สภาผู้แทนราษฎรกำลังถกงบประมาณปี 68 กันอย่างดุเดือด
โดยมากเน้นวาทกรรมในการอภิปรายตอบโต้กันไปมา โดยเฉพาะระหว่างพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล กับพรรคก้าวไกล แกนนำฝ่ายค้าน
และมีพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เก๋าเกมสภาคอยสอดแทรก
แต่ร้อยทั้งร้อยของการอภิปราย ยังไม่มีใครเจาะถึงความชอบด้วยกฎหมายในการกำหนดงบประมาณที่สำคัญบางตัว
โดยเฉพาะงบสำหรับดำเนินโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” และ “เงินราชการลับ” ของกระทรวงกลาโหม ตลอดจนหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการเงินการคลัง เขียนบทความวิพากษ์ประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา โดยใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า นี่คือ FAKE LAW
@@ การตกเป็น FAKE LAW ของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
คำว่า “FAKE LAW” มีความหมายได้หลายนัย ขึ้นอยู่ว่าจะใช้ในเรื่องอะไร
ความหมายโดยทั่วไป หมายถึง อำพราง ฉ้อฉล หลอกลวงที่อาจจะนำมาปรับใช้กับกฎหมายของบ้านเราที่มีอยู่หลายฉบับ
โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย!
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่กำลังพิจารณาวาระแรกในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน มีทั้ง FAKE NEWS และ FAKE LAW อยู่ในร่างฉบับนี้ จะวิเคราะห์ให้เห็นในประเด็นสำคัญ ดังนี้
งบประมาณปี 2568 ได้ตั้งไว้เป็นจำนวนไม่เกิน 3,752,700,000,000 บาท เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลางจำนวน 805,745,000,000 บาท
รายการในงบกลางเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตั้งไว้ 95,300,000,000 บาท
ตามวินัยการคลังนั้น งบประมาณรายจ่ายงบกลางให้ตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจจัดสรรหรือไม่สมควรจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบได้โดยตรง
ดังนั้นการแจกเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะซุกไว้ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในงบกลาง ทำไมไม่แยกตั้งไว้เป็นการเฉพาะในงบกลาง หรือของส่วนราชการที่มอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้
ส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐปีงบประมาณ 2568 ตั้งไว้เป็นจำนวน 410,253,675,000 บาท และทุกปีงบประมาณที่ผ่านมาในมาตรานี้ไม่แยกให้เห็นว่า เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นจำนวนเท่าไร จึงทำให้ไม่ทราบว่า ถ้ากระทรวงการคลังจะกู้เงินเป็นเงินบาทตามเพื่อชดเชยขาดดุล หรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ตามมาตรา 21 คือ
(1) ร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และ
(2) ร้อยละแปดสิบของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับสำหรับคืนเงินต้น
ถามว่า ถ้าจะกู้ตาม (2) จะใช้วงเงินใดเป็นตัวคำนวณ คงไม่ใช่วงเงิน 410,253,675,000 บาท เพราะวงเงินนี้รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมกันอยู่ในจำนวนนี้
นี่แหละคือผลแห่งการอำพรางวงเงินกู้ทั้งต้นและดอกเบี้ยไว้รวมกัน ทั้งๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคแรก ได้บัญญัติแยกไว้เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพัน มี 3 อย่าง คือ
(1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้
(2) ดอกเบี้ยเงินกู้
(3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
ข้อวิเคราะห์ประการต่อไป เป็นเรื่อง “เงินราชการลับ” ที่ผู้เขียนไม่ได้คัดค้านการที่หน่วยงานในด้านความมั่นคงจะต้องมีเงินราชการลับ และไม่อาจเปิดเผยได้ในการนำไปใช้จ่าย
แต่วงเงินนั้นเปิดเผยได้และต้องเปิดเผยในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ไม่ใช่นำไป “ซุก” ไว้ในเอกสารประกอบงบประมาณที่ไม่มีศักดิ์เป็นกฎหมาย แต่กลับไม่มีการตั้งกำหนดวงเงินไว้ในตัวพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
(ดูเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เล่ม 1 งบกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม)
เช่นเดียวกัน เงินราชการลับ 17 รายการของส่วนราชการต่างๆ ที่จำเป็นต้องมี กลับไปตั้งไว้ในงบรายจ่ายอื่นของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปีนี้มีวงเงิน 60,000,000 บาท เหตุใดจึงไม่ตั้งไว้เป็นของส่วนราชการนั้น เพราะส่วนราชการนั้นจะรู้ถึงความจำเป็นที่แท้จริงในการใช้ยิ่งกว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (เอกสารงบประมาณ หน้า 380-381)
ดังเช่นของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในสังกัด ได้ตั้งไว้ในหน่วยงานนั้นก็จริง แต่อยู่ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 ไม่ตั้งไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงกลาโหม ที่จะไม่มีรายการ “เงินราชการลับ” ในทุกหน่วยงานที่สังกัด
นี่คือการเป็น FAKE LAW ใน “เงินราชการลับ” ของกระทรวงกลาโหม
ดังตัวอย่างในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 หน้า 7
2.กองทัพบก รวม 36,448,223,400 บาท
(1) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 13,543,139,200 บาท
(2) แผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 286,950,000 บาท
(3) แผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 3,304,099,800 บาท
(4) แผนยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 19,296,793,000 บาท บาท
(5) แผนงานยุทธศาสตร์ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 17,271,400 บาท
ในห้าแผนนั้นๆ จะต้องมี “เงินราชการลับ” แต่ไม่รู้ว่า “เงินราชการลับ” อยู่ในแผนงานใด วงเงินมากน้อยอย่างไร
“เงินราชการลับ” เป็นรายการตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ จะต้องตั้งไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และถ้าจะมีการโอนจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 35 และ 36 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การโอนเงินราชการลับไว้ ดังนี้
“งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณที่กำหนดไว้ในแผนงานหรือรายการใดตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย.....จะโอนหรือนำไปใช้ในแผนงานหรือรายการอื่นมิได้ เว้นแต่จะได้อนุมัติจากผู้อำนวยการ แต่ผู้อำนวยการจะอนุมัติมิได้ในกรณีที่เป็นผลให้เพิ่มรายจ่ายประเภทเงินราชการลับ....เว้นแต่จะแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี”
ตามมาตรานี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า “เงินราชการลับ” จะต้องเป็นรายการในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย จึงจะดำเนินการโอนตามมาตรานี้ได้
อนื่ง ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน จะเห็นว่าการให้อำนาจผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีอำนาจโอนงบประมาณในรายการต่างๆได้ตามมาตรานี้ เป็นความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณ เพราะการบริหารงบประมาณรายจ่ายจะต้องมีความเป็น “พลวัต”
ที่เป็น FAKE LAW เพราะรายการต่างๆ และวงเงินนั้น เป็นรายการที่เป็นกฎหมายตามมาตราต่างๆ ในพระราชบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การให้อำนาจผู้อำนวยการสำนักงบประมาณที่เป็นข้าราชการประจำแก้ไขวงเงินโดยการโอน ก็คือการแก้ไขพระราชบัญญัติที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติ
ที่สำคัญสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้อนุมัติงบประมาณ จะไม่มีโอกาสทราบเลยว่ารายการนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยการโอนของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการวิสามัญจะแปรญัตติให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2568 ไม่ให้เป็นกฎหมาย FAKE LAW