ใกล้ครบ 1 เดือนของเหตุการณ์คาร์บอมบ์ พร้อมระเบิดแสวงเครื่องอีก 2 จุด รวม 3 จุด บนถนนทางเข้าท่าเทียบเรือประมงปัตตานี เมื่อวันที่ 9 ส.ค.67
จุดเกิดเหตุที่ทำให้หลายฝ่ายจับตาเหตุการณ์นี้ คือ คาร์บอมบ์ข้างกำแพงกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นคาร์บอมบ์ลูกที่ 2 ของปีนี้ และก่อความเสียหายบริเวณใกล้กับหน่วยงานของตำรวจ ซึ่งระยะหลังตกเป็นเป้าหมายของคาร์บอมบ์บ่อยครั้ง
คนร้ายประกอบระเบิดแสวงเครื่องใส่ในรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน รุ่นนาวารา สีเทา ป้ายทะเบียนสงขลา
ประเด็นที่นาสนใจคือ “ที่มาของรถคาร์บอมบ์” ไม่ใช่รถโจรกรรมที่จะมีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่
แต่ระยะหลังๆ ใช้รถจำนำจากเต็นท์รถ หรือรถที่ขายต่อๆ กันในอินเทอร์เน็ต ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสกัดจับได้ เพราะไม่ใช่รถขโมย หรือรถผิดกฎหมาย กลายเป็นช่องโหว่ช่องใหม่ให้คนร้ายก่อเหตุได้เสรีมากขึ้น
@@ ยืนยันข้อมูล “รถจำนำทำคาร์บอมบ์”
พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เผยถึงความคืบหน้าของคดี โดยยอมรับว่า ได้มีการตรวจสอบเต็นท์รถ ซึ่งครอบครองรถนิสสัน นาวารา ก่อนจะถูกนำมาใช้ทำคาร์บอมบ์
“เจ้าของเต็นท์รถในสงขลายอมรับว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายรถยนต์จริง แต่ไม่เกี่ยวในการก่อเหตุระเบิด ตอนนี้รอพิสูจน์ทราบ แต่ขั้นต้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการระเบิด และคำให้การของเขาก็เป็นประโยชน์ ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า กลุ่มคนร้ายคือคนที่ซื้อรถมาจากคนกลางอีกที ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทราบชื่อหมดแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อออกหมายจับ” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ระบุ
@@ ราคารถ 6 หมื่น มัดจำ 3 พัน แผนประทุษกรรมซ้ำปี 66
หน่วยข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ ขยายข้อมูลเพิ่มเติมว่า “รถที่คนร้ายนำมาใช้เป็นคาร์บอมบ์ เป็นรถกระบะ ป้ายทะเบียนจังหวัดสงขลา สถานภาพปกติ ไม่ได้มีการแจ้งหาย จึงไม่ได้อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของฝ่ายความมั่นคง”
“เมื่อตรวจสอบเชิงลึกพบว่า รถกระบะคันนี้เป็นรถหลุดจำนำ เจ้าของอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี เคยประกาศขายรถไว้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ก่อนจะมีนายหน้ารับซื้อ และขายต่อกันมาเป็นทอดๆ ลักษณะโอนลอยไว้ในราคาเพียง 6 หมื่นกว่าเท่านั้น”
“กระทั่ง นายเปาซี ชาวบ้านอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นผู้โอนเงินมัดจำ 3,000 บาท นัดส่งมอบรถกันในวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนนำระเบิดไปซุกซ่อนทำคาร์บอมบ์ ก่อเหตุวันที่ 9 ส.ค.”
หน่วยข่าวในพื้นที่ยืนยันว่า แผนประทุษกรรมแบบนี้เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่น เหตุคาร์บอมบ์วันที่ 5 ส.ค.ปีที่แล้ว บริเวณสี่แยกอรกานต์ ใกล้จุดตรวจเฉพาะกิจในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
“เคสนั้นคนร้ายก็ซื้อรถหลุดจำนำในราคาแค่ 30 เปอร์เซ็นต์จากราคาท้องตลาด เป็นยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโซลูน่า ป้ายทะเบียนจังหวัดสงขลา มาก่อเหตุคาร์บอมบ์เช่นเดียวกัน”
@@ รถโอนลอยเกลื่อนออนไลน์ คนร้ายช้อปสบายทำคาร์บอมบ์
ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ผู้ก่อเหตุในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หันมาใช้ “รถหลุดจำนำ” หรือรถที่ถูกขายต่อแล้วนำมาดัดแปลงผลิตเป็นคาร์บอมบ์มากขึ้น แทนการใช้รถยนต์ที่ถูกโจรกรรม สาเหตุหลักมาจากการซื้อขายรถยนต์มือสองที่ทำได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้การเข้าถึงรถยนต์ที่มีราคาถูก หรือไม่มีเอกสารที่ยืนยันตัวตนเป็นไปได้มาก และยากในการป้องกัน ซ้ำยังตรวจสอบแหล่งที่มายากกว่าเดิม
สอดคล้องกับข้อมูลของชุดเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พ.ต.ท.อิทธิศักดิ์ ค้ำคูณ รองผู้กำกับการชุดเฉพาะกิจฯ ที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับรายการ “สืบสวนความจริง เนชั่นทีวี” ว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่นำมาก่อเหตุอาชญากรรมส่วนใหญ่ มีเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบริษัทสินเชื่อรถยนต์แทบทั้งสิ้น ผู้ครอบครองได้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทไฟแนนซ์ จากนั้นนำรถยนต์ไปจำนำต่อในราคาถูก ก่อนจะเปลี่ยนมือ แต่ไม่เปลี่ยนชื่อ กลายเป็นรถผิดกฎหมายที่ขายกันเกลื่อนในแพลตฟอร์มออนไลน์
@@ เต็นท์รถสงสัย จ่าย 3 พันได้รถไปทำคาร์บอมบ์
เรื่องการซื้อรถต่อจากเต็นท์ แม้จะมีคนกลางรับช่วงมาอีกทอดหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแผนประทุษกรรมในปฏิบัติการคาร์บอมบ์ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 ส.ค. เพราะมีข้อมูลว่าคนร้ายใช้บุคคลอื่น ติดต่อวางมัดจำรถแค่ 3,000 บาท ก็ได้รถมาขับ และนำไปทำคาร์บอมบ์ทันที
ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ที่วางเงินแค่ 3,000 บาท ก็นำรถไปใช้ได้แล้ว
“ทีมข่าวอิศรา” คุยกับเจ้าของเต็นท์รถยนต์ใน จ.ยะลา อธิบายเอาไว้น่าสนใจ
“การซื้อขายรถลักษณะนี้ ก็เหมือนขายหน้าเต็นท์ ซึ่งมี 2 กรณี คือ หนึ่ง หากขายให้คนรู้จักหรือเพื่อนสนิทมีความไว้วางใจกัน มัดจำ 3,000 บาท ก็ถือว่าทำได้ และทำกันปกติ จากนั้นก็นัดวันมาทำสัญญา”
“สอง ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักเลย ไม่มีทางที่จะโอนค่ามัดจำแค่ 3,000 บาท แล้วให้รถไปใช้ ไม่ว่ารถยนต์คันนั้นจะรุ่นเก่าขนาดไหน ราคาไม่กี่บาทก็ไม่มีทางเป็นไปได้ หรือหากมีอะไรที่ทำให้ตัดสินใจรับค่ามัดจำจำนวนนั้นจริงๆ ก็ต้องทำสัญญา มีรายละเอียดที่ชัดเจน ไม่ใช่ลอยๆ ไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งปกติไม่มีแน่นอน”
เจ้าของเต็นท์รถในยะลา ซึ่งทำธุรกิจมานาน ย้ำความเชื่อจากประสบการณ์ของตนอีกครั้ง
“คนไม่รู้จักมาซื้อรถทางออนไลน์ มัดจำ 3,000 บาทแล้วให้รถไป อย่างน้อยต้องสนิทคุ้นเคยกันมาก่อน ไว้ใจกัน ไม่อย่างนั้นไม่มีทาง”
@@ ลวงเหยื่อโอนเงิน รับเคราะเหมือน “บัญชีม้า”?
ข้อมูลนี้อาจกลายเป็นข้อสังเกตและนำไปสู่ข้อสันนิษฐานได้ว่า ขบวนการก่อความไม่สงบแฝงตัวอยู่ในเครือข่ายซื้อขายรถทางออนไลน์ด้วยหรือไม่ หรือเป็นแค่ผู้ซื้อที่คัตเอาต์ตัวเองออกจากเส้นทางธุรกรรม
โดยใช้เหยื่อที่มีลักษณะเหมือน “บัญชีม้า” โอนเงินให้แทน!