นักศึกษานราธิวาสยื่น 8 ข้อเรียกร้อง “กมธ.สันติภาพใต้” ตีแผ่ปัญหาไร้แหล่งงาน จบการศึกษาเตะฝุ่นเพียบ แถมมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาสูงที่สุดในประเทศ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษารั้งท้าย ฮือฮาแทบไม่มีข้อเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบหรือประเด็นความมั่นคง ด้านผู้จัดกิจกรรมรวมพลคนแต่งชุดมลายู โวยโดนรัฐดำเนินคดีอั้งยี่ ซ่องโจร ไหนบอกหนุนพหุวัฒนธรรม
วันศุกร์ที่ 31 พ.ค.2567 ที่โรงแรมตันหยง อ.เมือง จ.นราธิวาส นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” สภาผู้แทนราษฎร พร้อม กมธ. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ ใน จ.นราธิวาส ซึ่งถือเป็นเวทีครั้งสุดท้ายจากที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาทั่วประเทศตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา
โดยในครั้งนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย.67 ตลอด 3 วันจะมีภาคส่วนต่างๆ มากกว่า 10 เวทีมาให้ความเห็นและสะท้อนปัญหาในพื้นที่
โดยเวทีแรกเริ่มต้นจากเวทีตัวแทนองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มนร. เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 31 พ.ค.67 ที่โรงแรมตันหยง มีตัวแทนนักศึกษามายื่นข้อเรียกร้องต่อ กมธ.และแลกเปลี่ยนมุมมองของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่
ตัวแทนนักศึกษาเสนอให้มีการพัฒนาแหล่งงานใน จ.นราธิวาส และจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะแม้มหาวิทยาลัยจะผลิตนักศึกษาคุณภาพออกมาทั้งด้านการแพทย์ พยาบาล วิศวกร แต่เมื่อเรียนจบแล้วต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีแหล่งอุตสาหกรรมที่จะรองรับแรงงานในพื้นที่ที่จะสำเร็จการศึกษาหรือคนว่างงาน รวมถึงส่งเสริมการอบรมทักษะอาชีพที่รองรับเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพื้นที่อย่างยั่งยืน
แต่ถึงอย่างไรก็เห็นว่าโครงการที่จะเข้ามาพัฒนา ก็ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในจังหวัดเสียก่อน
ตัวแทนองค์กรนักศึกษา กล่าวอีกว่า เรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือปัญหา “เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา” ซึ่ง จ.นราธิวาสถือเป็นจังหวัดที่มีจำนวนสูงที่สุดในประเทศ จึงต้องมีการส่งเสริมการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่เข้าถึงแหล่งทุนการศึกษามากขึ้น
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า ปัญหาที่นักศึกษาใน จ.นราธิวาสต้องเผชิญอยู่นั้น ไม่ต่างจากทุกจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ยังพบว่าข้อมูลที่ กมธ.เคยได้รับทราบจากตัวแทนของธนาคารโลก และทีดีอาร์ไอ หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็ไม่ต่างจากที่คนรุ่นใหม่ได้สะท้อนในวันนี้
การมาฟังความคิดเห็นจากคนที่อยู่ในภาคสนามจริง จึงยิ่งตอกย้ำว่าปัญหาการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ และแหล่งงานที่ขาดแคลนอยู่มาก คือโจทย์สำคัญ ถ้าแก้ได้จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่ง กมธ.ต้องสรุปในรายงานเพื่อเสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะข้อเสนอด้านแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่
@@ 8 ข้อจากคนรุ่นใหม่ ติงรัฐใช้ทรัพยากรต้องถามก่อน
สรุปข้อเสนอแนะจากนักศึกษาต่อ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้
1. พัฒนาแหล่งงานในพื้นที่ จ.นราธิวาสและชายแดนภาคใต้ สนับสนุนให้มีแหล่งอุตสาหกรรมรองรับแรงงานในพื้นที่ที่จะสำเร็จการศึกษาหรือคนว่างงาน ส่งเสริมการอบรมทักษะอาชีพที่รองรับเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของพื้นที่อย่างยั่งยืน
2. ส่งเสริมและสนับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่เข้าถึงแหล่งทุนการศึกษามากขึ้น
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ให้ทันสมัยและเพียงพอ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การคมนาคม การขนส่ง เป็นต้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและความปลอดภัยของประชาชน
4. พัฒนาการสื่อสารภาครัฐที่รวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพในหลากหลายช่องทาง เช่น การสื่อสารด้านภัยพิบัติ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และป้องกันการสื่อสารที่บิดเบือนและการเข้าใจที่ผิดพลาด
5. ส่งเสริมทักษะการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วยงานวิชาการ งานวิจัย และผลักดันสู่การสร้าง “คุณค่าและมูลค่า”
6. สนับสนุน ส่งเสริมแนวทางการใช้ชีวิตร่วมกันบนความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา
7. ควรมีกระบวนการสำรวจความต้องการ ผลดี ผลเสีย หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กรณีที่ภาครัฐจะพัฒนา หรือใช้สอยทรัพยากรในพื้นที่ และต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่
8. สนับสนุนเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมฮาลาล
@@ ผู้จัดรวมพลแต่งชุดมลายู โวยโดนคดีอั้งยี่ซ่องโจร
วันเดียวกัน กมธ.วันสันติภาพชายแดนใต้ จัดเวทีที่ 2 รับฟังกลุ่มสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเคยพบกับ กมธ.แล้วในเวทีที่ จ.ปัตตานี
โดยในครั้งนี้ทางสมัชชาได้มาสะท้อนภาพรวมของการจัดงานมลายูรายา 2024 (Melayu Raya 2024) ที่จัดไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กิจกรรมมลายูรายาถูกจัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ในปีนี้จัดไปเมื่อเดือน เม.ย. ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นคือภาพเยาวชนมุสลิมสวมชุดมลายูรวมตัวกันที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นับหมื่นคน แต่เมื่อ กมธ.สอบถามตัวแทนสมัชชาฯ ถึงที่มาของการจัดกิจกรรม กลับพบว่าเกิดขึ้นมาจากปัญหาของความไม่เข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมของภาครัฐ
ผู้มาให้ข้อมูลสะท้อนว่า “พหุวัฒนธรรม” ซึ่งถูกอธิบายจากรัฐทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ทำให้คิดไปว่าคือการทำให้สังคมมลายูถูกกลืนหายไปจากการจัดกิจกกรมของรัฐที่มักถูกอ้างว่าเพื่อส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และรัฐก็ไม่ออกมาอธิบายว่าจริงๆ แล้วรัฐต้องการส่งเสริมอะไรกันแน่ จึงทำให้ภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมขึ้นมาเอง และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนเข้ามาออกแบบกิจกรรม
ก่อนจัดกิจกรรมผู้จัดได้พูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐมาหลายครั้ง อะไรที่รัฐไม่เห็นด้วยก็จะตัดออกไปจากกิจกรรม แม้กระทั่งเพลงที่จะใช้ในงาน ก็ส่งเนื้อเพลงให้เจ้าหน้าที่ดูก่อน
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมนี้ในปี 2565 คือมีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม 9 ราย ด้วยข้อหาที่รุนแรง คืออั้งยี่ซ่องโจร ทั้งๆ ที่เป้าหมายของพวกเขาเพียงเพื่อรณรงค์ทางวัฒนธรรมมลายู และสร้างสำนึกในอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ แต่สิ่งที่รัฐทำไม่เพียงเป็นการใช้กฎหมายพิเศษปิดกั้นการแสดงออกเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ แต่ยังทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่รัฐรับปากไว้ก็อาจทำไม่ได้จริง ไม่น่าเชื่อถือ”
ผู้ให้ข้อมูล บอกต่อว่า ในปีนี้กิจกรรมเป็นไปด้วยความราบรื่น และได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่ก็มีบางคนเล่าว่าก่อนจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ก็ยังให้ผู้ใหญ่บ้านในบางหมู่บ้านประกาศไม่ให้เยาวชนไปร่วมกิจกรรม
@@ “จาตุรนต์” เสนอให้เรียน “ภาษาแม่-มลายู” เป็นหลักแทนภาษาไทย
ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า นี่คือภาพสะท้อนที่สำคัญ เพราะตลอดการทำงานของ กมธ.ที่ผ่านมา เราพบว่าการจะทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนได้นั้น ควรส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนอย่างเปิดเผย และอยู่ร่วมกันได้กับคนส่วนใหญ่ในประเทศ และรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน
“ก่อนหน้าที่จะจัดเวทีในวันนี้ ผมได้ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาใน กมธ.เพื่อศึกษาการใช้ภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาแม่ของคนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ ในการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก สืบเนื่องมาจากทั้งยูเนสโกและการไปคุยกับสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าส่วนใหญ่ทั่วโลกถ้าภาษาแม่ไม่ตรงกับภาษาประจำชาติ เขาจะให้ใช้ภาษาแม่ในการศึกษา จึงจะประสบความสำเร็จ แต่การศึกษาไทยที่ให้เด็กในชายแดนภาคใต้ใช้ภาษาไทยที่เด็กไม่เข้าใจไปเรียนในทุกวิชา ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ออกมาพบว่าต่ำที่สุดในประเทศไทย”
“นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ต้องการทำข้อเสนอที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา รวมถึงภาษา เพื่อให้รัฐบาลได้นำไปขับเคลื่อนดำเนินการต่อไป” นายจาตุรนต์ ระบุ