามติจำลอง ที่ ม.อ.ปัตตานี
วันเดียวกันนี้ คณะของผู้นำฝ่ายค้าน และ สส.พรรคประชาชน ยังได้เข้าหารือประเด็นเดียวกับกับผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ด้วย
@@ กลุ่มกิจกรรมในพื้นที่ยื่นขอความเป็นธรรมล่วงหน้า
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน คือ วันจันทร์ที่ 10 ก.พ.68 นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani พร้อมพวก และทนายความจากเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ในคดีการจัดกิจกรรมประชามติจำลอง - การเสวนา RSD (Right to Self-determination) หรือ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นตัวแทนแจ้งความดำเนินคดีเอาไว้
จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดสดเกี่ยวกับคดีความ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก The Patani ที่ร้านกาแฟ Brew coffee ตรงข้ามวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ต.สะบารัง อ.เมืองปัตตานี
สำหรับคดีประชามติจำลอง แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น (พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค) เป็นผู้ฟ้องในข้อหาร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และ 210 โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
@@ แม่ทัพ 4 แฉป่วนใต้เดิน 2 ขา “สื่อปลุกระดม - ก่อเหตุรุนแรง”
ด้าน พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวภายหลังพบปะกับผู้นำฝ่ายค้าน และ สส.พรรคประชาชนว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม แต่ยังคงเผชิญกับความพยายามแบ่งแยกดินแดนจากกลุ่มที่มีความคิดสุดโต่ง และมีการจัดตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดน ชื่อ “บีอาร์เอ็น” ทำงานด้านมวลชนในการปลุกระดม บ่มเพาะ โดยใช้ชุดความคิดที่ไม่ถูกต้อง และด้านการทหารในการก่อเหตุรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนให้เกิดความหวาดกลัว
แนวทางการต่อสู้ของกลุ่มดังกล่าวจนถึงปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่ามีการใช้สื่อโซเชียลฯ เพื่อกำหนดทิศทางของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากความจริง เพื่อปลูกฝังและสร้างมวลชนใหม่
“แต่ถึงอย่างไรก็ตามภารกิจของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังคงเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมถึงความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการขับเคลื่อนงานแบบการเมืองนำและการทหารตาม เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาคืนความสงบสุขสู่พื้นที่ชายแดนภาคใต้ต่อไป”
@@ คุมตัวหนุ่มลูกจ้าง รพ.สายบุรี ถูกซัดทอดเอี่ยวบึ้มฐานกรือเซะ
วันอังคารที่ 11 ก.พ.68 เจ้าหน้าที่กำลังผสมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อติดตามบุคคลเป้าหมาย คือ นายอิสมะแอ (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดฐานปฏิบัติการหมวดเฉพาะกิจหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 9223 (ฐานกรือเซะ) ในพื้นที่บ้านกรือเซะ หมู่ 3 ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.68 ที่ผ่านมา
จากการตรวจค้นที่บ้านไม่พบตัวนายอิสมะแอ ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบทราบว่า นายอิสมะแอ ทำงานเป็นลูกจ้างที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จึงนำกำลังเข้าไปควบคุมตัว และนำตัวไปลงบันทึกประจำวัน ที่ สภ.สายบุรี พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อนำไปตรวจสอบ และควบคุมตัวตามนำส่งศูนย์ซักถามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ให้ข้อมูลว่า การควบคุมตัว นายอิสมะแอ สืบเนื่องจาก นายวันมูฮัมหมัดฮัมดี ยะหริ่ง สมาชิกกลุ่ม PULO - G5 ที่ถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 31 ม.ค.68 ให้การซัดทอดว่า นายอิสมะแอ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดฐานปฏิบัติการ มว.ฉก.นปพ.9223 (ฐานกรือเซะ) โดยทำหน้าที่สนับสนุนสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรงในกลุ่มของนายวันมูฮัมหมัดฮัมดี จึงเป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวนายอิสมะแอดังกล่าว