จากข่าวดังที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ กรณีเจ้าหน้าที่เข้าเก็บกู้วัตถุระเบิดแสวงเครื่อง บริเวณหลังศาลารอรถประจำทางใกล้ร้านของชำแยกนาเกตุ หมู่ 1 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 ที่ผ่านมา
ตามข่าวระบุว่า ระเบิดแสวงเครื่องลูกนี้มีการต่อวงจรจุดระเบิด 3 ระบบในลูกเดียว คือ จุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร (DTMF), จุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา และจุดระเบิดด้วยวงจรป้องกันการรื้อถอน-ทำลาย
หลังจากมีข่าวเผยแพร่ออกมา ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า กลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะทีมประกอบระเบิด มีพัฒนาการขึ้นกว่าเดิม มีการต่อวงจรหลากหลาย ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้น อันตรายขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ตำรวจ ทหาร อส. ฝ่ายปกครอง ชรบ. รวมถึงทีมเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี เอง
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า การก่อเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องโดยใช้การจุดระเบิดหลายระบบในระเบิดลูกเดียวนั้น ตามข่าวกลุ่มผู้ก่อเหตุเคยพยายามใช้เทคนิคยร่มาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะพบว่า ระเบิดแสวงเครื่องที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ จะมีการต่อระบบจุดระเบิดอย่างน้อย 2 ระบบในระเบิดลูกเดียวกัน และอาจจะมีวงจรป้องกันการรื้อถอนมาใช้เพิ่มอีก เป็น 3 ระบบ เพื่อป้องกันหากระเบิดตัดวงจรแรกไปแล้ว หรือถูกเคลื่อนย้าย
ในอดีตระบบจุดระเบิดที่นิยมใช้ร่วมกันในระเบิดลูกเดียว ได้แก่ จุดระเบิดด้วยรีโมทรถยนต์ ต่อวงจรร่วมกับนาฬิกาตั้งเวลา และระบบ “กด-เลิกกด / ดึง-เลิกดึง” หรือเป็นการจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ต่อวงจรร่วมกับระบบตั้งเวลา และระบบแบบ “กด-เลิกกด / ดึง-เลิกดึง”
แต่เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์ตัดสัญญาณรีโมท และอุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจึงมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร หรือ วงจร DTMF ผสมกับวงจรตั้งเวลาอิเล็กทรอนิกส์ และระบบ “กด-เลิกกด / ดึง-เลิกดึง”
มีรายงานว่า การพยายามใช้ระบบจุดระเบิดหลายระบบในลูกเดียวของกลุ่มผู้ก่อเหตุ มีเป้าหมายให้การก่อเหตุลอบวางระเบิดในแต่ละครั้งมีความผิดพลาดน้อยลง เพราะเมื่อมีระบบจุดระเบิดอื่นสำรองไว้ หากระบบจุดระเบิดหลักที่ใช้ไม่ทำงาน ระเบิดก็จะทำงานได้จากระบบจุดระเบิดอื่นที่อยู่ในวงจรระเบิดลูกเดียวกัน
โดยเฉพาะการมีวงจรป้องกันการรื้อถอน แบบ “กด-เลิกกด / ดึง-เลิกดึง” ซึ่งถือเป็นระบบจุดระเบิดที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ระเบิดจะทำงานก็ต่อเมื่อเป้าหมายเข้ามากระทำต่อระเบิดที่วางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้าย การพยายามทำลาย ก็จะเกิดระเบิดขึ้น ถือเป็นระบบจุดระเบิดที่ทำให้เจ้าหน้าที่อีโอดี ซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บกู้ ทำลายวัตถุระเบิดทำงานได้ยากและเสี่ยงมากขึ้นนั่นเอง
อนึ่ง วัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ถูกระบุว่ามีการต่อวงจรจุดระเบิด 3 ระบบในลูกเดียว ซึ่งพบบริเวณหลังศาลารอรถประจำทางใกล้ร้านของชำแยกนาเกตุ หมู่ 1 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 นั้น น่าจะเป็นระเบิดล็อตเดียวกับที่พบวางไว้ใต้ที่นั่งม้าหิน หน้าร้านขายของชำ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.67 ห่างกันแค่ 20 เมตร โดยวัตถุระเบิดที่ถูกวางไว้ใต้ม้าหินนั้น เจ้าหน้าที่ใช้โดรนบินสำรวจ และใช้หุ่นยนต์เข้าเก็บกู้ไว้ได้อย่างปลอดภัย
อ่านประกอบ : เจอซ้ำ! ระเบิดแสวงเครื่องที่โคกโพธิ์ ห่างร้านชำเป้าหมายแรกแค่ 20 เมตร
@@ ผู้เชี่ยวชาญโต้ “ไม่จริง - เรื่องโกหก”
อย่างไรก็ดี เรื่องวงจรจุดระเบิด 3 ระบบ ยังเป็นประเด็นคาใจของหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามไปยังอดีตผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “ปืนและระเบิด” อันดับต้นๆ ของประเทศ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว กลับได้ข้อมูลอีกทางหนึ่ง
“ข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องโกหก ผมได้เห็นภาพระเบิดที่เป็นข่าวแล้ว ยืนยันว่ามี 2 ระบบเท่านั้น หรือจะเรียกว่าระบบเดียวก็ได้”
อดีตผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน อธิบายว่า จริงๆ แล้ววงจรที่มองว่าเป็นการจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร กับตั้งเวลาด้วยนาฬิกา เป็นวงจรเดียวกัน
“วิธีการคือ เรียกเข้าไปที่วิทยุ แล้ววิทยุถึงจะไปสั่งงานนาฬิกาให้ทำงาน จึงเป็นวงจรเดียวกัน ถ้าตัดอันใดอันหนึ่งก็จบ และที่มีการให้ข่าวว่า ถ้าสองวงจรล้มเหลว ระเบิดทันที เป็นไปไม่ได้ ไม่มี โกหกแน่นอน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด ซึ่งเคยผ่านงานอย่างโชกโชนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกด้วยว่า การต่อวงจรแบบนี้ไม่ใช่พัฒนาการของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
“แบบนี้เรียกถอยหลังด้วยซ้ำ เพราะวงจรตั้งเวลากินไฟและโบราณมาก ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้ สิ่งที่ทำไม่มีอะไรใหม่ และระเบิดของกลุ่มทางใต้ก็ไม่มีอะไรใหม่เลย หัวหน้าที่เป็นครูสอน เป็นคนของประเทศเพื่อนบ้าน หนีไปอยู่อินโดนีเซีย ก็เสียชีวิตไปนานแล้ว”
“รูปแบบระเบิดตามที่เป็นข่าวต้องส่งสัญญาณผ่านวิทยุสั่งการก่อน ไทม์เมอร์ถึงจะทำงาน การใช้วิทยุสั่งการคือการจุดระเบิดที่ทันท่วงทีที่สุด คนจุดระเบิดนั่งเฝ้าดูอยู่ จึงมีความแม่นยำ ส่วนการตั้งเวลา ทำให้เสียเวลา และมักจะพลาดเป้า การต่อวงจรแบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ส่วนการต่อวงจรแบบ กด-เลิกกด / ดึง-เลิกดึง ก็ไม่ได้ใหม่อะไร เป็นลักษณะกับระเบิด ถ้าเราพลาดไปเหยียบก็ระเบิดขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งถ้าใช้แหล่งพลังงานเดียวกัน ตัดวงจรใดวงจรหนึ่งได้ก็ไม่ระเบิดแล้ว ข่าวที่ออกมาว่าถ้าทำลาย 2 วงจรแรกแล้วระเบิดจะทำงานทันที ไม่เป็นความจริงแน่นอน”