แม้คดีตากใบจะขาดอายุความไปแล้วก็ตาม แต่กระแสของเรื่องนี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าผู้เกี่ยวข้องยังไม่ถูกพิสูจน์ความถูกผิดในกระบวนการยุติธรรม ยังคงส่งผลแง่ลบต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี จำเลยที่ 1 ของคดีที่ประชาชนฟ้องตรงต่อศาลจังหวัดนราธิวาส และศาลรับฟ้อง เป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย และได้ลาออกหลังจากเจอแรงกดดันอย่างหนักจากสังคม โดยมีข่าวว่าไปรักษาอาการป่วยในต่างประเทศ แต่สังคมเชื่อว่าน่าจะมีเจตนาหนีหมายจับเพื่อให้คดีขาดอายุความ
อย่างไรก็ดี หากพูดถึงผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะฐานเสียงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากแทบไม่เคยมี สส.ในพื้นที่นี้
ฉะนั้นพรรคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กลับเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาชาติ เนื่องจากเป็นแชมป์เก่า แต่ไม่มีบทบาทชัดเจนในแง่ของการเรียกร้องความยุติธรรมในคดีตากใบ เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความโดยไม่สามารถหาตัวจำเลยและผู้ต้องหาไปขึ้นศาลได้
ย้อนกลับไปการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 พรรคประชาชาติสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กวาด สส.เขต ไปได้มากสุดถึง 7 คน จากทั้งหมด 13 เขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะจังหวัดยะลากวาดหมดทั้ง 3 เขต เรียกว่า “ยกจังหวัด”
ที่สำคัญยังเป็นพรรคประชาชาติที่สามารถกวาดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาได้อย่างถล่มทลาย โดยมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์นำมาเป็นอับดับที่ 1 ทั้ง 13 เขตเลือกตั้งของสามจังหวัดชายแดนใต้ จนทำให้ได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์มาถึง 2 ที่นั่ง จากคะแนนในพื้นที่นี้พื้นที่เดียว เนื่ืองจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ พรรคประชาชาติแทบไม่มีฐานเสียงเลย
ที่น่าสนใจก็คือ พรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนในปัจุบัน ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ในทุกเขต แต่คะแนนทิ้งห่างตามหลังพรรคประชาชาติเกินกว่าเท่าตัวเกือบทุกเขตเช่นกัน
ทว่าเมื่อมีการโหมกระแสตากใบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรม กลุ่มภาคประชาสังคม รวมถึง สส.พรรคประชาชนบางราย ปรากฏว่าได้สร้างคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นให้กับพรรคประชาชน ในฐานะพรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในคดีตากใบอย่างชัดเจนและเป็นข่าวมากที่สุด
เมื่อพรรคประชาชนมีคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้น ย่อมสร้างความสั่นคลอนต่อคะแนนนิยมเดิมของพรรคแชมป์เก่าอย่างประชาชาติ
ข้อมูลปรากฏชัดจากโพลสำรวจความคิดเห็นของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งได้เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “พรรคการเมืองใดเดือดร้อนจากกรณีตากใบ” โดยมีการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี จำนวน 1,067 ตัวอย่าง
ผลสำรวจพบว่า เมื่อถามถึงพรรคการเมืองใดได้รับผลกระทบทางลบจากคดีตากใบที่หมดอายุความมากที่สุด ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย 55.20% พรรคประชาชาติ 4.69% พรรคประชาธิปัตย์ 1.97% และพรรคอื่นๆ รวม 2.16%
ด้านการส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไปของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ไม่ส่งผลเลย 39.55% ส่งผลมาก 25.21% ค่อนข้างส่งผล 23.32% และไม่ค่อยส่งผล 11.62%
ส่วนพรรคการเมืองที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า ยังหาพรรคที่เหมาะสมไม่ได้ 50.14% พรรคประชาชน 18.85% พรรคประชาชาติ 13.68% พรรคประชาธิปัตย์ 5.44% พรรคเพื่อไทย 4.69% พรรครวมไทยสร้างชาติ 2.62% และพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทย เท่ากันคือ 1.78%
เป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนนิยมในภาพรวมของพื้นที่ ประชาชาติมีคะแนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และถูกพรรคประชาชนแซง แต่กระแสยังไม่ร้ายแรงเหมือนเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 47 เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดเลย โดยให้เหตุผลว่ายังหาพรรคที่เหมาะสมไม่ได้ ฉะนั้นพรรคประชาชนก็ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จจากการเคลื่อนไหวเรื่องตากใบ
แต่พรรคที่เสียหายหนักแน่ๆ คือพรรคประชาชาติ เพราะนอกจากคะแนนนิยมจะลดต่ำกว่าพรรคประชาชน ซึ่งก็คือพรรคก้าวไกลเดิม ที่ตนเคยเอาชนะได้แล้ว กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งยังไม่เลือกพรรคประชาชาติ แต่รอพรรคอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า