ศาลนราธิวาส ไม่เลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องพิจารณาคดี ตากใบ มีมูลฟ้อง เป็นคดีอาญาหรือไม่
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า วันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.67 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 มีมูลในคดีอาญาหรือไม่
คดีนี้ ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน (ในขณะนั้น ปัจจุบันบางคนเกษียณอายุราชการไปแล้ว) ที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเกิดเหตุการณ์ตากใบ
@@ เปิดชื่อ 9 บิ๊ก ขรก.โดนฟ้องคดีตากใบ
รายชื่อผู้ที่ถูกฟ้อง ประกอบด้วยอดีตเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมและการขนย้ายผู้ชุมนุม คือ
จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น)
จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 (ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น)
จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 (กองพลทหารราบที่ 5 ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น)
จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น)
จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น)
จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับการ สภ.อ.ตากใบ (ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น)
จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับการ สภ.อ.ตากใบ (ดำรงตำแหน่งในเวลานั้น)
จำเลยที่ 8 อดีตรอง ผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น
จำเลยที่ 9 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (ดำรงตำแหน่งในขณะเกิดเหตุ)
@@ ส่งหมายศาลขอเอกสารเพียบ - สมช.ด้วย
นางสาวพรเพ็ญ กล่าวต่อว่า นับจากวันที่ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ทีมทนายได้ขอหมายศาลเพื่อเรียกพยานเอกสารจากหน่วยงานราชการต่างๆ หลายฉบับ
ต่อมาวันที่ 12 มิ.ย. ทีมทนายได้ส่งหมายศาลจังหวัดนราธิวาส 5 หมาย ระบุขอเอกสารคำสั่ง และรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตากใบหลายฉบับ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หมายดังกล่าวระบุให้จัดการส่งเอกสารตามหมายไปยังศาลจังหวัดนราธิวาส ก่อนวันที่ 24 มิ.ย. เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
แม้ต่อมาจะได้รับทราบว่าเอกสารราชการที่เก่าเก็บเกือบ 20 ปี อาจส่งมาไม่ถึงศาลในวันไต่สวนก็ตาม ทั้งนี้เอกสารบางส่วนสามารถค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ต
@@ จี้เปิดสำนวนชันสูตรพลิกศพ - คดีวิสามัญฯสั่งไม่ฟ้อง
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ในวันที่ฟ้องคดีตากใบ มีข้อสงสัยด้วยว่า เหตุใดตำรวจภูธรภาค 9 จึงส่งสำนวนสั่งไม่ฟ้องในสำนวนการสอบสวนกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 กรณีเหตุการณ์ตากใบ โดยมีความเห็นในหนังสือส่งถึงอัยการสูงสุดว่า เป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณี และเป็นเหตุสุดวิสัย
“ทีมทนายความจึงได้ขอหมายศาลเรียกสำนวนทั้งสองสำนวน คือสำนวนชันสูตรพลิกศพ 4 แฟ้ม และสำนวนสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม 4 แฟ้ม เพื่อนำเอกสารสำคัญเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 24 มิ.ย.2567 ด้วย”
@@ อดีตบิ๊ก ขรก.ขยับ ร้องศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น
“ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2567 จำเลยที่ 1 และ 9 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น จำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้คำฟ้องของโจทก์ทั้ง 48 รายไม่มีมูล อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ในชั้นไต่สวน” ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายถึงความเคลื่อนไหวของคดีหลังประชาชนยื่นฟ้องเอง
@@ เปิด 3 ข้อหาทวงความเป็นธรรมตากใบ
อนึ่ง ตัวแทนผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายที่ได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเป็นคดีอาญา มีจำนวนโจทก์ร่วม 48 คน ลำดับที่ 1-34 เป็นตัวแทนผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ว่าร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา...
-ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ289 (5)
-ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309
-หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310
นางสาวพรเพ็ญ ระบุด้วยว่า คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่ภาคประชาชนและทนายความในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิประชาชน และเป็นคดีที่ตำรวจ อัยการ ยังไม่ฟ้องต่อศาล แม้คดีเกือบจะหมดอายุความแล้ว จากที่ตนเป็นทนายจำเลยมาตลอด คดีที่เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิชาวบ้านฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทำได้ยากมาก คดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันและอยากให้คดีได้เดินหน้า และศาลรับฟ้องก่อนหมดอายุความ
ด้าน นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ความคืบหน้าคดีตากใบ ตอนนี้เป็นไปตามที่นัดไว้ คือ วันที่ 24 มิ.ย. ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งขณะนี้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
@@ จัดอัยการช่วยแก้ต่างคดี 6 บิ๊ก ขรก.-ฝ่ายทหารจัดทนายเอง
มีรายงานว่า สำนวนคดีนี้ถูกส่งถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรายงานความคืบหน้า และขอให้ส่วนกลางพิจารณาคำร้องที่อดีตข้าราชการผู้ถูกฟ้อง ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดจัดเจ้าหน้าที่ช่วยในการแก้ต่างคดี
โดยรายงานระบุว่า อัยการจังหวัดนราธิวาสมอบหมายรองอัยการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยพนักงานอัยการ 2 คน เป็นผู้เเก้ต่างให้จำเลยที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจกับฝ่ายปกครอง 6 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารประสงค์จะมีทนายความเเก้ต่างเอง
สำหรับคดีนี้ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้อง ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเป็นหลัก โดยฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ส่วนความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ขาดอายุความ จึงไม่สามารถนำคดีขึ้นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 9 ได้