// การติดตามจับกุมผู้ต้องหา-จำเลย //
รายชื่อจำเลย (สำนวน 1) ประชาชนฟ้องเอง ศาลนราธิวาสรับฟ้อง
จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 สส.เพื่อไทย
จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีต ผบ.พล.ร.5
จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผบ.ศปก.ตร.
จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีต ผบช.ภ.9
จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีต ผกก.สภ.อ.ตากใบ
จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี รอง ผอ.กอ.สสส. อดีตรองปลัด มท.
จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าฯนราธิวาส
รายชื่อผู้ต้องหา (สำนวน 2) อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง วิสามัญฆาตกรรม
ผู้ต้องหาที่ 1 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร - อดีต ผบ.พล.ร.5
ผู้ต้องหาที่ 2 ร้อยตรี ณัฐวุฒิ เลื่อมใส - พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 3 นายวิษณุ เลิศสงคราม - พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 4 เรือโท วิสนุกรณ์ ชัยสาร - พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 5 นายปิติ ญาณแก้ว - พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 6 พันจ่าตรี รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ - พลขับ
ผู้ต้องหาที่ 7 พันโท ประเสริฐ มัทมิฬ - ผู้ควบคุมขบวนรถ
ผู้ต้องหาที่ 8 ร้อยโท ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ - พลขับ
// ข้อสังเกต //
1.คดีตากใบสำนวนแรก จำเลยที่ศาลประทับฟ้อง ล้วนเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
- ทุกคนมีศักยภาพ โอกาสได้ตัวไปฟ้องต่อศาล เป็นไปได้ยากมาก
- ยกตัวอย่างเทียบเคียงคดี นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม หนีหมายจับคดีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และอัยการยื่นฟ้อง กรณีออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารวอเตอร์ฟรอนท์ เชิงเขาพระตำหนัก โดยมิชอบ สมัยดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา โดยไปพำนักอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อคดีขาดอายุความ ก็เดินทางกลับมา คดีก็จบไป เอาผิดอะไรไม่ได้
คดีตากใบสำนวนแรก หลายฝ่ายที่ติดตามอย่างเกาะติด จึงทำใจล่วงหน้าว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้ตัวจำเลยมาฟ้องภายในอายุความ
2.จำเลยที่ยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีที่ทำงานเป็นหลักแหล่งที่สุด คือ พล.อ.พิศาล เพราะเป็น สส.ของเพื่อไทย ต้องเข้าประชุมสภา
- แต่ปรากฏว่า พล.อ.พิศาล ก็ทำเรื่องลาประชุม และหายหน้าไป แม้แต่พรรคเพื่อไทยต้นสังกัดก็อ้างว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน
3.คดีตากใบ สำนวน 2 ผู้ต้องหา 7 คนจาก 8 คน เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย หลายคนไม่ได้รับราชการแล้วในปัจจุบัน
- ฝ่ายที่ติดตามคดีนี้จึงมีความหวังว่าน่าจะได้ตัวบางคนมายื่นฟ้องต่อศาลบ้าง
- แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งหมด
4.ศาลปัตตานีออกหมายจับผู้ต้องหาคดีตากใบสำนวน 2 แค่ 5 คน ส่วนอีก 3 คนออกเป็น “หมายเรียก”
- ให้เหตุผลว่ายังเป็นข้าราชการอยู่
- กระบวนการติดตามตัวน่าจะทำได้ไม่ยาก หากแจ้งหน่วยต้นสังกัด แต่เหตุใดจึงยังไม่มีความคืบหน้า
// การทำงานของตำรวจ และสภา //
1.คดีตากใบสำนวนแรก (ประชาชนฟ้องเอง)
- คดีสลายการชุมนุม และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต กระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนมีความเห็น “ไม่สมควรสั่งฟ้อง” ทำให้คดีจบ กระทั่งญาติผู้สูญเสียต้องยื่นฟ้องเอง
- ศาลนราธิวาสประทับรับฟ้องตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.67 และออกหมายจับจำเลย 6 คนจาก 7 ทันที
- จำเลยที่ศาลไม่ได้ออกหมายจับ คือ พล.อ.พิศาล เพราะเป็น สส. และอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา ศาลจึงทำหนังสือแจ้งให้สภาส่งตัว
- แต่สภากลับมองว่าเป็น “เอกสิทธิ์ สส.” (ห้ามจับกุม คุมขังสมาชิกในระหว่างสมัยประชุม) และสภาต้องประชุมเพื่อลงมติว่าจะอนุญาตส่งตัวหรือไม่ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคท้าย วางบรรทัดฐานใหม่แล้วว่า หากมีหมายจับ และศาลต้องดำเนินคดีอาญากับ สส. หรือ สว. ให้สามารถดำเนินการได้แม้อยู่ระหว่างสมัยประชุม
- เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เขียนไว้ชัด “สส.หรือ สว.ที่กระทำความผิด อาจได้รับโทษจำคุกในระหว่างสมัยประชุมได้…โดยไม่อาจอาศัยความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ตนไม่ถูกดำเนินคดีได้ต่อไป” เหตุใดผู้เกี่ยวข้องในสภา จึงไม่ทราบบรรทัดฐานใหม่นี้ หรือแกล้งไม่ทราบ
- ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศาลนราธิวาสมีคำสั่งออกหมายจับ พล.อ.พิศาล เพราะไม่ไปศาล ไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ไปประชุมสภา จึงมีเจตนาหลบหนี
- หมายจับของศาลออกหลังประทับรับฟ้อง 1 เดือน 8 วัน โดยในช่วงที่ผ่านมาไม่ปรากฏความจริงจังของฝ่ายสภา และเจ้าพนักงานตำรวจ ในการติดตามตัวจำเลยที่ 1
2.คดีตากใบสำนวน 2 (คดีวิสามัญฆาตกรรม)
- เหตุเกิดปี 2547
- ยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และโอนคดีไปศาลจังหวัดสงขลา ในปี 2548
- ศาลจังหวัดสงขลาไต่สวนเสร็จสิ้น ส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ปี 2548
- อัยการสูงสุดเพิ่งได้รับสำนวนคดีจากตำรวจ 25 เม.ย.2567
- ตำรวจใช้เวลาทำคดี 19 ปี จึงมีความเห็น “ไม่สมควรสั่งฟ้อง”
- อัยการสูงสุดใช้เวลาไม่ถึง 4 เดือน กลับมีความเห็น “สั่งฟ้อง” (18 ก.ย.2567)
- นับจากวันที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง และแถลงข่าวใหญ่โตต่อสาธารณะ ผ่านไปถึง 13 วัน ตำรวจ สภ.หนองจิก จึงขออนุมัติศาลจังหวัดปัตตานีออกหมายจับผู้ต้องหา
@@ คดีตากใบขาดอายุความ “641 ล้าน” เรียกคืนจากใคร?
โศกนาฏกรรมตากใบ มีการจ่ายเงินเยียวยากรณีพิเศษให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย และได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ จำนวนทั้งหมด 987 ราย เป็นเงิน 641 ล้านบาท ในรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อ่านประกอบ : 17 ปีตากใบ...เหตุการณ์เดียวเยียวยา 641 ล้าน กระทบ 987 ชีวิต!
การจ่ายเยียวยากรณีพิเศษได้ ต้องมีเงื่อนไขประการหนึ่งคือ “คดีถึงที่สุดแล้ว”
แต่ผ่านมา 19 ปี เกือบๆ จะ 20 ปี ยังมีคดีตากใบที่ยังไม่จบ คือ คดีวิสามัญฆาตกรรม และคดีที่ศาลนราธิวาสประทับรับฟ้อง ตามที่ครอบครัวผู้สูญเสียยื่นฟ้องเอง
เมื่อคดียังไม่จบ แปลว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ “อาจมีคนผิด” ซึ่งคนผิดก็จะต้องถูกไล่เบี้ย รับผิดชอบค่าเสียหาย ซึ่งหมายถึง “เงินเยียวยา” แทนรัฐ
ฉะนั้นหากคดีนี้ขาดอายุความ โดยหาใครไปขึ้นศาลไม่ได้เลย ก็แปลว่า งบประมาณเยียวยา 641 ล้านบาท รัฐต้องรับผิดชอบทั้งหมด ไม่สามารถไล่เบี้ยใครได้ เพราะคดีขาดอายุความ
ผลเสียหายจึงตามมามากมาย ไม่ใช่แค่ไม่สามารถชี้ถูกชี้ผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ได้เท่านั้น แต่รัฐยังต้องใช้ภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศจ่ายเยียวยาให้ผู้สูญเสีย
แม้การเยียวยาจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสำคัญ แต่การที่รัฐต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยที่อาจไล่เบี้ยเอากับคนกระทำผิดได้ แต่สุดท้ายกลับทำอะไรไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความ ถือเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่งของประเทศไทย...ใช่หรือไม่