มิติใหม่ของการเยียวยาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบมานานกว่า 20 ปี และประกาศใช้กฎหมายพิเศษถึง 3 ฉบับ ก็คือการดูแลผู้ต้องหาคดีความมั่นคงมากมายที่ถูกดำเนินคดี และเคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
คนเหล่านี้เคยถูกมองแง่ลบ และถูกจับจ้องจับตาจากหน่วยงานรัฐจนขยับทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายเมื่อไม่มีงาน ไม่มีอาชีพ และมองรัฐในแง่ลบ ก็หวนกลับไปยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐ ทำให้ปัญหาความไม่สงบบานปลายไม่เลิกรา
คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.เล็งเห็นความสำคัญ จึงมีโครงการเยียวยาด้วยการสร้างอาชีพ สร้างงานให้ทำ
อย่างเช่นกรณีของ สาอุดี กามารี ประธานกลุ่มศูนย์การเรียนรู้เกษตรชุมชน หรือ “สวนเกษตรสันติสุข” ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งได้รวมกลุ่มเยาวชนประมาณ 30 คนที่ต้องคดีความมั่นคงในพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนของ ศอ.บต. เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้และสร้างอาชีพเสริมให้กับตนเองจากการเลี้ยง “ผึ้งชันโรง” ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดมาเลเซียและในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยเอง
“ชันโรง” เป็นชื่อเรียกประจำถิ่นของ “ผึ้งจิ๋ว” ซึ่งเป็นแมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ จัดอยู่ในจำพวกผึ้ง แต่ไม่มี “เหล็กใน” เหมือนผึ้ง โดย “ชันโรง” ให้น้ำผึ้งเหมือนกับผึ้ง แต่มีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วๆ ไป เนื่องจากเชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า เพราะรังของชันโรงหายาก และมีปริมาณน้ำผึ้งน้อย
ที่ผ่านมาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเลี้ยงผึ้งชันโรงอยู่กระจัดกระจาย มีตลาดส่งออกหลักไปยังมาเลเซีย คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาทต่อปี จึงมีช่องทางขยายตลาดได้มาก และ ศอ.บต.ก็เล็งเห็นโอกาสในเรื่องนี้ จึงสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนในคดีความมั่นคงได้เลี้ยง “ผึ้งชันโรง”
สาอุดี เล่าว่า แม้กระบวนการยังอยู่ระหว่างการขยายพันธุ์ แต่ในอนาคตจะสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำแน่นอน โดยตนและเพื่อนๆ ตั้งใจจะนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่เดือดร้อนกว่าพวกตนด้วย
“ปัจจุบันกลุ่มเกษตรสันติสุขเรามีสมาชิกทั้งหมด 30 กว่าคน นั่นหมายถึงพวกเราทุกคนต้องผสมพันธุ์ผึ้งชันโรงให้ได้ตามจำนวนคน รวมทั้งยังสามารถให้เด็กนักเรียนในพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ได้อีก เพราะในแปลงเกษตรสันติสุขยังทำเป็นเกษตรโคกหนองนาที่สามารถเปิดให้เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน เปิดรับทั้งนักเรียนและผู้ใหญ่ในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนในพื้นที่สามารถมีรายได้จากอาชีพเสริม ลดต้นทุน และเริ่มรายรับให้ครอบครัว”
สำหรับสาอุดี เขาไม่ใช่เยาวชนแล้ว เพราะปีนี้อายุ 47 ปี เขาเป็นอดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในอีก 2 วันถัดมา ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นมีเหตุคาร์บอมบ์ที่แฟลตตำรวจบันนังสตา จังหวัดยะลาพอดี ทำให้เขาถูกเพ่งเล็ง จนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้
โชคดีที่ ศอ.บต.ยื่นมือเข้ามาช่วย และทำหน้าที่เหมือน “โซ่ข้อกลาง” เชื่อมความเข้าใจระหว่างตัวสาอุดี กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เนื่องจาก สาอุดี เป็นนักกิจกรรมที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านกฎหมายความมั่นคงมานานเกือบ 20 ปีอยู่แล้ว ในนาม “กลุ่มเพื่อนจอ”
ศอ.บต.จึงดึงศักยภาพตรงนี้ สนับสนุนให้สาอุดี เป็นแกนนำกลุ่มเกษตรชุมชน และช่วยดูแลเยาวชนที่ต้องคดีความมั่นคงอีกทีหนึ่ง
“ผู้ที่ถูกคดีความมั่นคง เหมือนถูกจำกัดพื้นที่ มีความหวาดระแวง จะเดินทางไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวกเหมือนคนทั่วไป ทางกลุ่มจึงคิดหาจุดร่วมที่สามารถคุยได้ทุกเรื่อง อีกทั้งยังช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง ชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย ผมบอกได้เลยว่าถ้าทุกคนมีความเข้าใจกัน แน่นอนความหวาดระแวงก็จะหายไป การใช้ชีวิตอย่างปกติและเข้าใจกันและกันก็จะเกิดขึ้นจริงในพื้นที่บ้านเรา” สาอุดี บอก
การเยียวยาในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ “จ่ายเงินแล้วจบไป” แต่มุ่งสร้างความเข้มแข็งด้วยการเสริมทักษะอาชีพให้ยืนได้ด้วยขาตัวเองในระยะยาว ต้องใช้การบูรณาการของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน ฯลฯ โดยมี ศอ.บต.เป็น “โซ่ข้อกลาง” ทำหน้าที่ประสานงาน
นันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต.บอกว่า ในส่วนของกลุ่มเยียวยาที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกลุ่มที่เราเรียกว่า “มาจากคดีความมั่นคง” นี้ เราจะเข้าไปดูทักษะอาชีพที่เขามีอยู่ในหมู่บ้านอยู่แล้ว อย่างการทำปศุสัตว์ ทำพืชเกษตรที่ครัวเรือนสามารถทำเองได้ แล้วค่อยๆ ต่อยอดกันไป เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด หรือแม้แต่ผึ้งชันโรง เป็นการทำด้วยตัวของเขาเองเพื่อให้เกิดผลขึ้นมา เพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจ และต่อยอดเป็นอาชีพ รวมทั้งหวงแหนในสิ่งที่ทำ
“โครงการลักษณะนี้ก็เกิดผลขึ้นมา เพียงแต่ว่ายังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ศอ.บต.จะเชื่อมไปยังกลุ่มเหล่านั้นทุกๆ กลุ่ม (ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง) ทั้งการเชื่อมในเรื่องของการปฏิบัติและการเชื่อมเรื่องงบประมาณ เป็นการเชื่อมโยงในหลายๆโอกาส และกับทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” รองเลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
เพราะโอกาสของคนต้องเดินต่อไปข้างหน้า ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ต้องมีอนาคต มีความมั่นคง ฉะนั้นกระบวนการเยียวยาคุณภาพชีวิตก็จะเริ่มต้นกับคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
และผลพลอยได้ที่รัฐจะได้รับ ก็คือการลดความหวาดระแวง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพและสันติสุขอย่างแท้จริง...