มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีตากใบ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อีกด้านที่ต้องบันทึกไว้
ประวัติศาสตร์ในที่นี้ มาถึงวันนี้มี 2 หน้า 2 ปก กล่าวคือ
ประวัติศาสตร์หน้าเก่า - เป็นเรื่องราวที่เรารับรู้รับทราบกันอยู่ กล่าวคือ คดีตากใบที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของพี่น้องชายแดนใต้ ปัจจุบันครอบครัวผู้เสียหายจำนวนหนึ่งได้ตัดสินใจยื่นฟ้องเอง และศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้อง เมื่อวันที่ 23 ส.ค.67 ที่ผ่านมา ก่อนคดีขาดอายุความแค่ 2 เดือน
โดยคดีนี้จะขาดอายุความวันที่ 25 ต.ค.67 เพราะโศกนาฏกรรมตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.47
ปรากฏว่าประวัติศาสตร์หน้านี้ แม้ศาลประทับฟ้องแล้ว ก็ยังมีปัญหาขาดอายุความอยู่ดี เพราะยังไม่มีกระบวนการนำตัวจำเลยไปยื่นฟ้องต่อศาล สส.พรรคประชาชนจึงออกมาเรียกร้อง ส่งสัญญาณถึงจำเลยทั้ง 7 คน รวมถึงคนที่เป็น สส.พรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ให้ไปศาล อย่าใช้เอกสิทธิ์จนคดีขาดอายุความ
นั่นคือประวัติศาสตร์หน้าเดิมที่ยังต่อสู้กันอยู่ และยังมีปัญหาอยู่
ล่าสุดยังมีประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลมา นั่นก็คือข้อเท็จจริงอีกด้านของเหตุการณ์ตากใบ ซึ่ง “จำเลยในคดีตากใบ” ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง 7 คน ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันเกิดโศกนาฏกรรมตากใบทั้งสิ้น เตรียมนำไปต่อสู้คดีในชั้นศาล
ข้อเท็จจริงนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่เกือบจะไม่เคยปรากฏในหน้าสื่อมวลชนแขนงใด และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็แทบไม่เคยพูดถึง
หากดูการเตรียมการอย่างละเอียดรอบคอบเช่นนี้ ก็น่าคิดว่าจำเลยทั้ง 7 หรือบางคน อาจจะตัดสินใจไปศาลตามนัดก็เป็นได้
@@ เปิดคำฟ้อง-ส่องข้อเท็จจริงตากใบ “ภาครัฐป่าเถื่อน”
แต่ก่อนจะไปถึงข้อเท็จจริงใหม่ที่จำเลย 7 คนเตรียมนำไปต่อสู้คดี เรามาย้อนดูหลักฐานของครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ยื่นฟ้องคดีตากใบกันเอง ภายใต้การช่วยเหลือของกลุ่มทนายมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกันก่อน
ข้อเท็จจริงตามฟ้อง (ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ในชั้่นศาล) ที่สำคัญเช่น
1.แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น คือ พล.อ.พิศาล นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ใช้อาวุธปืนบรรจุกระสุนจริง ยิงใส่ผู้ชุมนุมในแนวระนาบ ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตรวม 7 คน แยกเป็นในที่เกิดเหตุ 6 คน และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน
2.จำเลยทุกคนที่ถูกยื่นฟ้อง ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น ได้ปิดล้อมผู้ชุมนุม บังคับให้ประชาชนนอนคว่ำหน้ากับพื้น ถอดเสื้อ แล้วใช้เชือกหรือเสื้อมัดมือไพล่หลัง บังคับให้คลานไปข้างหน้าโดยใช้ไหล่ หน้าอกและท้องดันลำตัวคืบไปกับพื้น อันเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมอย่างป่าเถื่อน
3.มีการดึงกระชากตัวขึ้นไปบนรถบรรทุกที่ไม่มีบันได แล้วบังคับให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถขณะถูกมัดมือไพล่หลัง แล้ววางร่างของประชาชนให้นอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ 4-5 ชั้น คันละ 50-60 คน คลุมด้วยผ้าใบ ทำให้อากาศภายในรถถ่ายเทไม่สะดวก โดยมีทหารถือปืนคุมไปกับรถคันละ 5-6 คน เบียดเสียดกันเหมือนกับบรรทุกผักปลา โดยไม่แจ้งข้อหาว่าถูกจับข้อหาใด จะนำไปที่แห่งไหน เพื่ออะไร ทำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 78 คน บางคนร่างกายถูกทับจนขาดอากาศหายใจ บางคนคอหักตายอย่างทารุณโหดร้ายและทรมาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกทับอยู่ชั้นล่าง บางคันมีผู้ตายถึง 21 คน บางคันสูงถึง 23 คน ส่วนคนที่ไม่ตายก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
4.การกระทำของจำเลยที่ 1-9 มีเจตนาเล็งเห็นผล และเป็นการกระทำโดยทรมานและทารุณโหดร้าย ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งที่ต้องทราบดีว่าการขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวกว่า 1,200 คน จะต้องจัดหายานพาหนะที่เหมาะสมและเพียงพอกับจำนวนคน ระยะทางและระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง แต่กลับหารถยนต์บรรทุกมาเพียง 25 คัน ส่วนใหญ่มีสภาพไม่เหมาะสมในการขนย้ายผู้ถูกควบคุม ใช้เวลาเดินทางนานถึง 5-6 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร โดยผู้ถูกขนย้ายไม่สามารถขยับเขยื้อนตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบทได้เลย บางรายถูกทหารบนรถเหยียบหลัง ใช้พานท้ายปืนตี
นี่คือตัวอย่างคำฟ้อง ซึ่งบรรยายอย่างละเอียด และยังมีข้อเท็จจริงประกอบในสำนวนคดี
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์หน้าเดิม” ที่พูดกันมา 20 ปี และวันนี้กำลังจะถูกพิสูจน์ในชั้นศาล
อ่านประกอบ : ยิงแนวระนาบม็อบสลาย - ทำร้ายสารพัดขณะลำเลียงผู้ชุมนุม
@@ เปิดข้อต่อสู้ 7 จำเลย สาเหตุการตายไม่ใช่รัฐทำ!
ส่วนประวัติศาสตร์ที่อาจเรียกว่า “หน้าใหม่” หรือ “ข้อเท็จจริงใหม่” ที่กลุ่มจำเลย 7 ราย เตรียมนำไปสู้คดีในชั้นศาล มีข้อเท็จจริงโดยสรุปแบบนี้
1.ก่อนเกิดเหตุการณ์ตากใบ มีการสร้างสถานการณ์แบบอื่นในพื้นที่มาก่อน โดยเฉพาะการประกาศให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ตลาดร้านค้าหยุดทำการ และเชิญชวนไปชุมนุมประท้วง
2.ขณะเกิดเหตุ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ได้เดินเข้า-ออกสถานที่ชุมนุมหลายครั้ง เพื่อเจรจาในแนวทางสันติวิธี ได้เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่ามตากใบ พ่อแม่ผู้ต้องหา (ที่ถูกจับกุมกรณีปืน ชรบ.ถูกปล้น) มาเจรจา มีการเสนอใช้ตำแหน่งช่วยประกันตัว แต่เป็นวันหยุด ศาลปิดทำการ จึงให้นัดกันใหม่ แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม มีการขว้างปา และลุกฮือขึ้นมา
3.การสลายการชุมนุม มีการประกาศชัดเจน “ห้ามใช้อาวุธ” ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ฉีดน้ำกันผู้ชุมนุม แต่เนื่องจากผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่จำกัด เกิดการชลมุน และเหยียบกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนหลายพื้นที่ในต่างประเทศ เช่น เหตุที่สะพานไทย-กัมพูชาวันลอยกระทง เมื่อหลายปีที่ผ่านมา การเหยียบกันที่สนามฟุตบอลในประเทศอังกฤษ การไปกระทำพิธีที่เมกกะ และช่วงปีใหม่ปีก่อนที่เกาหลีใต้
ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธ จนเจ้าหน้าที่ไดัรับการบาดเจ็บจำนวนมาก
4.การขนย้ายผู้ชุมนุมเพื่อจะไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถ โดยให้ยืนไป เนื่องจากเป็นเหตุฉุกเฉิน รถมีจำนวนจำกัด และเมื่อออกรถ ทำให้เกิดการล้มทับกัน
เหตุการณ์ในส่วนนี้ มีผู้สื่อข่าวถ่ายภาพได้ แล้วส่งไปให้บรรณาธิการตีพิมพ์ทันที ข่าวจึงออกไป ทั้งที่ไม่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด
เพราะต่อมา แม่ทัพภาคที่ 4 เห็นเหตุการณ์ ได้สั่งให้นำผู้ชุมนุมลงจากรถ และให้มีการนำรถมาเพิ่มเติมอีก 26 คัน สั่งให้ผู้ชุมนุมนั่งไป จากนั้นตัวแม่ทัพออกจากพื้นที่ไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ
ภายหลังหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าว ได้มีการทำหนังสือยืนยันข้อเท็จจริงใหม่ และใช้ในการพิจารณาคดีอื่นในศาลว่า แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการให้นำผู้ชุมนุมลงจากรถ ไม่ให้มีการลำเลียงทับซ้อนกันไป
5.ต่อมาขบวนรถเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมถูกขัดขวางโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี นำรถมาจอดขวาง 5-7 คัน และวางตะปูเรือใบ มีการเผายางรถยนต์ขวางถนน ทำให้การเคลื่อนย้าย แทนที่จะเป็น 1 ชั่วโมงครึ่ง กลายเป็น 3 ชั่วโมงกว่า และรถคันสุดท้ายใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมที่ถือศีลอด และบอบช้ำจากเหตุชุลมุนทยอยเสียชีวิตบนรถ
ตรงกันข้าม หากขบวนรถไปถึงตามกำหนด แล้วผู้ชุมนุมไปเสียชีวิตที่ค่าย จะไม่สามาถหาคำตอบให้สังคมได้เลย
นี่คือข้อเท็จจริงใหม่ที่เรายกมา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น “เรื่องราวอีกด้าน” ของคดีตากใบ
ส่วนข้อเท็จจริงไหนจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง ต้องรอศาลสถิตย์ยุติธรรม!
อ่านประกอบ : เปิดชื่อ “7 จำเลย - 4 ข้อหาคดีตากใบ” หลังศาลประทับฟ้อง