การทำงานร่วมกับองค์กรต่างประเทศ ทั้งองค์กรของรัฐ ของรัฐนานาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชน ถือเป็นอีกหนึ่งหน้างานสำคัญของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
เพราะนอกจากจะช่วยเสริมงานพัฒนา งานสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน รวมถึงงานสร้างสันติภาพแล้ว ยังช่วยเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ให้การต้อนรับ นายมูฮัมหมัด ราฟิค คาน หัวหน้างานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF) พร้อมคณะ ซึ่งเดินทางไปยัง ศอ.บต. เพื่อพบปะผู้บริหารและหารือการขับเคลื่อนแผนงาน (Work plan) ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาแนวทางในการพัฒนาแผนงานฉบับใหม่สองปี (สำหรับปี พ.ศ.2568 และ 2569) โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายมูฮัมหมัด ราฟิค คาน ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนแผนงาน (Work plan) หลังจากได้มีการลงนามแผนงานฉบับแรกร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต. และยูนิเซฟ ในการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และนำเสนอแผนงานในการขับเคลื่อนงานในอนาคต รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข
สำหรับการลงนามขับเคลื่อนแผนงานในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีการลงนามฉบับแรกในวันที่ 21 มี.ค.67 โดยความร่วมมือในครั้งนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและครอบครัว ด้วยการเสริมสร้างกลไกคุ้มครองเด็กในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็งเพื่อเอื้อให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ อาทิ การศึกษา บริการด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต สถานะทางบุคคล และอื่นๆ
ทั้งนี้การขับเคลื่อนแผนงาน (Work plan) ในปีนี้ จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ หรือกรอบเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันไว้
นอกจากนั้น ทางยูนิเซฟได้มีข้อเสนอในการขับเคลื่อนแผนงาน (Work plan) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ให้มีการทำเวิร์คชอป หรือประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่างยูนิเซฟ ศอ.บต. และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจในการพัฒนาแผนงานที่จะขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปในอีก 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดในเดือน พ.ย.หรือ ธ.ค.ที่จะถึงนี้
อนึ่ง การดำเนินงานระหว่างยูนิเซฟ และ ศอ.บต. มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผ่านศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ ศอ.บต. เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบคุ้มครองเด็ก, การใช้ประโยชน์จากข้อมูล รายงาน และการศึกษาต่าง ๆ ที่ทางยูนิเซฟได้จัดทำขึ้น โดยนำไปใช้ในการกำหนดแผนงานเชิงกลยุทธ์และนโยบายขององค์กร และการให้การสนับสนุนเด็กและครอบครัวในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นช่วงอุทกภัย หรือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่
ความร่วมมืออย่างเป็นทางการในครั้งนี้จะช่วยให้การขับเคลื่อนงานเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวในจังหวัดชายแดนใต้และประเทศไทยต่อไป
@@ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก แนะนำผู้ประสานงานคนใหม่ที่ปัตตานี
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้พบปะและให้การต้อนรับ คณะมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save The Children) นำโดย นายกิโลเม่ อเลน พอล อองรี ราชู ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ
การพบปะดังกล่าวมีวาระสำคัญคือ เพื่อแนะนำ นายอัมราน วานิ หัวหน้าผู้ประสานงานอาวุโส มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก สำนักงานปัตตานี คนใหม่ ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานการทำงานเรื่องเด็กในพื้นที่จังหว้ัดชายแดนภาคใต้และส่วนกลาง ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่
โดยผู้แทนมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิว่า ขณะนี้กำลังดำเนินงาน 3 โครงการ คือ
1.ด้านการศึกษาในพื้นที่ โดยการจัดศูนย์การเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆในช่วงปิดภาคเรียน 6 ชุมชนในพื้นที่ จ.ยะลา
2.งานคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ศอ.บต. พมจ. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) และกลุ่มลูกเหรียง ในการส่งเสริมให้เด็กสามารถป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3.โครงการส่งเสริมความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบต่อเด็กอย่างไร โดยทำงานร่วมกับชุมชน ให้ชุมชนได้เข้าใจเรื่องดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ร่วมหาวิธีช่วยลดโลกร้อน อาทิ การแยกขยะ
@@ เสนอทำ “โครงการอาชีพ” ในสถานพินิจฯชายแดนใต้
ด้านเลขาธิการ ศอ.บต. เสนอให้จัดทำโครงการอาชีพ หรือโครงการอื่นๆ ที่มูลินิธิได้ทำอยู่แล้ว โดยไปดำเนินการในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.ยะลา และจังหวัดอื่นๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถเข้าไปสนับสนุน ให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ ใช้เวลา 2-3 ปีก็จะออกมาใช้ชีวิตข้างนอก
ดังนั้นความรู้สำหรับเยาวชนกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อยกระดับให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต
”เยาวชนต้องโทษส่วนใหญ่ เมื่อถามภูมิหลังแล้ว เกือบทั้งหมดปัญหาครอบครัว พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว อยู่กับตายาย ไม่ได้รับความรักและการอบรมเท่าที่ควร รองลงมาเกิดจากปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คู่กับปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน สำหรับอันดับสุดท้ายคือ ปัญหายาเสพติดที่จะโยงไปสู่ที่มาของปัญหาแรก นั่นก็คือ ปัญหาครอบครัว” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ คณะมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก จะนำข้อเสนอของ เลขาธิการ ศอ.บต.ไปพิจารณาเพื่อดำเนินงานให้สอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขและยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป