ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนประจำยูเอ็น ออกถ้อยแถลงเรียกร้องไม่ให้ “อายุความคดีตากใบ” เป็นจุดสิ้นสุดของความยุติธรรมที่จะมอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 85 ราย
ที่นครเจนีวา วันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค 2567 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นฯ) กล่าวว่า มีความกังวลใจอย่างมากว่า การขาดอายุความของกรณีตากใบซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 รายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยเมื่อปี 2547 นั้น จะทำให้ความพยายามเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษสูญเปล่า
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2547 หลังจากการเจรจาล้มเหลว หน่วยงานความมั่นคงได้เปิดฉากยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมารวมตัวกันหลังจากมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 6 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าจัดหาอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ มีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 ราย และมีการจับกุมตัวผู้ชุมนุม 1,370 คน จนนำไปสู่การให้ผู้ชุมนุมนอนซ้อนทับกันในรถบรรทุกเป็นเวลาห้าชั่วโมงเพื่อเดินทางไปยังค่ายทหาร ซึ่งถือเป็นกระทำทารุณกรรม และทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกจำนวน 78 คนในเวลาต่อมา ซึ่งล้วนเป็นชาวมุสลิมมาเลย์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนา
“เรายินดีที่ในที่สุดก็มีการดำเนินคดีอาญาสองคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการออกหมายจับข้าราชการทั้งปัจจุบันและเกษียณอายุราชการแล้วที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้ คดีความดังกล่าวจะจบลงเมื่ออายุความของคดีขาดไปในวันที่ 25 ตุลาคม 2567” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าว
“เราอยากย้ำเตือนว่าหน้าที่ในการสอบสวน กำหนดบทลงโทษ และให้การเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากคดีดังกล่าวนั้นมิอาจยุติลงเพียงเพราะเวลาผ่านพ้นไป และความล้มเหลวของการสอบสวนและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติมิให้มีการกำหนดอายุความต่อการทรมาน และการกระทำทารุณกรรมอื่นๆ และหากมีการกระทำให้บุคคลสูญหาย อายุความจะเริ่มนับได้หลังจากที่ความผิดนั้นสำเร็จแล้ว นั่นหมายถึงมีการระบุชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหายได้อย่างแน่ชัดแล้ว”
“ครอบครัวของผู้เสียหายต่างรอคอยเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษเพื่อความยุติธรรม เราเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้เกิดความล่าช้าของการรับผิดรับชอบอีกต่อไป และเพื่อให้สิทธิการรับรู้ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาได้รับการเคารพ”
ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหาย 7 คนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวไปยังรัฐบาลไทยด้วย
@@ ถ้อยแถลงของผู้เชี่ยวชาญ - ข้อเท็จจริงบางประเด็นไม่ตรงกับทางการไทย
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้อยแถลงนี้เป็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนประจำยูเอ็น ไม่ใช่ถ้อยแถลงในนามองค์กร
เนื้อความในถ้อยแถลงบางส่วน เป็นการสรุปข้อเท็จจริงไม่ตรงกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระที่รัฐบาลในขณะนั้นตั้งขึ้น เพื่อสอบหาข้อเท็จจริง เช่น การอ้างว่ามีการใช้อาวุธปืนยิงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว
ส่วนประเด็นการเยียวยา เนื้อหาในถ้อยแถลงระบุเสมือนหนึ่งว่ายังไม่มีการเยียวยาต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลไทยในอดีตได้เยียวยาทั้งด้วยตัวเงิน “เป็นกรณีพิเศษ” มากกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยารายละ 7,500,000 บาท โดยการช่วยเหลือเยียวยาครอบคลุมไปถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งสาหัสและเล็กน้อย รวมไปถึงผู้ทุพพลภาพ และผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง ทั้งที่ถูกดำเนินคดี และไม่ถูกดำเนินคดี มีการจ่ายเยียวยาให้ทุกรายตามอัตราที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี
นอกจากนั้น รัฐบาลในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ยังได้จัดโครงการให้ครอบครัวผู้สูญเสีย และตัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ รวมถึงเหตุรุนแรงอื่นๆ ไปทำพิธีสำคัญทางศาสนา เช่น ทำฮัจย์ ทำอุมเราะห์ ซึ่งถือเป็นการเยียวยาจิตใจอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากการดูแลเรื่องทุนการศึกษาให้กับบุตร และหางานทำให้กับคนในครอบครัว ซึ่งเป็นการเยียวยาด้านอาชีพและรายได้ในระยะยาว ให้ครอบครัวสามาารถยืนบนขาของตนเองได้
โดยในส่วนของกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่บริหารประเทศช่วงปี 2549-2550 ได้มีนโยบายให้สำนักงานอัยการสูงสุดถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการฯ