เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงที่มีปัญหาเกี่ยวกับคดีตากใบ เริ่มมีการพูดคุยถึงปัญหาความไม่คืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น
โดยเฉพาะล่าสุดที่เป็นการตอกย้ำจากบุคคลระดับ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” อย่าง อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเคยเป็น สส.ยะลา และถือเป็นนักการเมืองคนสำคัญจากดินแดนปลายด้ามขวานด้วย
“แม้การพูดคุยสันติสุขจะผ่านมาหลายรัฐบาล แต่ยังไปไม่ถึงไหน ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจ ความจริงใจภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการพูดคุยก็ดีกว่าที่ไม่คุย คุยไปคืบหน้าทีละนิดก็ยังดี และต้องคุยกันบ่อยๆ พร้อมหาข้อยุติที่เป็นความก้าวหน้า เช่น การหาพื้นที่ที่จะประกันการไม่เกิดเหตุด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือพื้นที่ปลอดภัย ถ้าทำได้จะเกิดการลงทุน นักท่องเที่ยวมาเที่ยว เศรษฐกิจดี ความเดือดร้อนประชาชนก็ลดลงไป แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ก็คุยกันยาก ”
เป็นคำสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของ “อาจารย์วันนอร์” ระหว่างร่วมประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 45 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เพราะแม้รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งทำหน้าที่ต่อจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเวลาเกือบๆ 1 ปีที่ผ่านมา จะส่งสัญญาณเดินหน้าโต๊ะพูดคุยสันติสุขฯ กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ต่อเนื่องจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ โดยมอบหมายให้ คุณฉัตรชัย บางชวด ขณะดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ และรับไม้ต่อเนื่องมา
ทว่าในห้วง 1 ปีที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรค คือ ข้อตกลงเบื้องต้นที่เป็นกรอบการพูดคุยในเชิงลึกต่อไป ที่เรียกว่า JCPP หรือแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ซึ่งคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ไปตกลงเบื้องต้นกับฝ่ายบีอาร์เอ็น แต่เมื่อมีการเปิดเผยเนื้อหา กลับถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย เพราะมองว่าฝ่ายไทยในฐานะ “รัฐ” เป็นผู้เสียเปรียบฝ่ายบีอาร์เอ็น ส่งผลให้โต๊ะพูดคุยหยุดชะงักไป
ประกอบกับช่วงเปลี่ยนปีงบประมาณที่ผ่านมา นายฉัตรชัย บางชวด ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สมช.คนใหม่ จึงน่าจะมีภารกิจล้นมือ ไม่น่าจะทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯได้ต่อไป
@@ “พล.อ.ชินวัฒน์” เจอแรงต้าน ไม่เอาอดีตทหารคุมโต๊ะพูดคุยฯ
ก่อนหน้านี้มีข่าวการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยชื่อที่มีการพูดถึงกันมาก ก็เช่น พล.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช อดีตนายทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยร่วมอยู่ในคณะพูดคุยฯชุดเก่าๆ และศึกษาโครงสร้างของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้มาอย่างแตกฉาน
แต่ชื่อนี้ก็โดนกระแสคัดค้าน เพราะรัฐบาล และรวมถึงพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชน ต้องการให้หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นพลเรือนมากกว่าทหาร หรืออดีตคนในกองทัพ เพื่อล้างภาพ “การทหารนำการเมือง” ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
@@ โยนชื่ออดีตปลัด ยธ. “ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ”
ล่าสุดมีการพูดถึงชื่อ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพคนแรก โดยนายชาญเชาวน์เป็นอดีตอัยการ จึงมีความรู้เรื่องกฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรม และอยู่ในสายงานด้านอำนวยความยุติธรรมทั้งในมิติกฎหมายและมิติการเยียวยามาโดยตลอด
หลายฝ่ายจึงมองว่า ขณะนี้มีประเด็นเรื่องตากใบปะทุขึ้นมาด้วย หากได้นายชาญเชาวน์ มาทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ น่าจะถูกฝาถูกตัว และเดินหน้าวางกรอบการพูดคุยเรื่อง “ความเป็นธรรม” ซึ่งเป็นแก่นของปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับ นายชาญเชาวน์ เพิ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ซึ่งมีการถือครองที่ดินของเอกชนรุกล้ำทับซ้อนกับที่สาธารณะของพี่น้องมุสลิมบนเกาะ และยังมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับสุสาน หรือ กุโบร์ และที่ดินตามความเชื่ออิสลามด้วย
การเสนอชื่อ นายชาญเชาวน์ ได้รับการขานรับจากชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ สะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องมุสลิมตอบรับชื่อ นายชาญเชาวน์ จึงมีบางฝ่ายสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งห้วหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯคนใหม่ และยังเป็นอดีตข้าราชการพลเรือน ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพและฝ่ายความมั่นคงด้วย
@@ “สะมะแอ ท่าน้ำ” แง้มชื่อ “พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย”
ด้าน นายมะแอ สะอะ หรือ “หะยี สะมะแอ ท่าน้ำ” อดีตแกนนำขบวนการพูโล กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ขณะนี้เรื่อง “หัวหน้าคณะพูดคุยฯ” ยังไม่นิ่ง แต่ได้ทราบข่าวบางกระแสมาว่า รัฐบาลกำลังจะให้ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไป แต่ไม่แน่ใจว่าจะขึ้นเป็นหัวหน้าพูดคุยเลยรือไม่ แต่จากที่ได้สอบถาม พล.อ.สำเร็จ ได้รับการยืนยันว่ามีการทาบเหมือนกัน แต่ยังไม่มีข้อสรุป
สำหรับ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ถือเป็น “ผู้รู้” เกี่ยวกับโครงสร้างของขบวนการบีอาร์เอ็นมากที่สุดคนหนึ่ง เคยทำวิจัยและเขียนหนังสือเกี่ยวกับองค์กรบีอาร์เอ็นหลายเล่ม และเป็นคนแรกๆ ที่ฟันธงว่า กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นตัวละครหลักในการจุดไฟใต้ระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา คือ ขบวนการบีอาร์เอ็น
แต่จุดอ่อนของ พล.อ.สำเร็จ ที่อาจถูกคัดค้าน ก็คือ ภาพของความเป็นทหาร และยังเคยอยู่หน่วย “รบพิเศษ” ด้วย