“คดีตากใบ” ที่ศูนย์ทนายความมุสลิมพาชาวบ้านผู้เสียหาย ซึ่งเป็นญาติและครอบครัวของผู้สูญเสีย ยื่นฟ้องคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ก่อนหมดอายุความเพียงไม่กี่เดือนนั้น เดินทางมาถึงจุดสำคัญแห่งคดี
วันศุกร์ที่ 19 ก.ค.67 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อเนื่อง เพื่อไต่สวนพยานต่ออีก 2 ปาก จากทั้งหมด 3 ปาก ตามที่ทนายฝ่ายโจทก์ (ญาติและครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ) ได้เสนอต่อศาล
ทั้งนี้ ศาลนัดไต่สวนต่อเนื่องในวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. เพื่อดำเนินการเพิ่มเติมหากจำเป็น และนัดอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี ในวันที่ 23 ส.ค. จากนั้นศาลจะกำหนดนัดฟังคำสั่งต่อไปว่าคดีมีมูลเพียงพอที่จะรับฟ้องหรือไม่
การไต่สวนมูลฟ้องดำเนินไปทั้งหมด 3 นัด คือ วันที่ 24 และ 25 มิ.ย. และ 19 ก.ค.67 โดยศาลเริ่มไต่สวนพยานปากแรก ในวันที่ 24 มิ.ย. เป็นทนายความที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความให้ช่วยเหลือคดีชาวบ้านตากใบ ตั้งแต่ปี 2548
ต่อมาวันที่ 25 มิ.ย. ศาลมีคำสั่งเลื่อนการสืบพยานอีก 2 ปาก ได้แก่ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ทักท้วงว่า จำเลย (ฝ่ายผู้ถูกฟ้อง) ไม่ได้แต่งทนายมา และไม่ทราบวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 25 มิ.ย.ที่เพิ่ม แต่ศาลอนุญาตให้ญาติและผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นโจทก์ รวมถึงทนายความ แถลงคำคัดค้านข้อห่วงกังวล และความเดือดร้อนเสียหายต่อการเลื่อนนัดดังกล่าว บันทึกไว้ในสำนวน และนัดไต่สวนพยานอีก 2 ปากที่เหลือในวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา
อนึ่ง การไต่สวนมูลฟ้องเป็นกระบวนการตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง จึงต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ แตกต่างจากคดีที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ซึ่งศาลจะประทับรับฟ้องทันทีเมื่อพนักงานอัยการนำสำนวนมาศาลพร้อมจำเลย
สำหรับการไต่สวนมูลฟ้อง หากศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล และพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์และฎีกาได้ แต่หากศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ศาลก็จะสั่งประทับฟ้อง แล้วกำหนดวันนัดสอบคำให้การจำเลย และออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลเพื่อสอบคำให้การ หากจำเลยไม่มาในวันนัดตามที่ศาลออกหมายเรียก ก็จะมีการออกหมายจับต่อไป และต้องได้ตัวจำเลยมาศาลตามนัดให้ทันก่อนวันที่ 25 ต.ค.2567 ซึ่งเป็นกำหนดอายุความ 20 ปี หากไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล คดีก็ขาดอายุความฟ้อง
ส่วนอดีตข้าราชการระดับสูงที่เคยรับผิดชอบในเหตุการณ์ และถูกญาติผู้สูญเสียยื่นฟ้องครั้งนี้มี 9 ราย เป็นการฟ้อง 3 ข้อหาสำคัญ ซึ่ง “ศูนย์ข่าวอิศรา” เคยรายงานไว้แล้ว
อ่านประกอบ : ดีเดย์ไต่สวนมูลฟ้อง “คดีตากใบ” เปิดตัว 9 อดีตบิ๊ก ขรก.ร่วมในเหตุการณ์
@@ ตำรวจเพิ่งสั่งไม่ฟ้องคดีวิสามัญฯตากใบ
มีข้อมูลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ร่วมขับเคลื่อนคดีตากใบที่ประชาชนฟ้องเอง และข้อมูลจากศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุถึงความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม หลังคดีตากใบถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ซึ่งทั้งองค์กรสิทธิ์ และทนายมุสลิม มองว่าเป็นประเด็นที่แปลกประหลาดและน่าจับตา
1.ในวันที่ 25 เม.ย.67 ซึ่งเป็นเดียวกับที่ประชาชนยื่นฟ้องคดีตากใบเอง ปรากฏว่า ตำรวจภูธรภาค 9 ได้ส่งสำนวนเสนอความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ในสำนวนการสอบสวนกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ โดยมีความเห็นในหนังสือส่งถึงอัยการสูงสุดว่า “เป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย”
ปัจจุบันสำนวนยังคงอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งจะมีการพิจารณาสั่งคดีว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ โดยคดีนี้จะหมดอายุความในอีก 3 เดือน พร้อมกับคดีหลักตากใบ คือ 25 ต.ค.2567
@@ อสส.ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม
2.เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 ตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ได้รับหนังสือ อส.0031.3/348 จากสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่าอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรม ที่ผู้เสียหายได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีการดำเนินคดีอาญาในคดีการสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ซึ่งได้ยื่นแก่อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67
“ทั้ง 2 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของชาวบ้าน สร้างความประหลาดใจให้กับโจทก์และทีมทนายความ ว่าเหตุใดถึงมีคำสั่งลักษณะนี้ออกมา” แหล่งข่าวซึ่งเป็นทนายความมุสลิม ระบุ
@@ คาใจ “ขาดอากาศตาย” - สื่อไม่ตามเสนอข่าว
หนึ่งในตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิต เผยความรู้สึกหลังยื่นฟ้องคดีตากใบว่า “อีก 3 เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ตากใบ เราจึงรวมตัวพูดคุยกันว่าเราจะให้มันจบโดยไม่เดินเรื่องอะไรเลยหรือ หรือเราจะลองสู้เพื่อความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว”
“สิ่งที่ยังคาใจก็คือการเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ผมขอถามว่าคนที่เสียชีวิตมีไหมที่ไม่ขาดอากาศหายใจ จริงๆ แล้วการกระทำของเจ้าหน้าที่โดยตรงที่ทำให้ 85 ศพเสียชีวิตวันนั้น กี่เปอร์เซ็นต์ที่โดนยิง เพราะว่าพี่ชายของผม ถ้าไม่เอาศพกลับ ไม่รู้เลยว่ามีร่องรอยถูกยิง 2 ที่ แล้วก็คนในหมู่บ้านเสียชีวิต 4 คน ทุกคนคอหักหมดเลย โดนอะไรเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าศพที่เอากลับ ลูบอาบน้ำศพ ลูบแรงๆ ไม่ได้เลย เพราะว่าบวม จำหน้าก็ไม่ได้ แต่ว่าพี่ชายผมจำได้ เพราะมีแหวนติดนิ้วอยู่”
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตั้งข้อสังเกตว่า วันไต่สวนมูลฟ้อง 19 ก.ค. คนเยอะ ได้ไต่สวน และจำเลยแต่งทนายมาครบทุกคน แต่ไม่มีสื่อมวลชนมาเลย แปลกไหม...ศาลนัดอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี 23 ส.ค.นี้
@@ กอ.รมน.งง คดีจบ-ชดใช้-อยู่กันได้แล้ว...รื้อฟื้นทำไม?
พ.ต.อ.ดร.จารุวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รนม.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงคดีตากใบว่า จริงๆ ทุกอย่างจบไปหมดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ ให้ทุกฝ่ายที่มีความสูญเสีย ได้เข้าสู่ความสมานฉันท์ การค้นหาข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีมีมติเพื่อชดใช้ และมีการสรุปรายงานออกมา มีระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ชัดเจน
“เขาอยากให้จบปัญหาเรื่องนี้ โดยไม่มีฝ่ายใดถูกดำเนินการ อันนี้อยู่ในรายงานที่เขียนเอาไว้ บอกว่าให้ใช้กฎหมายอิสลามลักษณะอาญา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แล้วให้รัฐต้องชดใช้ให้ ก็เลยเป็นที่มาของการจ่ายเงินเยียวยา” พ.ต.อ.ดร.จารุวิทย์ อ้างอิงถึงความเห็นของครอบครัวผู้สูญเสียในอดีต เมื่อครั้งทำข้อตกลงก่อนจ่ายเยียวยาสูงสุดรายละ 7.5 ล้านบาท ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เขากล่าวอีกว่า ในกระบวนการดำเนินคดีอาญาอัยการเองก็มีคำสั่งโดยใช้อำนาจของอัยการตามมาตรา 21 (พระราชบัญญัติองค์กรอัยการ) เพื่อแก้ไข้ปัญหา ก็คือหากดำเนินคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง
“ทั้งหมดนี้คือหลักการที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ปรากฏว่าวันดีคืนดีมาบอกว่าจะดำเนินคดีกันอีก ผมก็มองว่าจริงๆ แล้วมันต้องดูที่มาที่ไปอย่างถูกต้องว่ามันคืออะไร เราก็ไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิ์ หลายคนอาจจะบอกว่าเขามีสิทธิ์ แต่รัฐก็ได้เข้าไปแก้ปัญหาแล้ว เพื่อให้เกิดความอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อยู่ร่วมกันแบบให้ไปด้วยกันได้ เพื่อลดปัญหาหรือไม่ให้ปัญหาบานปลายออกไป คือเจตนารมณ์การมีมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีความเห็นของท่านอัยการสูงสุดในเรื่องนี้” รอง ผอ.สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ระบุ