จากกรณีที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะเดินทางลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 6 ธ.ค.นั้น
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ยังไม่ปรากฏกำหนดการของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด มีเพียงแต่กำหนดการของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ลงมาในพื้นที่ จ.ยะลา
แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ได้ลงมาในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว แต่ยังมีเสียงของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่อยากจะสะท้อนไปยังนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น
นางสาวรอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้หลายพื้นที่น้ำลดแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ถนนถูกตัดขาด ชาวบ้านยังเดือดร้อน อยากให้มีการดูแลชาวบ้านเอายา เอาอาหาร น้ำไปให้พวกเขา หลายครอบครัวบ้านพังก็อยากให้ช่วยสร้างและซ่อมแซ่มบ้านให้เขา อยากให้ช่วยทันที อย่ารออะไรอีกเลย
“ส่วนมาตราการเยียวยาที่มีออกมาตอนนี้แค่ประเด็นของน้ำท่วมบ้าน แต่ส่วนอื่นๆ ยังไม่ชัด เมื่อไปถามส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ก็ตอบไม่ได้ ทั้งเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ พืชเกษตร น้ำท่วมเข้าที่ฝึกอาชีพ แม้จะที่ทำกันเล็กๆ แต่มันเสียหายจนชายบ้านต้องนับหนึ่งใหม่ อยากให้นายกรัฐมนตรี มากำชับและออกนโยบายที่ชัดกว่านี้และช่วยอย่างรอบด้านตามเป็นจริง เพราะชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ”
นางสาวรอกีเยาะ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญหลังจากนี้อยากให้ทุกจังหวัดมีการตั้งศูนย์บัญชาการช่วยชาวบ้านแบบทันทีรวดเร็ว เพราะน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นจนชาวบ้านเดือดร้อนมา 3 วันแล้วกว่ารัฐจะเริ่มขยับ ทั้งอ้างข้อจำกัดสารพัด แต่ทำไมจิตอาสาไม่มีงบไม่มีอุปกรณ์ชาวบ้านร้องขอก็ได้รับความช่วยเหลือทันที
“ส่วนนโยบายในภาคใต้อยากให้แก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านให้เห็นและจับต้องได้มากกว่านี้ ให้ความสำคัญต่อการพูดคุยสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง รัฐบาลชุดนี้เข้ามามาก็ถือว่านานแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ปัญหาภาคใต้อย่างจริงจัง”
ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพฯ กล่าวว่า ถ้านายกฯ มาก็ถือว่าดีกว่าไม่มา แต่อาจมีเสียงบ่นจากชาวบ้านว่า มาทำไมน้ำลดแล้ว มาผัดข้าวหรือถ่ายรูปจัดฉากไม่ต้องมา แต่ส่วนตัวคิดว่า ถ้าไม่มาจะเสียหายมากกว่า อย่างน้อยถ้ามาก็จะได้เข้าใจถึงความรู้สึกของคนภาคใต้
ดร.อับดุลฮาลิม ดินอะ ที่ปรึกษาสมาคมผู้นำและผู้บริหารสมาคมผู้นำจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่อยากบอกนายกรัฐมนตรีหากลงมาในพื้นที่ ภาคใต้พื้นที่ชายฝั่งด้านอ่าวไทย กำลังเผชิญกับฝนที่ตกหนักและน้ำท่วมครั้งรุนแรง โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 37 ปี
“ประเทศไทยสามารถนำบทเรียนความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ชายแดนใต้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้หลายวิธี โดยเริ่มจากการรับรู้และเข้าใจถึงปัญหา รวมถึงร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนได้”
ดร.อับดุลฮาลิม กล่าวอีกว่า แต่เมื่อนายกฯ ไม่มาก็เข้าใจดีว่า ท่านมีภารกิจมามาย ใจจริงอยากให้ท่านมา มาดูด้วยตนเอง จะได้แก้ปัญหาตรงจุด ถ้าท่านนายกฯไม่มา ก็ไม่เป็นไร รู้สึกเฉยๆ
ด้านนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า อยากให้เขาวางแผนเรื่องการฟื้นฟูเมือง คน ระบบสาธารณูปโภคและเศรษฐกิจให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพราะการจ่ายเงินเยียวยา 9,000 บาท มันอาจจะไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและอาจจะได้แค่การซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย ต้องสำรวจความเสียหาย เพราะมันกระทบทั้งภาคการเกษตรกร และการค้า ธุรกิจ โรงงาน SME การทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงการเยียวยาได้อย่างง่ายดาย
“การทำให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างรวดเร็วจะทำอย่างไร รัฐ ข้าราชการจะสนับสนุนอย่างไร และอยากให้รัฐทบทวนระบบการจัดการภัยพิบัติที่ไม่ตอบสนองกับรูปแบบภัยพิบัติและผลกระทบในปัจจุบันและอนาคต การทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนในการให้ความช่วยเหลือประชาชน”
นางสาวอัญชนา กล่าวอีกว่า แต่เมื่อนายกฯ ไม่มาประชาชนคงไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะไม่คาดหวังกับรัฐบาลแล้วดูจากโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่สะท้อนความรู้สึกของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล และระบบราชการต่างๆ สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึงความสัมพันธ์รัฐกับประชาชนในพื้นที่ยิ่งนับวันจะมีช่องว่างมากขึ้น
ผศ.ดร.อันวาร์ กอมะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า อยากเสนอ 3 ประเด็น คือ
1. Campaign ล่องใต้ กระตุ้นการท่องเที่ยวภาคใต้หลังน้ำท่วม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคใต้
2. เปลี่ยนกระบวนทัศน์นโยบาย โดยใช้การเมืองนำการทหาร ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการท่องเที่ยวและลงทุน เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
3. ทำระบบ flood way ในระยะยาว และสร้างระบบรับมือภัยพิบัติไว้ที่ชุมชนและ cso
“จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ของพรรคเพื่อไทย สะท้อนว่า นายกฯไม่หวังคะแนนจากภูมิภาคนี้ จะปล่อยให้พรรคประชาชน ทำงานแทนการลงพื้นที่ก็เหมือนการลงมาหาเสียงกลายๆ”