7 ธ.ค.67 เป็นวันครบ 1 ปี 2 เดือนของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมช็อกโลก กลุ่มฮามาสยิงจรวดและส่งกำลังโจมตีภาคพื้นดินของอิสราเอล สังหารผู้คนและจับตัวประกันมากมาย
7 ต.ค.66 กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ที่โลกต้องบันทึกไว้ เพราะเป็นการถูกโจมตีครั้งร้ายแรงที่สุดของอิสราเอลเลยก็ว่าได้ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศในดินแดนแห่งนี้ เพราะเป็นการถูกบุกโจมตีถึงในบ้าน
ผ่านมา 1 ปี 2 เดือน การโจมตีได้บานปลายกลายเป็นสงคราม โดยอิสราเอลเปิดฉากโจมตีกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ทางตอนใต้ของประเทศ จากนั้นก็เปิดศึกกับพันธมิตรหลวมๆ ของฮามาส ทั้งทางทิศใต้อย่าง “กบฏฮูตี” ของเยเมน และทางทิศเหนืออย่าง “กลุ่มฮิซบอลเลาะห์” ในเลบานอน นอกจากนั้นยังเปิดศึกโดยตรงกับอิหร่าน มีการโจมตีเข้าใส่กันหลายครั้ง
ความน่าสนใจของสถานการณ์ก็คือ อิสราเอลเปิดศึกรอบบ้าน พร้อมๆ กับในบ้านที่ก็ยังคุกรุ่น เพราะร่องรอยความสูญเสียจากโศกนาฏกรรมสำคัญไม่ได้ถูกลบเลือนไป แต่ยังคงไว้เหมือนเพื่อเตือนความทรงจำให้คนอิสราเอล หรือ “ชาวยิว” พร้อมใจกันสู้
“ผู้สื่อข่าวพิเศษจากประเทศไทย” เดินทางไปสำรวจสถานการณ์ถึงประเทศอิสราเอล และลงพื้นที่หลายเมืองใหญ่ ทั้งเทลอาวีฟ, เยรูซาเลม และไฮฟา ปรากฏว่าทุกพื้นที่ยังคงมีการไว้อาลัยผู้เสียชีวิต และมีป้ายเรียกร้องให้นำตัวประกันที่ถูกจับไป กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว
ป้ายที่เป็นเหมือนแคมเปญเหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่ สนามบินนานาชาติ เบน กูเรียน กรุงเทลอาวีฟ, ตามถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง กำแพง ต้นไม้ รวมไปถึงสถานที่ราชการ และสถานศึกษา
โดยส่วนใหญ่เป็นภาพตัวประกัน และข้อความว่า Bring Them Home หรือ “พาพวกเขากลับบ้าน”
เช่นเดียวกับ “คิบบุตส์ เบ-รี่” ซึ่งเป็นนิคมการเกษตรทางตอนใต้ ติดกับฉนวนกาซา ห่างจากพรมแดนไม่ถึง 5 กิโลเมตร คิบบุตส์แห่งนี้ ถูกกลุ่มฮามาสบุกโจมตี มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 130 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันจำนวนมาก
สภาพที่คิบบุตส์หลังผ่าน 1 ปี 2 เดือน ปรากฏว่าทุกอย่างยังอยู่คงเดิม เหมือนเพิ่งถูกโจมตีเพียงข้ามวัน รถเด็กเล่นยังคงจอดอยู่ ทำให้รู้ว่ามีเด็กถูกทำร้าย, บ้านทุกหลังถูกเผา ถูกระเบิด ก็ยังมองเห็นร่องรอยแจ่มชัด, หน้าบ้านมีชื่อและภาพของคนในบ้านที่เสียชีวิต และถูกจับเป็นตัวประกัน, ห้องนิรภัย หรือที่เรียกว่า “เซฟรูม” ถูกปล่อยทิ้งร้าง หลายห้องกลายเป็นซากปรักหักพัง
เพราะแม้จะมี “เซฟรูม” แต่ก็ช่วยเซฟชีวิตคนในบ้านไม่ได้ เนื่องจากฮามาสรู้ดีว่ามีห้องนิรภัยในบ้านสำหรับหลบระเบิด หรือจรวดมิสไซล์ สามารถเข้าไปซ่อนตัวเพื่อความปลอดภัยในเวลาสั้นๆ แต่นักรบฮามาสบุกเข้ามาประชิดถึงตัว ไม่ได้มีแค่การโจมตีทางอากาศ ทำให้ “เซฟรูม” กลายเป็น “แดนเจอร์รูม” หรือ “ห้องอันตราย” แทน
ในจำนวนบ้านที่ถูกบุกทำลายและสังหาร หรือจับตัวประกัน ทางการอิสราเอลระบุว่ามีบ้านของนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ และคลินิกประจำนิคมเกษตร ถูกโจมตีและปลิดชีพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย
ส่วนสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ต “โนวา ไซต์” หรือ ซูเปอร์โนวา เฟสติวัล ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักกับคิบบุตส์ “เบ-รี่” กลุ่มฮามาสบุกโจมตีระหว่างที่มีการแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ผู้คนกำลังดื่มกิน เต้นรำ เฉลิมฉลองกัน ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม มีผู้เสียชีวิตราวๆ 300 คน และสูญหายเป็นจำนวนมาก
จุดแสดงคอนเสิร์ต “โนวา ไซต์” ถูกปรับพื้นที่เป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ร้าย ลานแสดงคอนเสิร์ต เต็มไปด้วยภาพไว้อาลัยผู้เสียชีวิตเต็มลานกว้าง เป็นที่น่าสลดหดหู่ โดยจุดนี้ยังได้ยินเสียงระเบิดจากฝั่งฉนวนกาซา ดังเป็นระยะ
เช่นเดียวกับที่ “สุสานรถ ทะคูม่า” ซึ่งมีการนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตลอดจนรถพยาบาลที่ถูกกลุ่มฮามาสเผาทำลาย และฆ่าคนในรถ หรือจับไปเป็นตัวประกันมากองรวมกันไว้ เพื่อเป็นดั่งอนุสรณ์ความโหดร้ายของกลุ่มฮามาส
รถจำนวนมากนับร้อยๆ คันที่ถูกเผาทำลาย มีรถที่ติดธง คือ รถพยาบาล โดยทางอิสราเอลเหมือนต้องการตอกย้ำว่า แม้แต่รถพยาบาลที่ต้องงดเว้นการโจมตีในสงคราม แต่กลุ่มฮามาสก็ไม่เว้น
ด้วยเหตุนี้ คนอิสราเอลส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงกลุ่มฮามาส พวกเขาจะเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” อย่างไม่ลังเล
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกพื้นที่ที่กล่าวมา เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่ยังคงไปเยี่ยมเยือน และไว้อาลัย บางส่วนเดินทางไปกันเอง ขณะที่บางส่วนเป็นกิจกรรมของทางการอิสราเอลที่เชิญบุคคลจากชาติอื่นๆ ไปสัมผัสสถานที่จริง เข้าใจว่าเพื่อยืนยันความชอบธรรมในการทำสงครามปกป้องตนเองของอิสราเอลในปัจจุบัน
@@ สงครามยังไม่จบ ระวังนับศพไม่ไหว!
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในประเทศไทยบอกว่า สิ่งที่อิสราเอลดำเนินการ ถือได้ว่าเป็น “ปฏิบัติการทางจิตวิทยา” หรือ “ไอโอ” รูปแบบหนึ่ง เพื่อโจมตีคู่ต่อสู้ และสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการแก้แค้นเอาคืน ถือเป็นส่วนหนึ่งของสงครามที่ยังไม่จบสิ้นหลังวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองไม่ต่างจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง นั่นก็คือ ขณะนี้สงครามยังไม่จบ โดยเฉพาะสงครามทางกายภาพ เพราะปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซาที่คาดว่าอิสราเอลต้องการกวาดล้างชาวปาเลสไตน์ให้หมดไป และกดดันให้ลงไปอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาด้านที่ติดกับอียิปต์ทั้งหมด
ขณะที่กลุ่มฮามาสก็ยังไม่ได้ยอมแพ้ ยังต่อสู้กันอยู่ การพูดคุยเจรจาเพื่อหยุดยิงก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง
อาจารย์ศราวุฒิ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน คือ วิกฤติมนุษยธรรมที่ร้ายแรง เพราะทางตอนเหนือของกาซ่าถูกปิดล้อมมานานมากแล้ว คนปาเลสไตน์อยู่ในนั้นมากถึง 1-2 แสนคน ทั้งหมดไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านอาหารและยารักษาโรค อะไรต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้าไปได้ อิสราเอลใช้วิธีการไม่ให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเข้าไปได้ ประชาคมโลกก็ทราบดี แต่ไม่มีใครทำอะไรได้เลย
@@ สงครามไม่หายไป... กลุ่มใหม่กำลังก่อตัว?
อาจารย์ศราวุฒิ ประเมินว่า จนถึงขณะนี้ยังมองไม่เห็นหนทางของสันติภาพ แม้ในอนาคตกลุ่มฮามาสอาจสุญหายไป แต่ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจะยังมีอยู่ เพราะพวกเขาถูกยึดครอง และจะเกิดกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา และในอนาคตอาจจะเป็นกลุ่มที่ยึดแนวทางรุนแรงกว่าเดิม
@@ มองไม่เห็นหนทางสันติภาพ...
“ตอนนี้บอกตามตรงว่า ไม่เห็นหนทางสันติภาพ ก่อนหน้านี้เราก็เห็นกระบวนการเจรจาสันติภาพยังมีอยู่ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ก็มีการพูดคุยกันที่จะนำไปสู่การตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมา มีการกำหนดดินแดนเป็น กาซา, เวสต์แบงค์, เยรูสาเล็ม จะเป็นเขตปาเลสไตน์ในอนาคต ทุกคนก็มีความหวังว่าการเจรจาจะสำเร็จ”
“แต่นับตั้งแต่โลกเข้าสู่ทศวรรษที่ 21 กระบวนการสันติภาพตรงนี้มันไม่มี มันล้มเหลว แล้วมันไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นได้ คนปาเลสไตน์ก็ไม่มีความหวังต่อการเจรจาสันติภาพ ยิ่งตอนหลังอิสราเอลรุกคืบพยายามจะยึดครองดินแดนหลายส่วน เข้าไปตั้งนิคมชาวยิวในเวสต์แบงค์เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้มีการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวยิว ประมาณ 7 แสน กินดินแดนเยอะมากในเวสต์แบงค์ แล้วความขัดแย้งจะจบลงได้อย่างไร”