ผลกระทบจากการระเบิดในเลบานอนพร้อมกันประมาณ 4,000 แห่งในเวลาสองวันติดต่อกัน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ 2 ระลอกด้วยกัน
- ส่งสัญญาณผ่านเพจเจอร์ (อังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567)
- วิทยุสื่อสารแบบพกพา/walkie talkie (วันพุธที่ 18 กันยายน)
ทั้งหมดสันนิษฐานว่าเป็นการปฏิบัติการทางทหารโดยอิสราเอลเพื่อสังหารหรือทำร้ายร่างกายฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งกองกำลังทหารที่เป็นเป้าหมายและพลเรือนโดยทั่วไป
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ
1) รูปโฉมใหม่ของสงครามไซเบอร์เกิดขึ้นแล้ว
แต่เดิมจะเห็นสงครามไซเบอร์เป็นการแทรกแซงทางข้อมูลและข่าวสาร แต่ครั้งนี้เป็นไซเบอร์แบบกดปุ่มจากทางไกลเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์สื่อสารธรรมดาให้กลายเป็นระเบิด
วิธีการครั้งนี้ใช้ระเบิดขนาดจิ๋วปริมาณ 9 กรัมลักลอบติดในบริเวณแบตเตอรี่ของเพจเจอร์ซึ่งมีน้ำหนักทั้งสิ้นประมาณ 95 กรัม โดยผู้โจมตีส่งสัญญาณบังคับให้แบตเตอรี่ร้อนสูงสุดถึง 400 องศาเซลเซียสจนเกิดระเบิดขึ้น
อาวุธระเบิดขนาดจิ๋วแบบนี้เคยใช้มาแล้วมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ทำเป็นกับระเบิดให้เผลอเหยียบ หวังผลการทำลายจำกัดอยู่ที่อวัยวะขาและแขน แต่ในกรณีของเลบานอนที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก อาจเป็นเพราะเพศชายมักหนีบติดอุปกรณ์สื่อสารที่เอว
จึงกลายเป็นยุทธวิธีสงครามแบบใหม่ที่ไม่ต้องวางระเบิดในสนามรบ แต่เหยื่อในเป้าหมายใช้อุปกรณ์นั้นติดตัวในชีวิตประจำวัน และถูกโจมตีแม้ไม่ได้เข้าในเขตสงคราม
2) สถานการณ์ในตะวันออกกลางจะตึงเครียดมาก ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับศัตรูจะเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ทางการอิสราเอลยังไม่แสดงความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลกล่าวว่า “นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามใหม่อีกระดับ”
กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐกล่าวว่า “เรื่องนี้สันนิษฐานว่าเป็นปฏิบัติการลับของอิสราเอล เพียงแต่สหรัฐไม่ทราบล่วงหน้าและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น”
ฝ่ายตรงข้ามของอิสราเอลกำลังหวาดวิตกว่ามีอันตรายอยู่รอบตัว ไม่เชื่อถือกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อีกต่อไป ระแวงกับการพกติดตัวทั้งโทรศัพท์มือถือหรือวิทยุอื่นๆ ทำให้ขาดการประสานงานระหว่างกัน และกล่าวโทษต่อผู้นำของตนว่าไม่สามารถจะป้องกันความปลอดภัยได้
เหยื่อจากการระเบิดครั้งนี้ รวมถึงทูตอิหร่านในเลบานอน จึงทำให้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอล
ขณะเดียวกันมีข่าวว่ากองกำลังในซีเรียซึ่งใช้อุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ก็เป็นเหยื่อของระเบิดพร้อมกัน ซึ่งจะเพิ่มความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและซีเรียด้วย
3) อันตรายแนวใหม่ที่อาจขยายวงกว้างกระทบกระเทือนกับชีวิตประจำวันทั่วโลก
เรื่องนี้กลายเป็นวิกฤติของสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะการระเบิดเกิดขึ้นในบ้านเรือน ร้านค้า และที่สาธารณะต่างๆ มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนรวมทั้งเด็ก และหากเกิดขึ้นขณะที่เป้าหมายกำลังเดินทางบนเครื่องบินพาณิชย์อาจกลายเป็นวินาศกรรมหมู่
การเลียนแบบหรือเกิดเหตุการณ์คล้ายกันขึ้นอีกในภูมิภาคอื่นของโลกเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้
ความกลัวและไม่ไว้วางใจต่ออุปกรณ์สื่อสารจะนำมาสู่ความวุ่นวายถึงขั้นทำให้การสื่อสารและการคมนาคมต่างๆ มีผลกระทบได้
เช่น โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์วิทยุต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นสิ่งปกติที่สามารถจะนำขึ้นเครื่องบินได้ แต่อาจจะถูกสั่งห้ามไม่ให้นำขึ้นเครื่องบิน หรือมีการตรวจสอบอย่างหนัก ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยในการเดินทางสาธารณะต่างๆ เพิ่มขึ้น
เรื่องนี้เป็นวิกฤติที่ต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน และองค์การสหประชาชาติกำลังนำเรื่องนี้เสนอเป็นภารกิจด่วน
หากไม่มีมาตรการร่วมกันระหว่างประเทศเพื่อควบคุมอันตรายจากการใช้สัญญาณแทรกแซงผ่านไซเบอร์เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือให้กลายเป็นอาวุธทำลาย อาจนำมาสู่ความหวาดวิตกรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้การสื่อสารคมนาคมหยุดชะงักและกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจโลกไม่แพ้กับโควิด-19
----------------------
ทัศนะโดย กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ จากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา