หลังจากที่รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีแนวทางที่จะยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการตกลงพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ “อย่างเปิดเผย” ภายใต้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
กระบวนการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2556 และรัฐบาลไทยได้ขอให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลาง และมีการแต่งตั้ง “ผู้อำนวยความความสะดวก” หรือ Facilitator มาร่วมในกระบวนการพูดคุย
ตลอด 11 ปีของเส้นทางสันติภาพ สันติสุขที่ดินแดนปลายด้ามขวานของไทย ไม่เพียงคณะพูดคุยของทั้งสองฝ่ายที่เปลี่ยนหน้ากันเข้ามาหลายคน หลายคณะเท่านั้น
แต่ “ผู้อำนวยความสะดวก” ที่ตั้งโดยรัฐบาลมาเลเซีย ก็เปลี่ยนมาแล้วหลายคนเช่นกัน
ผู้อำนวยความสะดวก คนแรก คือ “ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม” อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของไทย
ดาโต๊ะซัมซามิน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 2 คณะ 2 ช่วงเวลา คือ กลุ่มบีอาร์เอ็น ภายใต้การนำของ นายฮัสซัน หรือ ฮาซัน ตอยิบ ระหว่างปี พ.ศ.2556-2557
และ “กลุ่มมารา ปาตานี” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ในปี พ.ศ.2558-2561 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการริเริ่มกระบวนการพูดคุยขึ้นใหม่ หลังจากการพูดคุยครั้งแรกไม่บรรลุข้อตกลง โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น (ชุดนายฮาซัน ตอยิบ) ซึ่งฝ่ายไทยมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่ง ไม่สามารถปฏิบัติตามได้
ส่วนกระบวนการพูดคุยกับ “กลุ่มมารา ปาตานี” เดินหน้าถึงการร่วมกันจัดทำ “พื้นที่ปลอดภัย” และกำลังจะมีแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างบางคนเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สุดท้ายก็ไม่บรรลุข้อตกลงอีกครั้ง
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลครั้งสำคัญในมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด อดีตนายหฯ ผู้ยิ่งใหญ่ของดินแดนเสือเหลือง หวนคืนสู่เก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศอีกครั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2561
จากนั้น ดร.มหาธีร์ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ คนใหม่ เป็น คนที่ 2 คือ “ตันศรี อับดุล ราฮิม นูร์” อดีตผู้บัญชาการตำรวจ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย และเริ่มกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกรอบ
ดร.มหาธีร์ สนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งผู้นำมาเลเซียยุคแรก เขาเคยเป็น “โต้โผ” จัดการพบปะระหว่างผู้แทนฝ่ายความมั่นคงไทย กับแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหลายกลุ่ม ช่วงราวๆ ปี พ.ศ.2548-2549 ที่เกาะลังกาวี บ้านเกิดของ ดร.มหาธีร์
กระบวนการเดินหน้าถึงการจัดทำ “ข้อตกลงสันติภาพ” มีการลงนามกันเรียบร้อย ส่งถึงรัฐบาลไทยรักไทยในยุคนั้น แต่สุดท้ายไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ และเกิดปัญหาการเมืองภายในที่จบลงด้วยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องล้มไป
ส่วนการตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ในห้วงที่ ดร.มหาธีร์ เข้ามาเป็นผู้นำประเทศอีกรอบในปี พ.ศ.2561 นั้น เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มีความเปราะบาง และมีปัญหาเสถียรภาพ ทำให้ขับเคลื่อนงานไม่ตลอดรอดฝั่ง สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนตัวผู้นำ ทำให้กระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ของไทย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาโดยตรงของมาเลเซีย ต้องหยุดชะงักไปอีกรอบ
กระทั่งมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และ นายอันวาร์ อิบราฮิม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในปี พ.ศ.2565 นายกฯอันวาร์มีความสนใจและความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นพิเศษกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการแต่งตั้งให้ “พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน” อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ถือผู้อำนวยความสะดวกคนที่ 3 ที่มาเลเซียแต่งตั้งให้มาร่วมในกระบวนการพูดคุย
ตันศรี ซุลกิฟลี เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่เดินทางเยือนประเทศไทยและลงพื้นที่ชายแดนใต้หลายครั้ง แต่ก็ขับเคลื่อนโต๊ะพูดคุยไปได้ไม่ตลอด แม้จะเป็นอดีตทหาร ซึ่งเป็นสีเดียวกับฝ่ายรัฐบาลไทย เพราะตรงกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นทหารเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ไม่คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.67 รัฐบาลมาเลเซียได้มีการแต่งตั้ง “ดาโต๊ะ โมหะมัด ราบิน บินบาซีร์” อดีตผู้อำนวยการใหญ่ สภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ซึ่งนับเป็นคนที่ 4 เพื่อทดแทน “พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน” ที่เพิ่งหมดหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67
เรียกว่าตั้งผู้อำนวยความสะดวกแบบ “ไร้รอยต่อ”
แต่สันติภาพและสันติสุขจะยังคงขาดช่วงและมีรอยต่อหรือไม่...ต้องรอติดตาม!