มีคนพูดกันว่าการเปลี่ยนรัฐบาลรอบนี้ อาจนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นของประเทศไทย (หลังตกต่ำซ้ำๆ มาตลอดหลายปี)
แต่เมื่อหันไปดูความหมายในทางรัฐศาสตร์ของคำว่า “เสถียรภาพทางการเมือง” อาจทำให้รู้สึกสิ้นหวัง
เพราะ “เสถียรภาพทางการเมือง” หมายถึง
- สภาพที่ประเทศมีความมั่นคงในระบบการเมือง
- การทำงานของรัฐบาลที่มีประสิทธิผล
- ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง
- กลุ่มคนต่างๆในประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความสมานฉันท์
ขณะที่ปัจจัยซึ่งเอื้อต่อ “เสถียรภาพทางการเมือง” ได้แก่
- การทำงานของรัฐที่มีประสิทธิผลอยู่บนพื้นฐานของการยึดมั่นในหลักนิติธรรม
- ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมดี ไร้ความรุนแรง ไม่แบ่งแยก ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
- เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กล่าวกับ “เนชั่นทีวี” ว่า เมื่อพิจารณาความหมายและปัจจัยที่เอื้อต่อ “เสถียรภาพทางการเมืองแล้ว” เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยยังอยู่ห่างไกล
หนำซ้ำเมื่อถามถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ จะพบบรรยากาศที่ประชาชนเฝ้ารอหลายสิ่ง แต่ยังไม่ได้ดังหวัง
@@ รัฐบาลเศรษฐาสอบตก
จากการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปลายปีที่แล้วพบว่า ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็คือรัฐบาลเศรษฐา ยังมีประเด็นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดอยู่หลายประเด็น เช่น
- เรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
- ราคาน้ำมัน
- เรื่องยาเสพติด
- เรื่องผู้มีอิทธิพล
- เรื่องการทุจริต
- การแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดภาคใต้
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผลสำรวจชี้ชัดว่า ประชาชนมีความรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการใส่ใจมากนักในปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้มองไม่เห็นผลงานของรัฐบาลเศรษฐา
จริงๆ แล้วในภาคการเมือง รัฐบาลเป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งมาโดยตลอด เคยได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนโดยภาพรวมเมื่อ 22 ปีที่แล้วอยู่ที่ระดับร้อยละ 69 แต่ระยะหลังเหลือเพียงร้อยละ 20.2 หรือลดลงกว่าร้อยละ 40 โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลเศรษฐา
มาในปี 2566 เมื่อรัฐบาลเศรษฐามีโอกาสทำงานไประยะหนึ่ง กระทั่งถึงปี 2567 คือปีนี้เอง ผลการสำรวจพบว่าคะแนนความเชื่อมั่นโดยภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 37.9 นั่นคือเพิ่มขึ้นมา ถึงร้อยละ 17.7 แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจอยู่ดี เพราะได้คะแนนยังไม่ถึงครึ่ง กระทั่งรัฐบาลเศรษฐาต้องยุติการทำหน้าที่ไป
@@ กองทัพคะแนนวูบ
ขณะที่ความเชื่อมั่นในสถาบันการเมืองต่างๆตกต่ำอย่างมาก โดยจากการศึกษาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ของสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในอดีต หรือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 18 ถึง 25 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อมั่นในสถาบันทหารสูงที่สุด
กล่าวคือในปี 2544 เชื่อมั่นทหารสูงถึงร้อยละ 81.4 และประชาชนกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นทหารสูงสุด สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ
แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว คนกลุ่มนี้ซึ่งปัจจุบันนี้อายุประมาณ 30 ถึง 40 ปี มีความเชื่อมั่นในสถาบันทหารเพียง 13.5% เท่านั้น
@@ “อุ๊งอิ๊ง 1” ไร้เวลาฮันนีมูน
อาจารย์ถวิลวดี แจกแจงอีกว่า ในส่วนของรัฐสภา เป็นสถาบันที่ความเชื่อมั่นไม่สูงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับสถาบันอื่นเพราะเมื่อ 22 ปีที่แล้วความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ประมาณร้อยละ 59.3
ขณะที่ความเชื่อมั่น 22 ปีให้หลัง คือปัจจบันนี้ เหลืออยู่ที่ร้อยละ 29.3 เท่านั้น และแน่นอนว่าความเชื่อมั่นในสถาบันการเมืองเหล่านี้ต่ำสุดก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่
จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคของวิกฤติความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองที่เป็นโจทย์ใหญ่ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งดำเนินการสร้างผลงานให้เป็นที่ศรัทธากับประชาชน เพราะรัฐบาลจะไม่มีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์แม้แต่วันเดียว
@@ กกต.ร่อแร่
อาจารย์ถวิลวดี เผยผลสำรวจต่อว่า สถาบันการเมืองที่น่าสนใจอีกสถาบันหนึ่ง ก็คือองค์กรอิสระ
ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าได้ทำการศึกษาหลายองค์กร แต่ขอกล่าวถึงองค์กรที่สำคัญมากและเป็นที่จับตาของประชาชนที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.
เมื่อ 22 ปีที่ผ่านมาคะแนนนิยมหรือความเชื่อมั่นขององค์กรนี้อยู่ที่ร้อยละ 70.2 แต่สองทศวรรษผ่านไปคะแนนนิยมเหลือเพียงร้อยละ 25.7 ลดลงกว่าร้อยละ 40
ขณะที่กลุ่มประชาชนที่เชื่อมั่น กกต.ต่ำสุดก็คือคนรุ่นใหม่ ทั้งๆ ที่ในอดีตคนรุ่นใหม่จะเชื่อมั่นกกต. ในระดับร้อยละ 68
และกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคนั้น ในเวลาต่อมาพวกเขาก็เปลี่ยนใจเหลือคะแนนความเชื่อมั่นให้ กกต.ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น
@@ ”อปท.-ท้องถิ่น“ ได้ใจประชาชน
อาจารย์ถวิลวดี ขมวดปมทิ้งท้ายว่า ประเด็นที่น่าสนใจจากการศึกษาของสถาบันปกเกล้าร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี 2567 พบว่าสถาบันที่มีคะแนนสูงกว่าสถาบันรัฐอื่นๆ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.
เพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูงถึงร้อยละ 72.7 ซึ่งสูงกว่า สส. สูงกว่าสถาบันพรรคการเมือง สูงกว่าวุฒิสภา สูงกว่ารัฐบาล และสูงกว่านายกรัฐมนตรี
นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนรู้สึกพอใจต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดกับพวกเขา
ตรงกันข้ามกับสถาบันการเมืองสำคัญก็คือรัฐสภาที่ได้คะแนนค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะวุฒิสภา ประชาชนเชื่อมั่นร้อยละ 35.7 สภาผู้แทนราษฎรร้อยละ 46.3 ซึ่งการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษา สว.ชุดใหม่ ไม่ใช่ชุดใหม่ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “สว.สายสีน้ำเงิน”