“คดีตากใบ” ถ้ามองแบบด้านเดียว ผ่านกระแสสังคมจริงๆ และกระแสที่ถูกปลุกโดยฝ่ายการเมืองบางสีในขณะนี้ จะพบสารัตถะ 3 ประเด็นหลักๆ กล่าวคือ
1.เรียกร้องให้จำเลย และผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับทั้ง 14 คน จาก 2 สำนวนคดีตากใบ เข้ามอบตัว และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลภายในอายุความ ซึ่งจะครบอายุในวันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้
2.โจมตีพรรคเพื่อไทยว่าไม่มีความจริงจังในการติดตามตัว พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยเป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค เพิ่งลาออกไปเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังรวมถึงจำเลยกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งดูจะไม่มีความจริงจังในการติดตามตัวมาขึ้นศาลมากนัก
3.ขยายประเด็นว่าคดีตากใบเป็นสัญลักษณ์ความอยุติธรรมโดยภาครัฐ พร้อมทั้งโจมตีการแก้ปัญหาไฟใต้และการทำงานของฝ่ายความมั่นคงอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ว่าไม่เคยมีความยุติธรรมกับประชาชนเลย
สารัตถะทั้ง 3 ประเด็นที่บวกรวมกันเป็นกระแสสังคมขณะนี้ แม้จะถูกต้อง เป็นความจริงโดยส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ถึงกับถูกทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มที่ออกมาเรียกร้องและสร้างกระแสทั้งหมดนี้ มักจะมีวาทกรรมเป็น “หมายเหตุ” กำกับอยู่เสมอว่า ปัญหาภาคใต้มีความอ่อนไหว ฉะนั้นก็ควรต้องคอยเตือนตัวเองไว้ด้วยว่า บางเรื่องราวที่สร้างกระแสนั้น ก็กำลังทำบนความอ่อนไหวของสถานการณ์ด้วยเช่นกัน
ผมขอแยกปัญหาตากใบออกเป็น 3 มิติ เพื่อให้เห็นชัดๆ ว่า การเคลื่อนไหวสร้างกระแสแบบเหมารวมทั้งหมด อาจทำให้ความอ่อนไหวที่พูดๆ กันนั้น ล่อแหลมต่อการสร้างปัญหาใหม่มากยิ่งขึ้น
มิติแรก - มิติความเป็นธรรม และการรับผิดชอบต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ
มิติเรื่องความเป็นธรรมนี้ มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องนำมาพิจารณา คือ 1.การสร้างกระแสว่าคดีตากใบ รัฐไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้ชุมนุม ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเลย กระแสวิจารณ์นี้ต้องถือว่าไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
เพราะคดีตากใบมีทั้งหมด 4 คดี หลายคดีสิ้นสุดไปแล้ว และกลุ่มที่ก่อการชุมนุมขึ้นมาก็ได้รับประโยชน์ด้วย
คดีแรก คดียุยงปลุกปั่น ซึ่งมีการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม 59 คน คดีนี้นโยบายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้อัยการถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การฟ้องคดีต่อไปรังแต่จะสร้างความขัดแย้ง และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ (ตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553)
ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบก็ชี้ชัดว่า จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ตากใบ มาจากการชุมนุมที่มีการจัดตั้ง และวางแผนมาเพื่อให้เกิดเหตุการณ์บานปลายอยู่แล้ว
ที่สำคัญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นประธานองคมนตรี ได้กล่าวขอโทษผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากเหตุการณ์ตากใบ และเหตุรุนแรงอื่นๆ ที่รัฐไม่สามารถดูแลชีวิตและความปลอดภัยได้ โดยเป็นการขอโทษอย่างเป็นทางการด้วย โดยการขอโทษ เกิดขึ้นในห้วงปี 2550
คดีที่สอง คดีฟ้องร้องทางแพ่ง โดยผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ มีการไกล่เกลี่ย จ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย จนคดีสิ้นสุดทั้งหมด
คดีที่สาม คดีการเสียชีวิตในที่ชุมนุม 7 ราย โดนกระสุนปืนไม่รู้จากฝ่ายใด คดีนี้อัยการสั่งงดสอบสวน เพราะหาตัวผู้กระทำไม่ได้
คดีที่สี่ คดีการเสียชีวิตระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม 78 ศพ ช่วงแรกที่มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ “คดีสิ้นสุด” โดยอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี และผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ทำความเห็นแย้ง ตามกฎหมายในขณะนั้น จึงมีการจ่ายเยียวยา “เป็นกรณีพิเศษ” ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แต่ภายหลังมีการส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดสั่งคดี เมื่อเดือน เม.ย.2567 ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุการณ์นานกว่า 19 ปี และคดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง ซึ่งไม่ชัดว่าเป็นสำนวนคดีเดียวกับที่เคยสั่งไม่ฟ้อง จนนำไปสู่การเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาทหรือไม่
ถ้าใช่..ย่อมแปลว่าคดียังไม่สิ้นสุด แล้วการจ่ายเงินเยียวยาสูงสุด 7.5 ล้านบาท (กรณีเสียชีวิต) และจ่ายลดหลั่นกันลงมากรณีทุพพลภาพ ได้รับบาดเจ็บ และถูกควบคุมตัว รวม 987 ราย เป็นเงิน 641 ล้านบาทเศษ ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ การจ่ายเยียวยาถือเป็นโมฆะ หรือมีปัญหาทางกฎหมายหรือไม่
2.การจ่ายเยียวยาเป็นกรณีพิเศษ ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพ จำนวน 987 ราย เป็นเงิน 641 ล้านบาทเศษ ซึ่งมีการจ่ายชดเชยให้ผู้ถูกดำเนินคดี และถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดีด้วย คือจ่ายผู้รับผลกระทบจนครบทัึ้งหมด ย่อมถือว่ารัฐไม่ได้ละเลยผลของเหตุการณ์ตากใบตามที่มีการสร้างกระแส
3.เมื่อเรื่องราวผ่านมาถึง 19 ปี เกือบ 20 ปี และมีการช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงถอนฟ้องกลุ่มที่เชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุไปหมดแล้ว ทำให้บางฝ่ายมองว่า ไม่ควรสะกิดแผลตากใบขึ้นมาอีก เพราะอาจกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มผู้ไม่หวังดี นำไปขยายผล หรือเป็นเหตุสร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นมาอีก
มิติที่สอง - การเรียกร้องให้จำเลยและผู้ต้องหาในคดีตากใบ 2 สำนวน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
มิตินี้ไม่มีใครคัดค้าน เพราะเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อถูกกล่าวหาในคดีอาญา ก็ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการ
แต่การหลบหนีคดีของผู้ต้องหา หรือจำเลย ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน เนื่องจากอายุความเหลือน้อย และผู้ที่ตกเป็นจำเลย หรือผู้ต้องหา ล้วนมีอายุมาก จึงไม่มีใครอยากขึ้นศาล เรื่องนี้จึงเป็นเหตุสุดวิสัย และเป็นเหตุผลของแต่ละคนในการหลบหนี
แต่ก็ต้องหมายเหตุตรงนี้ว่า ยกเว้นถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอำนาจเข้าไปช่วยเหลือ สะกิดให้หนีเพื่อตัดตอนคดี ถ้าเป็นแบบนั้น ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันตรวจสอบและจัดการเช่นกัน
มิติที่สาม - ท่าทีของพรรคเพื่อไทย ชัดเจนว่าไม่ได้แสดงความจริงใจในการติดตามตัวผู้เกี่ยวข้องกับคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริง กล่าวคือ
- กรณีของ พล.อ.พิศาล ก็แสดงจุดยืนในนามพรรคช้าเกินไป ไม่ใช้มาตรการของพรรคกดดันใดๆ กับ พล.อ.พิศาลเลย
- กรณีที่นายกฯแพทองธาร เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้สั่งการให้ตำรวจตรวจสอบเลยว่า ที่มีข่าว พล.อ.พิศาล หรือจำเลยคนอื่นๆ เดินทางออกนอกประเทศ มีการเดินทางออกไปจริงหรือไม่ ออกไปเมื่อใด ออกไปหลังจากมีหมายจับหรือไม่ ช่องโหว่อยู่ตรงไหน มีใครประมาทเลินเล่อ หรือจงใจให้หนีหรือเปล่า หรือว่าหนีไปตั้งแต่ก่อนมีหมายจับ ถ้าเป็นแบบนั้นจะได้เคลียร์ข้อเท็จจริงให้ชัดต่อสาธารณชน
- กรณีที่ผู้ต้องหาคดีตากใบ สำนวนที่ 2 บางคนยังรับราชการทหารอยู่ และบางคนก็เป็นปลัดอำเภอ อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึง คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กลับไม่ได้แสดงท่าทีขึงขัึง ออกมาตรการคาดโทษ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแต่อย่างใด
ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีพฤติการณ์หนีหมายจับในคดีอาญา และขาดราชการโดยไม่มีเหตุอันควรชัดเจน นอกจากนั้นยังน่าจะสามารถคาดโทษไว้ล่วงหน้า หากคดีขาดอายุความแล้วข้าราชการรายนั้นกลับมาทำงาน ก็ต้องมีการตั้งกรรมการสอบวินัยตามขั้นตอน แต่ที่ผ่านมาสังคมยังไม่เห็นการขยับขับเคลื่อนในส่วนนี้
ที่สำคัญยังต้องตั้งคำถามกลับไปยังฝ่ายตำรวจ เพราะท่านได้ปล่อยเวลาเนิ่นช้าเหลือเกินหลังจากมีหมายจับ กว่าจะขยับไปติดตามตัวผู้ต้องหาและจำเลยแต่ละคนได้ โดยเฉพาะผู้ต้องหาในสำนวน 2 ที่เป็นข้าราชการอยู่หลายคน เมื่อนำชื่อใส่ในระบบสืบจับของตำรวจ น่าจะรู้ทันทีว่ารับราชการอยู่ที่ไหน ก็น่าจะสั่งล็อกตัวได้ก่อนเลย แต่การดำเนินการเหล่านี้ สังคมมองไม่เห็นว่ามีการกระทำเกิดขึ้น จึงไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่น และมองว่ามีการช่วยกันปล่อยให้หลบหนีหรือเปล่า
นี่คือคดีตากใบใน 3 มิติ ซึ่งผู้ที่กังวลกับสถานการณ์เห็นว่า ไม่ควรเหมารวมเป็นมิติเดียว และไม่ควรเหมารวมเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการพยายามของ “รัฐ” และ “รัฐบาล” ในชุดที่ผ่านๆ มา ซึ่งได้พยายามทำแทน เยียวยาในมิติอื่นไปพอสมควร โดยเฉพาะเยียวยาจิตใจ รวมถึงกล่าวคำ “ขอโทษ” อย่างเป็นทางการโดยผู้นำรัฐบาลในอดีต ซึ่งเป็นองคมนตรี และประธานองคมนตรีในปัจจุบัน
ปัญหาจริงๆ ของตากใบอยู่ที่การไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับบัญชาการและระดับปฏิบัติในเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และมีความน่าสงสัยว่า เครือข่ายระบบราชการและการเมืองปัจจุบัน พยายามช่วยเหลือปกป้อง และตัดตอนคนกลุ่มนี้ ไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เรื่องนี้กำลังส่งผลเลวร้ายกว่าที่คาด และผมมีข้อมูลที่น่าสนใจมาแชร์ส่งท้ายให้ฟัง
1.มีการประชุมของหน่วยงานความมั่นคง “มีสี” หน่วยหนึ่ง มีวาระหารือเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ แต่หัวข้อหลักแทนที่จะคุยเรื่องบรรเทาผลกระทบจากคดีตากใบ กลับไปคุยกันว่าจะประกาศให้กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” หรือไม่
นี่คือการขยันผิดเวลา ละเลยความรู้สึกพี่น้องชายแดนใต้ หรือสะท้อนถึงภาวะ “อ่านสถานการณ์ไม่ขาด” ของฝ่ายความมั่นคงไทยใช่หรือไม่
2.หากลงไปในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงนี้ จะพบคลิปวีดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ตากใบเหมือนที่ทุกคนชินตา นำมาประกอบบทสวดของอิสลามบ้าง ประกอบบทเพลงปลุกใจในภาษามลายูบ้าง เผยแพร่เต็มฟีดของโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะ TikTok
เด็กๆ เยาวชน วัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ที่ชายแดนใต้ ซึ่งเกิดไม่ทันเหตุการณ์ตากใบ เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับคดีตากใบมากมายในสื่อกระแสหลัก จึงไปหาดูข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ แล้วก็เจอคลิปเหล่านี้
เป็นคลิปกล่าวหารัฐด้านเดียวล้วนๆ และพวกเขาก็หยุดดู ก่อนจะเลื่อนหาคลิปถัดไป แชร์ และส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์
วันนี้เหตุการณ์ตากใบที่บาดแผลเกือบสนิทแล้ว เพราะผ่านไปนานถึง 20 ปี กำลังถูกสะกิดให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และขยายการรับรู้จากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยไม่ต้องมีเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นซ้ำสองในทางความเป็นจริง
แต่ไฟของตากใบได้ถูกจุดขึ้นในหัวใจของผู้คนอีกครั้ง ผ่านวาทกรรมอยุติธรรมและความผิดพลาดของรัฐไทยในปัจจุบัน
ตากใบได้ยกระดับตัวเองจากคดีที่กำลังจะขาดอายุความ เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่มีอายุความ!