“กลันตัน” เป็นหนึ่งใน 13 รัฐ และ 3 ดินแดนสหพันธ์ของประเทศมาเลเซีย เป็นรัฐที่อยู่ทางตอนเหนือ ติดกับชายแดนภาคใต้ของไทย
จุดเด่นของรัฐกลันตัน คือมีความเคร่งครัดในเรื่องของศาสนาอิสลามอย่างมาก แต่ในดินแดนของกลันตันก็ยังมีวัดเก่าแก่ ซึ่งเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธอยู่หลายแห่ง บางแห่งตั้งอยู่ติดกับมัสยิด มีพระสงฆ์ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านมาเลย์มุสลิมได้ และผู้คนในชุมชนแม้ต่างศาสนาแต่ก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดูแลกัน
หนึ่งในวัดที่อยู่กลางดงมุสลิมและศาสนสถานของอิสลาม คือ 'วัดพิกุลทองวราราม' ตั้งอยู่ในอำเภอตุมปัต เมืองโกตาบารู มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี
วัดแห่งนี้ไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงที่ประกอบกิจของสงฆ์ แต่ยังเป็นศูนย์รวมของชุมชนสยามในกลันตัน 4-5 หมู่บ้านที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่สยามประเทศ
ทว่าการขีดเส้นแบ่งเขตแดนในอดีต จากสนธิสัญญา “แองโกล-สยาม” ระหว่างสยาม หรือไทย กับอังกฤษ ในฐานะเจ้าอาณานิคมของดินแดนมลายู เมื่อปี ค.ศ.1909 หรือ พ.ศ.2452 ช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้เมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส รวมถึงเกาะใกล้เคียง เป็นดินแดนของอังกฤษ
และชาวสยามในเมืองเหล่านี้ (ต่อมาแบ่งเขตการปกครองเป็นรูปแบบสหพันธรัฐ) ต้องกลายเป็นคนมาเลเซียไป ภายหลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ แม้ชาวสยามเหล่านั้นจะมีญาติพี่น้อง หรือครอบครัวส่วนหนึ่งอยู่ในเขตสยาม หรือเขตแดนไทยในปัจจุบันก็ตาม
ชุมชนคนสยามได้ดำรงอัตลักษณ์ของตนสืบเนื่องมา และปัจจุบันวัดพิกุลทองวรารามก็ยังเป็นโรงเรียนสอนภาษาไทยด้วย นับได้ว่าวัดแห่งนี้คือศูนย์รวมในการทำกิจกรรมทางศาสนา เรียนภาษา และประกอบกิจกรรมต่างๆ ตามประเพณีของชาวสยามที่สืบทอดกันมา ไม่ต่างจากคนไทยในประเทศไทย
พระครูสุวรรณ วรานุกูล เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองวราราม เล่าให้ฟังว่า คนสยาม ก็คือคนไทยดั้งเดิม มีทั้งมาจากสุโขทัย หรือหัวเมืองในภาคเหนือ ใช้ภาษาสยามแบบดั้งเดิมในการสื่อสาร การแบ่งเขตแดนในอดีต ทำให้ไม่มีวิวัฒนาการทางภาษา แต่ชาวสยามในมาเลเซียก็สามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา คือ ภาษาสยามที่จะสื่อสารกันในวัด, ภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาถิ่น และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาราชการภาษาหนึ่งของมาเลเซีย
ทั้งนี้ หากจะจินตนาการสำเนียงตามที่ชาวสยามในมาเลย์พูดคุยกัน ก็จะเทียบเคียงได้กับภาษาไทยที่มีความเป็นล้านนา ปนกันกับความเป็นทองแดงของปักษ์ใต้ แต่ศัพท์ของภาษาสยาม ก็จะเป็นศัพท์โบราณ
''ภาษาสยาม รัฐกลันตัน สำเนียงอย่างจะแปร่งๆ ไม่เหมือนภาคกลางของไทย สำเนียงภาษานี้เป็นสำเนียงภาษาเก่าใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เช่น ร่ม ภาษาสยามจะเรียก กลด หรือ กล็อด, รองเท้า จะเรียกว่า เกือก, บันได จะเรียกว่า กะได, กางเกง จะเรียกว่า สนับเพลา เรายังใช้ภาษาเดิมๆ นี้เหมือนแต่ก่อน เพราะภาษาของคนสยามไม่มีวิวัฒนาการ”
“สมัยก่อนเวลาโดนแยกแบ่งเขตออกไป เราไม่ได้รับรู้ว่าตอนที่สยามเปลี่ยนเป็นไทย ภาษาได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด เหมือนเราถูกปิด เราก็เลยไม่ค่อยรู้วิวัฒนาการของภาษา เราก็เลยใช้ภาษาเก่า ๆ อย่างนี้ เวลาพูด เราก็เรียกว่าแถลง เหมือนแถลงการณ์ พูดง่ายๆ คือเราสื่อสารเป็นราชาศัพท์เสียส่วนใหญ่” เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองวราราม อธิบาย
ชาวสยามในมาเลเซีย นอกจากจะมีภาษาที่คล้ายคลึงกับคนไทยในประเทศไทยแล้ว ยังมีอัตลักษณ์ และประเพณีที่คล้ายกัน เช่น เมื่อคนไทยมีพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ชาวสยามในกลันตัน ก็ยังมีพิธีบูชาทุ่งนา และติดตามผลการเสี่ยงทายผ้านุ่ง ตลอดจนคำพยากรณ์ของพระโคจากกรุงเทพฯ รวมถึงยังมีการลอยกระทง มโนราห์ มีพิธีแต่งงานของคู่รัก มีการแห่ขบวนกลองยาว
นอกจากนั้น ก็ยังมีอาหารและขนมพื้นถิ่นที่คล้ายคลึงกับขนมไทยในบ้านเรา อาทิ ''ขนมจน'' หรือที่ในไทยเรียกว่า ''ขนมจู้จุน'' ซึ่งรสชาติ และเนื้อสัมผัสจะคล้ายกับ “ขนมฝักบัว” หรือแม้แต่ข้าวเหนียวที่พันมาด้วยใบตอง ด้านในเป็นกล้วยนั้น ก็คล้ายกับ “ข้าวต้มมัด” รวมไปถึงข้าวเหนียวปิ้งไส้กุ้งและมะพร้าวป่น, ขนมข้าวเหนียวแดง หรือ “เหนียวกวน” และขนมชั้น
แม้คนสยามในมาเลเซียจะมีไม่มาก แต่หลายคนก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศได้ ทั้งสมาชิกวุฒิสภา เลขานุการรัฐมนตรี นักวิชาการ ข้าราชการ ทหาร และนักธุรกิจ
พลเมืองเหล่านี้ก็ภูมิใจที่มีเชื้อสายสยาม แม้จะถือสัญชาติมาเลเซียก็ตาม
-----------------------------------------------
ขอบคุณ : เรื่องและภาพโดย คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี