“ภูมิธรรม” ปลื้มนโยบาย “เมืองคู่แฝดไทย-มาเลเซีย” 5 เมืองชายแดนประกบ 5 รัฐตอนเหนือของเพื่อนบ้าน ปลื้มสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 รุดหน้าเกินเป้า เปิดสเปคชัดๆ สร้างเป็นรูปเรือกอและสะท้อนอัตลักษณ์ รับฟังเสียงตัวแทนนักศึกษา 4 มหาวิทยาลัย จี้รัฐบาลหาตำแหน่งงาน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันพุธที่ 5 มิ.ย.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ “พ.ร.บ. ศอ.บต.” ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส
การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หนนี้ เป็นการเยือนราธิวาสพร้อมคู่สมรส และคณะรวม 22 คน
ภารกิจคือร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารด่านพรมแดนศุลกากรสุไหงโก-ลก เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานนโยบาย “เมืองคู่แฝด” การดำเนินงานของด่านศุลกากร และความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2
ในที่ประชุม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้สรุปรายงานการดำเนินงานนโยบายเมืองคู่แฝด หรือ Twin Cities ไทยกับมาเลเซีย ระหว่าง จ.สตูลกับรัฐเปอร์ลิส จ.สงขลากับรัฐเคดาห์ จ.ยะลากับรัฐเปรัก จ.ปัตตานีกับรัฐตรังกานู และ จ.นราธิวาสกับรัฐกลันตัน
@@ 5 ความร่วมมือ “เมืองคู่แฝด”
โดยยินดีจะร่วมมือและสนับสนุนการทำงานร่วมกันใน 5 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอเชิงหลักการที่สำคัญ ได้แก่
1.การผลักดันความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพี่น้องเกษตรกร ผ่อนคลายมาตรการการค้าและพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ผลิตผลของทั้งสองประเทศสามารถจำหน่ายได้มากขึ้น
รวมทั้งรองรับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตอันใกล้นี้
2.การขยายช่องทางการตลาดสินค้าฮาลาลที่เป็นผลผลิตจากพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการประเทศไทยไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งการจัดมหกรรมว่าด้วยอาหารไทย หรือ Thai Food Carnival ในทุกๆ เดือน ตามที่ทางมาเลเซียเห็นสมควร
3.การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ พื้นที่ชายแดน เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกในด้านการค้าแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรได้ โดยในอนาคตอันใกล้คาดหวังว่าพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถพัฒนาเป็น Twin Cities โดยการจับคู่ 5 รัฐของมาเลเซีย กับ 5 จังหวัดของไทย เพื่อเป็นเมืองพี่เมืองน้องในการพัฒนา การค้าชายแดนร่วมกันต่อไป
4.พื้นที่ด่านชายแดนจังหวัดสตูล ผู้ประกอบการฝ่ายไทยมีความประสงค์ขอให้ทางประเทศมาเลเซีย ได้มีการค้าชายแดนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ยุติลงไปแล้ว
5.ข้อเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ระหว่างกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม หรือ MITI ประเทศมาเลเซีย กับกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและขั้นตอนการทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยจะมี ศอ.บต.เป็นหน่วยประสานงานกลางของทั้งสองประเทศ
@@ เปิดสเปคสะพานข้ามโก-ลกแห่ง 2 รูปเรือกอและ
ด้าน ดร.ปณิธิศร์ อื้อสุดกิจ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ ได้กล่าวสรุปในส่วนของความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ว่า รูปแบบของสะพานมีความยาวทั้งหมด 16 เมตร รวมหัวท้ายอีก 2 เมตร ซึ่งแบ่งช่วงสแปน 30 เมตร 3 ช่วง และด้านหัวท้ายเป็นช่วงสแปน 12 เมตร
ความกว้างของสะพาน 14 เมตร เป็นช่องจราจรรถยนต์ 2 ช่อง ช่องละ 3.50 เมตร รวม 7 เมตร และช่องรถจักรยานยนต์ 2.50 เมตร รวมถึงมีช่องทางคนเดินอีก 2.50 เมตร พร้อมทำหลังคาคลุมเพื่ออำนวยประชาชนในการเดินข้ามฝั่ง
ตัวแบบของสะพานมี 2 ช่องจราจรและทางเดินรถจักรยานยนต์ 1 ช่อง สถาปัตยกรรมออกแบบเป็นรูปเรือกอและ เพื่อสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นของ 2 ประเทศที่มีความคล้ายคลึงกัน
“ส่วนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคนละครึ่งกับทางมาเลเซีย ฝั่งไทยใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 160 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างตัวสะพานอย่างเดียว 110 ล้านบาท และงานถนน สิ่งประกอบในฝั่งไทยอีกประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งไทยและมาเลเซียอนุมัติแบบการก่อสร้างเป็น Detail Design คาดว่าจะขออนุมัติโครงการได้ใน ก.ค.67 แต่ระหว่างนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ค. ก็มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.ย.ปีนี้”
“หลังจากนั้นก็จะมีการลงนามข้อตกลงในการก่อสร้างที่ได้แต่งตั้งร่วมกัน รวมถึงมีการกำหนดเขตก่อสร้าง คาดว่าราวเดือน ต.ค.67 จะเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการก่อสร้างตัวสะพาน ทางมาเลเซียจะเป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด ยกเว้นถนนฝั่งไทย 50 เมตรที่ไทยจะเป็นผู้ก่อสร้าง ด้วยงบประมาณ 50 ล้าน” รอง ผอ.สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ ระบุ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า จากการฟังบรรยายสรุปของเจ้าหน้าที่ พบว่าโครงการรุดหน้าไปมากแล้ว หลังจากนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศได้คุยกัน เป็นความปรารถนาของทั้ง 2 ประเทศที่จะแก้ไขปัญหาทุกด้านให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าการลงทุน การสร้างสะพานใช้เวลา 24 เดือน ก็ต้องทำแผนงานต่อเนื่องตามงบประมาณปี 68 และ ปี 69
@@ นศ. 4 มหาวิทยาลัย เสนอพัฒนาการศึกษา
วันเดียวกัน นายภูมิธรรม ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับผู้นำนักศึกษา 4 มหาวิทยาลัย นำโดยผู้แทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา, มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และนายกสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม ที่อาคาร TK park ปัตตานี เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาด้านศึกษาในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ผู้แทนนักศึกษาได้เสนอหลายประเด็น เช่น
- สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษาท่ามกลางความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม
- เปิดเวทีเสรีภาพของนักศึกษา
- จัดหาแหล่งงานให้กับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาใหม่
- ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพัฒนา ให้เป็นที่ต้องการของตลาด
การลงพื้นที่ของนายภูมิธรรมในครั้งนี้ ยังได้พบปะกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี และพูดคุยกับชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ด้วย