เปิดคำฟ้องญาติเหยื่อตากใบฟ้อง “อดีตบิ๊ก ขรก.” สั่งสลายการชุมนุม เคลื่อนย้ายคลื่นมนุษย์ขึ้นรถยีเอ็มซี เชื่อเจตนาเล็งเห็นผลฆ่าผู้อื่น ใช้กระสุนจริงยิงแนวระนาบใส่ม็อบ-ประชาชน จับมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำซ้อนทับหลายชั้น ผ้าใบคลุมจนขาดอากาศหายใจตาย 78 ศพ บาดเจ็บทุพพลภาพถาวรอีกเพียบ ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย 12 ก.ย.นี้
หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่ อ578/2567 ที่ น.ส.ฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ผู้แทน นายอาแวเลาะ ปะจูกูเล็ง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส กับพวกรวม 48 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กับพวกรวม 9 คนเป็นจำเลย ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย พยายามฆ่า หน่วงเหนี่ยวกักขัง ข่มขืนใจโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ แต่ศาลรับฟ้องเพียง 7 คน โดยได้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 7 รวมถึงรับฟ้องบางข้อหา และยกฟ้องบางข้อหานั้น
ความน่าสนใจของคดีนี้อยู่ที่คำฟ้องฝ่ายโจทก์ซึ่งอ้างพยานหลักฐานต่างๆ บางเรื่องแทบไม่เคยถูกเปิดเผยอย่างละเอียดมาก่อน
แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้หมายความว่า ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยคือผู้กระทำผิดตามฟ้อง เพราะยังสามารถต่อสู้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ได้ และศาลก็ยังไม่ได้ชี้ขาดใดๆ เป็นเพียงข้อกล่าวหาฝ่ายเดียวที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
@@ เปิดพฤติการณ์สลายม็อบ - ทำร้ายสารพัดขณะลำเลียงผู้ชุมนุม
ฟ้องโจทก์สรุปว่า จำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ยศพลโท เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ กำกับการ และปฎิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีอำนาจสั่งการ ควบคุมสถานการณ์เกี่ยวกับกรณีที่มีประชาชนชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และการขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ขณะเกิดเหตุเป็นพื้นที่ประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ส่วนจำเลยที่เหลือมีหน้าที่รับคำสั่งและปฎิบัติตามคำสั่ง หรือปฎิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 1 บัญชาการณ์เหตุการณ์ ได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 เวลากลางวัน มีประชาชนจำนวนหลายร้อยคนชุมนุมกันโดยสงบปราศจากอาวุธ ที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เรียกร้องความเป็นธรรมให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ อันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ผู้ตายที่ 1-34 กับโจทก์ที่ 35-48 เป็นประชาชนใน จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา เดินผ่านใกล้บริเวณที่มีการชุมนุมกันดังกล่าว ได้เดินเข้ามาดูเหตุการณ์ตามวิสัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้สั่งการให้จำเลยที่ 3 นำกำลังทหารและหน่วยนาวิกโยธินผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยที่ 4-7 นำกำลังตำรวจหน่วยปฎิบัติการพิเศษ (นปพ.) จำเลยที่ 8-9 นำกำลังอาสารักษาดินแดน พร้อมอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม บรรจุกระสุนจริง มาประกอบกำลังเข้าทำการสลายการชุมนุม โดยใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา และใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมในแนวระนาบเข้าไปยังบริเวณที่มีประชาชนชุมนุมอยู่จำนวนมาก โดยเล็งเห็นผลได้ว่าประชาชนที่อยู่ในที่ชุมนุมจะได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้
ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืน 6 คน บาดเจ็บสาหัสไปเสียชีวิตที่ โรงพยาบาลอีก 1 คน นอกจากนี้ยังมีประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกหลายคน บางคนพิการตาบอดทุพพลภาพถาวร
นอกจากนี้จำเลยที่ 1-9 ยังได้นำกำลังผู้ใต้บังคับบัญชา ร่วมกันปิดล้อมและบังคับให้ประชาชนนอนคว่ำหน้ากับพื้น ถอดเสื้อ แล้วใช้เชือกหรือเสื้อมัดมือไพล่หลัง บังคับให้คลานไปข้างหน้าโดยใช้ไหล่ หน้าอกและท้องดันลำตัวคืบไปกับพื้น อันเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมอย่างป่าเถื่อน
มีการฉุดกระชากลากจูงผู้ชุมนุม ชกต่อยเตะ กระทืบด้วยรองเท้าของทหาร ใช้ไม้ตี ใช้สายเข็มขัดฟาด คุมตัวไปบังคับให้นอนคว่ำบนพื้นคอนกรีตและพื้นถนนอย่างทารุณโหดร้ายและทรมาน ก่อนลำเลียงขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร และได้ร่วมกันยึดทรัพย์กระเป๋าสตางค์ นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ ของผู้ชุมนุมไป
จำเลยที่ 1 และ 3 ได้สั่งให้นำรถบรรทุกราชการทหารและตำรวจ 25 คัน มาลำเลียงประชาชนที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งอยู่ในสภาพถอดเสื้อถูกมัดมือไพล่หลัง ร่างกายอ่อนเพลียจากการถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่างทารุณโหดร้าย และอยู่ในระหว่างถือศีลอด ดึงกระชากตัวขึ้นไปบนรถบรรทุกที่ไม่มีบันได แล้วบังคับให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถขณะถูกมัดมือไพล่หลัง แล้ววางร่างของประชาชนให้นอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ 4-5 ชั้น คันละ 50-60 คน คลุมด้วยผ้าใบ ทำให้อากาศภายในรถถ่ายเทไม่สะดวก โดยมีทหารถือปืนคุมไปกับรถคันละ 5-6 คน เบียดเสียดกันเหมือนกับบรรทุกผักปลา โดยไม่แจ้งข้อหาว่าถูกจับข้อหาใด จะนำไปที่แห่งไหน เพื่ออะไร
ทำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 78 คน บางคนร่างกายถูกทับจนขาดอากาศหายใจ บางคนคอหักตายอย่างทารุณโหดร้ายและทรมาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกทับอยู่ชั้นล่าง บางคันมีผู้ตายถึง 21 คน บางคันสูงถึง 23 คน ส่วนคนที่ไม่ตายก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
การกระทำของจำเลยที่ 1-9 ดังกล่าวข้างต้น มีเจตนาเล็งเห็นผล และเป็นการกระทำโดยทรมานและทารุณโหดร้าย เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1-34 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 35-48 ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งที่ต้องทราบดีว่าการขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวกว่า 1,200 คน จะต้องจัดหายานพาหนะที่เหมาะสมและเพียงพอกับจำนวนคน ระยะทางและระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง แต่กลับหารถยนต์บรรทุกมาเพียง 25 คัน ส่วนใหญ่มีสภาพไม่เหมาะสมในการขนย้ายผู้ถูกควบคุม ใช้เวลาเดินทางนานถึง 5-6 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร โดยผู้ถูกขนย้ายไม่สามารถขยับเขยื้อนตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบทได้เลย บางรายถูกทหารบนรถเหยียบหลัง ใช้พานท้ายปืนตี
อนึ่ง ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นคำบรรยายฟ้องของฝ่ายโจทก์เท่านั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ความจริง และยังไม่มีคำให้การโต้แย้งจากฝ่ายจำเลย
@@ ศาลรับฟ้องข้อหาหนัก “ร่วมกันฆ่าผู้อื่น”
คดีนี้ น.ส.ฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง กับพวก ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 โดยไม่ผ่านพนักงานอัยการ ศาลจึงได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ภายหลังโจทก์นำพยานขึ้นไต่สวนมูลฟ้องเเล้ว ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่ามีมูล มีคำสั่งประทับฟ้อง เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1, 3-6 และ 8, 9 มีมูลความผิดในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย, หน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงเเก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 มาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
แต่ให้ยกฟ้องในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นรับอันตรายสาหัสโดยกระทำทารุณโหดร้าย
@@ ยกฟ้อง 2 จำเลย เหตุไม่ได้อยู่ร่วมตอนจับกุมขึ้นยีเอ็มซี
ทั้งให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) และจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็น รอง ผกก.สภ.ตากใบ (ในขณะนั้น) โดยศาลให้เหตุผลในคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ไปปฏิบัติหน้าที่รอรับคนที่ถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ไม่ได้อยู่ร่วมตอนเหตุการณ์ในการจับและการควบคุม
การที่จำเลยที่ 2 รอรับคนแล้วทราบว่า มีคนเสียชีวิต มีการบรรทุกไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ไม่แก้ไขหรือแจ้งให้มีการแก้ไขให้ไม่เกิดความสูญเสีย จำเลยไม่ได้ทำตรงนี้ ถือว่าละเลย ศาลยังมองว่าไม่ถึงกับเข้าข่ายฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
ส่วนกรณีจำเลยที่ 7 ศาลเห็นว่าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณสามแยกตากใบ ในการตั้งด่านสกัดคนแล้วมีการไปทำเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน
ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 7 เเละตรวจพยานหลักฐานเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 12 ก.ย.2567