การให้รัฐบาลตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก) เพื่อขยายอายุความคดีตากใบ เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องที่ปรากฏออกมาในช่วงนี้...
ช่วงที่คดีตากใบใกล้ขาดอายุความ
ข้อเสนอหลากหลายที่พรั่งพรูกันออกมา ล้วนเปี่ยมไปด้วยความหวังดี และมักจะมีถ้อยคำกำกับเป็นหมายเหตุเตือนใจเอาไว้ด้วยว่า เพราะปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องอำนวยความยุติธรรมให้ถึงที่สุด ไม่ควรให้ประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม หรือพูดง่ายๆ คือ เผชิญกับความ “อยุติธรรม” เพราะปัญหานี้คือรากเหง้าหนึ่งของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุกลายเป็นการใช้ความรุนแรงสาดเข้าใส่กัน
แต่ข้อเสนอว่าด้วยการตราพระราชกำหนดเพื่อต่ออายุความของคดีตากใบ ไปๆ มาๆ อาจกลายเป็น “ประเด็นอ่อนไหวในตัวเอง” เพราะเมื่อย้อนไปดู “สารบบหมายจับ” ที่เป็นคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่าไม่ได้มีแค่จำเลยและผู้ต้องหาคดีตากใบเท่านั้นที่หลบหนี และอาศัยช่องว่างของการหลบหนีนี้ เพื่อทำให้คดีขาดอายุความ
การนำเสนอข้อมูลนี้ของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในแง่ของการสนับสนุนพฤติการณ์หลบหนีหมายจับ แต่ต้องการสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนพฤติกรรมของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมีการใช้วิธี “หลบหนี” เพื่อให้หมายจับสิ้นอายุเป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญผู้ต้องหาและจำเลยเหล่านั้น จำนวนมากก็ก่อคดีอุกฉกรรจ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายหลายพันศพ จากสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
และส่วนใหญ่เป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่สามจังหว้ดชายแดนภาคใต้
หลังเกิดกระแสเรียกร้องหนักๆ ที่เกี่ยวกับคดีตากใบ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ “ต่ออายุความคดีตากใบ” จึงทำให้เกิดคำถามจากครอบครัวผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย หรือถูกกระทำทารุณโหดร้ายในคดีอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องไทยพุทธบ้างเหมือนกันว่า จะมีการต่ออายุความให้กับคดีของพวกเขาด้วยหรือไม่
@@ ตรา พ.ร.ก.ต่ออายุคดีตากใบ...ไม่ง่าย
ย้อนกลับไปที่คำสัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ถูกตั้งคำถามถึงข้อเสนอจากบางฝ่ายให้ตราพระราชกำหนดเพื่อต่ออายุความคดีตากใบ
คำตอบของ พ.ต.อ.ทวี ออกไปในแนวไม่เห็นด้วย โดยมองว่าเป็นการตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้คนเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้บังคับใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงตัวเลขหมายจับ 7,000 กว่าหมาย จับกุมได้เพียง 4,000 กว่าหมาย โดย พ.ต.อ.ทวี พูดเอาไว้แบบนี้
“ส่วนผู้กระทำความผิด เป็นธรรมดา ถ้าเขาต่อสู้คดีก็จะใช้เวลา 10 - 20 ปี ถ้าเขาเห็นว่ามีช่องทางเรื่องอายุความ เขาก็ต้องหลบไป อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่แค่ข้าราชการ (หมายถึงจำเลยและผู้ต้องหาคดีตากใบ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการ) วันนี้เรามีหมายจับ 7,000 กว่าหมาย จับได้แค่ 4,000 หมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความมั่นคง เขาก็หลบไป จนหมายจับขาดอายุความ นี่เราก็ไม่ว่ากัน แต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องช่วยกันจับกุมให้ได้“
น่าสนใจว่าตัวเลขหมายจับ และคดีที่จับกุมได้ พ.ต.อ.ทวี หมายถึงคดีอะไร เป็นความผิดกลุ่มไหน และเกี่ยวอะไรกับปัญหาตากใบ
@@ เปิดตัวเลขคดีไฟใต้หนี 1.7 พันหมาย - 140 ขาดอายุความ
”ทีมข่าวอิศรา“ ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ จนทราบว่า ตัวเลขหมายจับที่ พ.ต.อ.ทวี พูดถึง เป็นหมายจับคดีความมั่นคงตลอด 20 ปีไฟใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
โดยตัวเลขจริงๆ ตามตารางที่นำมาแสดง จะพบว่า หมายจับในคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีทั้งสิ้น 7,878 หมาย แยกเป็น
จ.ยะลา 1,757 หมาย
จ.ปัตตานี 2,642 หมาย
จ.นราธิวาส 2,899 หมาย
4 อำเภอของ จ.สงขลา 580 หมาย
รวมทั้งหมด 7,878 หมาย
ในจำนวนนี้เป็นหมายที่จับกุมตัวผู้ต้องหาได้แล้ว หรือผู้ต้องหาเข้ามอบตัว จำนวน 4,147 หมาย
หลบหนีหมายจับ 1,789 หมาย แยกเป็น
จ.ยะลา 333 หมาย
จ.ปัตตานี 483 หมาย
จ.นราธิวาส 865 หมาย
4 อำเภอของ จ.สงขลา 108 หมาย
รวมเป็น 1,789 หมาย
และยังมีหมายจับที่ขาดอายุความแล้ว 140 หมาย แยกเป็น
จ.ยะลา 16 หมาย
จ.ปัตตานี 54 หมาย
จ.นราธิวาส 70 หมาย
มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า หมายจับบางหมาย ผู้ต้องหาบางราย ก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ หลายครั้ง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตรวมๆ กัน นับสิบคน หรือหลายสิบคน โดยผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียว ซึ่งครอบครัวผู้สูญเสียก็ยังปวดร้าว และต้องทนรับกับความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากผู้ต้องหายังไม่ถูกจับกุม และบางคดีก็หลบหนีจนขาดอายุความ
วันนี้จึงเกิดกระแส โดยเฉพาะในกลุ่มพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ หากจะมีการต่ออายุความคดีตากใบ ขอให้ต่ออายุความในคดีที่พวกตนตกเป็นผู้ถูกกระทำด้วยได้หรือไม่
กระแสที่เกิดขึ้นขณะนี้สะท้อนว่า ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความละเอียดอ่อนมากจริงๆ และกระทบกับคนหลายฝ่ายมากมายจริงๆ
ข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง และการแสดงท่าทีต่างๆ ของฝ่ายใดก็ตาม จึงสมควรต้องระมัดระวังและป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะทางด้านความรู้สึกอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งลุกลามออกไปไม่มีที่สิ้นสุด