“พ.ต.อ.ทวี” หารือรัฐมนตรีสิงคโปร์ รับฟังโมเดลแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา เตรียมนำมาปรับใช้ดับไฟความรุนแรงที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 เคล็ดลับความสำเร็จของรัฐบาลลอดช่อง ด้าน “วันนอร์” ลงพื้นที่ลุยสางปมเดือดร้อนคนปลายด้ามขวาน ทั้งที่ดินทำกินทับซ้อนเขตอุทยานฯน้ำตกซีโป และชุมชนริมหาดนราทัศน์ใช้ไฟแพง จี้รัฐเร่งทบทวนเยียวยาน้ำท่วมคนนราฯ
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ นายมาซากอส ซุลกิฟิ (Mr. Masagos Zulkifli) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว รัฐมนตรีคนที่สองกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีกํากับดูแลด้านกิจการมุสลิม ของสาธารณรัฐสิงคโปร์
จากนั้นได้ร่วมหารือข้อราชการที่ห้องรับรองประจํากระทรวงยุติธรรม เนื่องในโอกาสเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการไทย-สิงคโปร์ (Civil Service Exchange Program: CSEP) ครั้งที่ 14 ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25-26 มิ.ย.67
ประเด็นสำคัญของการหารือ คือ การนำเสนอ 3 แนวทางการบริหารของรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งจากความหลากหลายทางศาสนาของประชาชนในสิงคโปร์ ประกอบด้วย
1.การสร้างความสัมพันธ์กับทุกศาสนา
2.การเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐ เอกชน ชุมชน ศาสนา
3.การสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนในทุกศาสนา ผ่านระเบียบ กฎหมายที่มีความเขื่อมโยงกับหลักการทางศาสนา และยึดหลักความเท่าเทียม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีที่จะมีความร่วมมือและนำแนวทางของสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
สำหรับประเทศไทย แม้ไม่มีรัฐมนตรีที่ดูแลชาวมุสลิมโดยตรง แต่มีกระทรวงวัฒนธรรมที่ดูแลสนับสนุนงานของสำนักจุฬาราชมนตรี และกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งพาพี่น้องชาวมุสลิมเดินทางไปร่วมประกอบพิธีฮัจย์ ซึ่งได้รับโควต้าจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 1.3 หมื่นคน หรือประมาณ 5% จากประชากรทั้งประเทศไทยที่มีประมาณ 66 ล้านคน
เฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส รวมจังหวัดสงขลา มีพี่น้องมุสลิมเฉลี่ย 70-80% จากประชากรในพื้นที่กว่า 3 ล้านคน
@@ รับนัดหารือ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้
พ.ต.อ.ทวี ยังได้กล่าวถึงการรับเชิญจาก นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเข้ารับฟังข้อเสนอแนะว่า จากลักษณะเด่นของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งเศรษฐกิจและศาสนา มีภาษายาวีเป็นของตนเอง จนมีอัตลักษณ์ที่เข้มแข็ง ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน และทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสของการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีต่อไป
@@ ไทย-สิงคโปร์ หัวอกเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับสิงคโปร์ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ การหารือยังพบว่า ทั้ง 2 ประเทศมีหลายปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ปัญหาการขอลี้ภัยของชาวอุยกูร์, ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา, ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยที่ถูกใช้เป็นทางผ่านของขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับระดับการศึกษาของผู้ต้องขังในคดียาเสพติดอีกด้วย
@@ "วันนอร์" ร่วมสางปมที่ดินชาวบ้านทับซ้อนอุทยานซีโป
วันเสาร์ที่ 15 มิ.ย.67 ที่ห้องประชุมนราทัศน์ โรงแรมอิมพีเรียล อ.เมืองนราธิวาส นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชาติ, คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร, คณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, คณะผู้บริหารจังหวัดนราธิวาส ได้หยิบยกปัญหาที่ดินทำกินในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งประชาชนผู้ใช้ที่ดินทำการเกษตรมาเป็นเวลานานได้รับความเดือดร้อน จำนวน 8 ตำบล ใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย ต.ซากอ ต.เชิงคีรี และ ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร, ต.เฉลิม ต.กาลิซาและ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ, ต.ลาโละ อ.รือเสาะ และ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาทางออก
ปัญหามี 2 กรณีคือ 1.ปัญหาการไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ทั้งที่ชุมชนมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมายาวนาน แต่ไม่เคยเข้าถึงการขอออกเอกสารสิทธิ์ ปัจจุบันถูกเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าทำประโยชน์ ด้วยเหตุผลเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484
2.ปัญหาจากการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ครอบคลุมที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนหนึ่ง โดยชาวบ้านไม่ได้รับทราบหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวเขตฯ ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อ้างว่า ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ตามขั้นตอนกฎหมายแล้วเมื่อปี 65 ที่ผ่านมา ก่อนเกิดปัญหาว่า ต้นทุเรียนของชาวบ้าน อายุ 1-3 ปี จำนวน 500 ต้น บนพื้นที่ 29 ไร่ ถูกโค่นทิ้ง
@@ สะกิดรัฐบาลเร่งแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ถ้าแก้ปัญหาจุดนี้ได้ พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจะได้รับประโยชน์เช่นกัน
“ผมคิดว่าการแก้ปัญหาทั้ง 2 ปัญหาผ่านแล้ว 70% เพราะทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว รวมทั้งประชาชน เพราะการบริหารประเทศนั้น เราต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก กฎหมายมีไว้เพื่อสร้างความสะดวกเรียบร้อย กฎหมายอันไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต้องรีบแก้ไข
เช่น กฎหมายป่าไม้ต้องเร่งแก้ไข โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าพื้นที่ใดของภาครัฐที่มีไว้แล้วใช้ไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวน ที่ทหาร หรือที่สาธารณประโยชน์ ให้ขีดวงเฉพาะที่จะใช้ประโยชน์จริงๆ ที่เหลือขอให้จัดสรรให้ประชาชนได้ไปทำมาหากิน เขาจะได้สร้างเศรษฐกิจ นี่เราบอกว่าเศรษฐกิจเรา จีดีพีตกต่ำ เพราะมีที่ว่างแล้วไม่เกิดรายได้ จะทำอย่างไรให้ที่ว่างเกิดรายได้ คำตอบคือประชาชนต้องมีที่ทำกิน”
@@ หาทางออกปัญหาค่าไฟแพงชุมชนหาดนราทัศน์
ส่วนอีกประเด็นที่เป็นปัญหา ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ลงพื้นที่ช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย. คือ ปัญหาอัตราค่าไฟฟ้าราคาแพงในพื้นที่ชุมชนชายทะเลหาดนราทัศน์ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม แต่ไม่สามารถขอทะเบียนบ้านได้ ทำให้ไม่สามารถขอมิเตอร์ไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องไปขอเชื่อมต่อจากชาวบ้านที่มีมิเตอร์ไฟฟ้า ทำให้ต้องเสียค่าไฟราคาแพง
เรื่องนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยได้ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาอัตราค่าไฟฟ้าราคาแพง ดังนี้
1.กรมเจ้าท่ายินยอมให้ชาวบ้านอยู่อาศัยต่อไปได้
2.เทศบาลจะจัดทำทะเบียนบ้านชั่วคราวให้ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถขอมิเตอร์ไฟฟ้าได้
3.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้ชาวบ้านจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราปกติ
เบื้องต้นสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้แล้ว 333 ครอบครัว ยังเหลืออีก 207 ครอบครัว ที่ส่งต่อกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการต่อไป
@@ เร่งเยียวยาน้ำท่วมนราธิวาส หลังพบตกหล่น 80%
วันเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวนราธิวาสที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ช่วงวันที่ 23-25 ธ.ค.66 ครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้รับความเสียหายกว่า 10,000 คน ราว 4,000 ครัวเรือน เนื่องจากยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยามากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากไม่มีหลักฐานรูปถ่ายช่วงที่ถูกน้ำท่วมและร้องข้อความเป็นธรรมในการตรวจสอบความเสียหาย เพราะที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับการเยียวยามากน้อยไม่เท่ากัน
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้ออกหนังสือเวียนไปยังท้องถิ่นให้ตรวจสอบว่า มีกี่ครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เพื่อให้ทราบข้อมูลความเป็นจริง ก่อนจะนำไปสู่แนวทางช่วยเหลือ
ขณะทที่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่เดินทางไปพบประชาชนด้วยในคราวเดียวกัน กล่าวว่า จะดำเนินการประสานงานด้านกฎหมายเพื่อนำความเป็นธรรมมาสู่พี่น้องประชาชน และตนเองจะนำเรื่องดังกล่าวหารือไปยังรัฐบาล เร่งรัดขอให้พิจารณาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด
@@ “นัจมุดดีน” เป็นประธานเปิดงานมหกรรมตาดีกา อ.ระแงะ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากพรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมตาดีการะดับอำเภอ ที่ อ.ระแงะ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้น ณ สนามฟุตบอลบ้านตันหยง จ.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหาร ผู้สอน และผู้เรียนของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในพื้นที่ อ.ระแงะ รวมถึงเสริมสร้างกิจกรรมการแข่งขันทักษะทางวิชาการ กีฬา และวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น