ควันหลงการพบปะกันระหว่าง นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ของไทย กับ นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ที่สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ฝั่งไทย และเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ฝั่งมาเลย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน มีแต่ข่าวและภาพข่าวแห่งความชื่นมื่นกับมิตรภาพปรากฏออกมา
เมื่อไปพบกันที่สุไหงโก-ลก และรันเตาปันจัง ย่อมแปลว่าเนื้อหาสาระของการพูดคุยเจรจา เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ตรงนี้
และจากคำสัมภาษณ์ กับข้อมูลที่ออกมา ก็ปรากฏ 2 เรื่องสำคัญ คือ สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 กับการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำโก-ลก
เรื่องแรกเป็นข่าวมาแล้วค่อนข้างนาน โดยเฉพาะช่วงปีที่ผ่านมากับปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นข่าวในมุมโครงการพัฒนาที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเชื่อมความสัมพันธ์สองประเทศ
แต่ในมุมผลกระทบไม่ค่อยมีคนพูดถึง และอาจมีคนรับรู้น้อยมากเลยด้วยซ้ำ
@@ 11 ครัวเรือนเดือดร้อน - ไร้ที่อยู่ใหม่ ได้แค่เยียวยาเบื้องต้น
การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 11 ครัวเรือน
แม้จะไม่ใช่ชุมชนขนาดใหญ่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรละเลย หรือปล่อยใครทิ้งไว้ข้างหลัง
โนรีซา มะแซ ประธานชุมชนหัวสะพาน ซึ่งเป็นชุมชนใกล้จุดก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 เล่าว่า โครงการนี้เป็นโครงการสร้างสะพานคู่ขนานสะพานเดิม ทำให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชุมชนหัวสะพาน ซึ่งเป็นสะพานเดิม สร้างมา 50 ปีแล้ว ได้รับผลกระทบจำนวน 11 ครัวเรือน
ที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอ เทศบาล ลงพื้นที่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้างสะพานคู่ขนาน และประเมินมูลค่า รวมทั้งแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยา
แต่แน่นอนว่า ลึกๆ แล้วไม่มีใครอยากย้ายถิ่นที่อยู่...
“พื้นที่ที่ทางหน่วยงานภาครัฐเวนคืนนั้น เป็นที่ดินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีบ้านที่อยู่อาศัยของประชาชน จำนวน 11 หลัง และมีศาลาแปดเหลี่ยม จำนวน 1 หลัง รวมเป็น 12 หลัง การเวนคืนที่ดินครั้งนี้ ประชาชนในชุมชนหัวสะพานที่ได้รับผลกระทบหลักๆ คือเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะหากย้ายออกไปจะไปอยู่อาศัยที่ไหน เนื่องจากไม่มีที่อยู่อาศัยอื่น และไม่มีเงินพอที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ด้วยตัวเอง”
“ที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งบริษัทผู้รับเหมา หรือหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถจัดหาบ้านหรือที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้พวกเราได้ เนื่องจากไม่อยู่ในกรอบการเยียวยาตามระเบียบราชการ เนื่องจากที่ดินที่เวนคืนเป็นของรัฐ สิ่งที่หน่วยงานรัฐจะให้ความช่วยเหลือได้มีเพียงเงินเยียวยาที่บรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้พวกเราวิตกกังวลกันมาก”
ประธานชุมชนหัวสะพาน เปิดใจว่า ผู้ได้รับผลกระทบทุกคนเข้าใจและเห็นด้วยที่จะมีการสร้างสะพานคู่ขนานไทย-มาเลเซีย สุไหงโก-ลก - รันเตาปันจัง เพราะเห็นถึงประโยชน์ที่คนพื้นที่จะได้รับ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว รวมถึงความเจริญที่จะตามมา แต่อยากขอเรียกร้องให้ช่วยเหลือเรื่องการสร้างบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้วย
@@ ไปต่อไม่รออีกแล้ว ปักหมุดก่อสร้าง เม.ย.68
สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งแรก หรือสะพานเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กับ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ของไทย โดยเริ่มเปิดใช้เส้นทางมาประมาณ 50 ปี
ปัจจุบันไทยและมาเลเซียมีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกคู่ขนานกับสะพานเดิม ภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย, แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT และแผนงานพัฒนาของ ศอ.บต. โดยงบประมาณการก่อสร้างจะแบ่งคนละครึ่ง คาดการณ์ว่าการก่อสร้างจะเริ่มในเดือน เม.ย.2568 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ โครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2570
โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นรูปเรือกอและ สร้างทางด้านขวาของสะพานเดิม เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมี 4 ช่องทางจราจร โดยสะพานตัวเก่าจะใช้เป็นช่องทางขาออกไปมาเลเซีย ส่วนสะพานที่สร้างใหม่จะเป็นช่องทางขาเข้าไทย เสริมด้วยช่องทางของรถจักรยานยนต์
ประกอบกับด่านพรมแดนนี้ ประชาชนทั้งไทยและมาเลเซียเดินเท้าข้ามเป็นจำนวนมาก จึงมีช่องทางเดินที่มีหลังคาคลุมเชื่อมถึงด่านพรมแดนทั้ง 2 ฝั่ง
ฉะนั้นสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก จะเกิดประโยชน์ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ และผู้เดินเท้า มีความปลอดภัย เป็นระเบียบ และลดปัญหาการรอหน้าด่านฝั่งมาเลเซียได้มากยิ่งขึ้น
งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 160 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างตัวสะพานอย่างเดียว 110 ล้านบาท และงานถนน สิ่งประกอบในฝั่งไทยอีกประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งไทยและมาเลเซียอนุมัติแบบการก่อสร้างเป็น Detail Design และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากมีการลงนามข้อตกลงเรื่องการก่อสร้างซึ่งได้แต่งตั้งร่วมกัน รวมถึงมีการกำหนดเขตก่อสร้าง จากนั้น ต.ค.2567 จะเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเดือน เม.ย.2568
@@ ชื่นมื่น! เห็นชอบขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำ
เรื่องที่ 2 ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศหยิบมาเจรจาตกลงกัน และได้รับการเปิดเผยจาก นายกฯเศรษฐา ก็คือ เรื่องการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำโก-ลก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งเรื่องก่อสร้างสะพานคู่ขนาน และการขุดลอกสันดอน มีการหารือแบบ four eyes ซึ่งหมายถึงการพูดคุยกันเฉพาะผู้นำ 2 ชาติ 2 คนเท่านั้น
“มีการพูดคุยถึงเรื่องความมั่นคง ยกระดับการเจรจา และการรับฟังแผนการก่อสร้างโครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ซึ่งผมและนายกฯ มาเลเซีย เห็นตรงกันว่าสามารถย่นระยะเวลาได้ ทั้งก่อนการก่อสร้าง และระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้การค้าระหว่างสองประเทศดีขึ้น” เป็นส่วนหนึ่งของการหารือ จากการเปิดเผยของนายกฯเศรษฐา
และว่า “อีกเรื่องที่นายกฯ มาเลเซีย หยิบยกมาพูดคุย คือการขุดลอกแม่น้ำโก-ลก ที่ตื้นเขิน บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งการระบายน้ำไม่ดี และเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีภูมิประเทศต่ำ ทำให้มีปัญหาอย่างมาก ทางฝ่ายมาเลเซียขอความช่วยเหลือ ซึ่งในการหารือได้ข้อสรุปว่า จะสั่งการกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาความร่วมมือกันต่อไป”
“เรื่องนี้ คุณอนุทิน (อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย) จะรับไปดูแล โดยจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกปี เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นทรายที่มีคุณค่า อาจเปิดสัมปทานให้คนมาลงทุนในการทำให้แม่น้ำไหลได้อย่างสบาย”
@@ 3 ข้อสังเกต 7 คำถาม “ขุดสันดอนปากแม่น้ำ” กระทบเส้นเขตแดน?
เรื่องการขุดลอกสันดอน ดูเป็นข่าวดี ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจาก “ผู้รู้” ในหน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนี้
1.เรื่องขุดสันดอน หากเป็นเหมือนงานรูทีนธรรมดาๆ เพื่อเปิดทางน้ำไหล เหตุใดต้องจัดเป็นวาระการประชุมแบบ four eyes
2.มาเลเซียเป็นฝ่ายชวนไทยคุย แปลว่ามาเลเซียได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หรือไม่ก็ประสบปัญหาจากสภาพสันดอนขนาดใหญ่ จนปากแม่น้ำโก-ลกตื้นเขิน
3.มีการอ้างถึงการเปิดสัมปทานดูดทราย หรือขุดทราย ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็น “การลงทุนร่วมกัน”
“ผู้รู้” จากหน่วยงานด้านความมั่นคง ตั้งคำถามเอาไว้แบบนี้
- ปัญหาสันดอนปากแม่น้ำ มีมานานแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งมาพูดคุยตกลงกัน
- ที่ผ่านมาเคยมีการพยายามเจรจาเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฝ่ายไทยไม่ยินยอม หรือตกลงกันไม่ได้ใช่หรือไม่
- ปากแม่น้ำโก-ลก มีประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับเรื่อง “เส้นเขตแดน” ซึ่งทำข้อตกลงกันไว้ตั้งแต่มาเลเซียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สาระสำคัญคือยึดจุดกึ่งกลางของปากแม่น้ำ หากมีสันดอนก็ให้แบ่งกันคนละครึ่ง
- การขุดสันดอนจะทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบ และกระทบกับเส้นเขตแดนหรือไม่
- รัฐบาลในอดีตที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ เคยมีความพยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่ถูกคัดค้านจากฝ่ายความมั่นคงแบบหัวชนฝา จนต้องพับโครงการไป การที่โครงการนี้ถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งเกี่ยวพันกับอดีตนายกฯทักษิณ ถือว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่
- ก่อนการพบปะกันระหว่างนายกฯเศรษฐา กับนายกฯ อันวาร์ เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้นำมาเลเซียเคยเดินทางมาพบกับอดีตนายกฯทักษิณอย่างเงียบๆ ที่ จ.ภูเก็ต ช่วงราวๆ ปลายเดือน เม.ย. แต่ไม่มีรายละเอียดของการพูดคุยหารือ
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ และมีข้อแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพราะมาเลเซียได้ประโยชน์หากไทยอนุญาตให้ขุดลอกสันดอนได้ (เนื่องจากมาเลเซียเป็นฝ่ายชวนคุย)
“ข้อแลกเปลี่ยน” หากมีจริง คืออะไร? และการขุดลอกสันดอนกระทบอะไรกับเส้นเขตแดนหรือไม่?
เป็นคำถามที่หาคำตอบอะไรไม่ได้เลยจากคำสัมภาษณ์อย่างชื่นมื่นของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน