ศาลจังหวัดนราธิวาสสั่งจำหน่ายคดีสลายการชุมนุมตากใบออกจากสารบบ เหตุคดีขาดอายุความ แต่ไม่ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เพราะถือว่าไม่เข้ากระบวนการศาล ส่วนอีกสำนวนที่อัยการสั่งฟ้อง ยังไม่อยู่ในอำนาจศาลปัตตานีสั่งจำหน่ายคดีได้ อาจมีรายการจับกุมส่งศาล แม้สุดท้ายจะรอดคดีเหมือนกัน ด้านปลัดอำเภอท่าอุเทน ผู้ต้องหาตากใบสำนวน 2 โผล่ทำงานตามปกติแล้ว
เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.67 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ อ.1516/2567 ที่ นางสาวฟาดีฮะห์ ปะจูกูเล็ง กับพวกรวม 48 คน ยื่นฟ้อง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตเเม่ทัพภาค 4 กับพวก 9 คนเป็นจำเลยฐานความผิดฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, พยายามฆ่า, หน่วงเหนี่ยวหรือกักชัง, ข่มขืนใจ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ
จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส หรือคดีตากใบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 คน
เดิมในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลไต่สวนมูลฟ้องเเล้วเห็นว่ามีมูล จึงมีคำสั่งประทับฟ้อง ในส่วนจำเลยที่ 1, 3-6 และ 8, 9 มีมูลความผิดในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย, หน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงเเก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,83 มาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
เเละให้ยกฟ้อง ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขื่นใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นรับอันตรายสาหัสโดยกระทำทารุณโหดร้าย และยกฟ้องจำเลยที่ 2 เเละ 7
เดิมศาลออกหมายเรียกจำเลยที่ 1, 3–6 และที่ 8, 9 มาสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 1, 3-6 และที่ 8, 9 ไม่มาศาล ศาลจึงออกหมายจับ เว้นแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ศาลมีหนังสือขออนุญาตจับต่อสภาผู้แทนราษฎร และเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ กับติดตามผลการจับและขออนุญาตจับ ในวันที่ 15 ต.ค.2567
ต่อมา วันที่ 1 ต.ค.2567 ศาลได้รับสำเนาหนังสือของสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 24 ก.ย.2567 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีความคุ้มกันใดๆ ในชั้นพิจารณาของศาล รวมทั้งจากการจับและคุมขังในคดีอาญา ศาลจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน
ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการตามหมายจับควบคู่ไปกับพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานตำรวจตามปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนี
ในวันนัด วันที่ 15 ต.ค.2567 ยังไม่สามารถจับกุมจำเลยคนใดได้ ศาลไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อ ต้องเลื่อนคดีไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนีมาเสียก่อน แต่ศาลอนุญาตให้ญาติผู้ตายแถลงการณ์ด้วยวาจาเกี่ยวกับคดีนี้ แล้วมีคำสั่งเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี หรือนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 28 ต.ค. (วันนี้)
ในวันนัดวันนี้ ยังคงไม่สามารถจับกุมจำเลยที่ 1, 3-6 และที่ 8, 9 ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6)
เหตุที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีแทนพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่มีปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความปรากฏต่อศาลในชั้นทำคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยไป แต่คดีนี้ จำเลยที่ 1, 3-6 และที่ 8, 9 ไม่เคยเข้าสู่การพิจารณา แต่หลบหนีจนคดีขาดอายุความ เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจททั้ง 48 ระงับ ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
@@ ยังไม่จำหน่ายคดีตากใบ สำนวน 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนคดีสำนวนสลายการชุมนุมตากใบ อีก 1 สำนวน ที่เมื่อวันที่ 12 ก.ย. อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม โดยสั่งฟ้อง พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น (พล.อ.เฉลิมชัย เป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรก)
เนื่องจากคดีนี้ทางพนักงานอัยการโจทก์ยังไม่ได้มีการนำตัว 8 ผู้ต้องหายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดปัตตานี ซึ่งเเม้คดีจะหมดอายุความในวันเดียวกัน เเต่เนื่องจากตัวผู้ต้องหายังไม่ได้ถูกนำยื่นฟ้องต่อศาล จึงเท่ากับว่ายังไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีได้ วันนี้ศาลปัตตานีจึงยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา
ซึ่งในกรณีที่ภายหลังหากพนักงานอัยการมีการนำตัวจำเลยทั้ง 8 ยื่นฟ้องต่อศาล ตัวจำเลยก็สามารถต่อสู้เรื่องอายุความจนเป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องได้
@@ “ปลัดวิษณุ” โผล่กลับทำงานหลังคดีขาดอายุความ
วันเดียวกัน หลังจากที่คดีตากใบขาดอายุความไปแล้วนั้น มีรายงานว่า นายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม หนึ่งในผู้ต้องหาคดีตากใบ สำนวน 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลาราชการไปตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.67 และหายตัวไปหลังถูกออกหมายจับ ได้ปรากฎตัวกลับมาทำงานที่อำเภอท่าอุเทน เมื่อวันที่ 26 ต.ค.67 โดยลงพื้นที่ปฏิบัติราชการกรณีมีชายคลุ้มคลั่งยาเสพติดทำลายทรัพย์ และมีอาการทางจิตเวช ที่บ้านนาผักปอด ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน
ถือเป็นการปรากฎตัวของผู้ต้องหารายแรกในคดีตากใบ หลังจากที่คดีหมดอายุความ
ก่อนหน้านี้ หลังจากถูกออกหมายจับ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับเข้าไปประสานงานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อดำเนินการติดตามนำตัวมาดำเนินคดี ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาได้ทำการยกเลิกใบลาราชการ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อหรือตามตัวนายวิษณุได้แต่อย่างใด
ในการสอบวินัยการขาดราชการของข้าราชการ ตามระเบียบหากขาดงานเกิน 15 วัน ผู้บังคับบัญชาสามารถให้ออกจากงานได้โดยไม่ต้องสอบวินัย แต่ถ้าขาดราชการไม่ถึง 15 วัน จะต้องมีการสอบข้อเท็จจริง