แม้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เพิ่งหมดวาระไป จะมาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง แต่ก็มีตัวแทนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูงด้วยเช่นกัน
และบัดนี้ก็ทำหน้าที่มาครบกรอบเวลาเต็มแม็กซ์ 5 ปีแล้ว ทว่าพวกเขาอาจยังต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะ สว.ชุดใหม่ที่กำลังเริ่มกระบวนการ “เลือกตั้งเองของกลุ่มอาชีพ” ทำท่าจะมีปัญหายืดเยื้อ
อดีต สว.ซึ่งปัจจุบันยังรักษาการอยู่ และเป็นคนชายแดนใต้โดยกำหนด มองสวนทางกับกระแสสังคมในขณะนี้ที่วิจารณ์กระบวนการได้มาซึ่ง สว. โดยเฉพาะการคัดเลือกจาก 20 กลุ่มอาชีพ มีประเด็นโจมตีว่า ไม่เหมือนที่ใดในโลก และน่าจะไม่ทำให้ได้คนเข้าสภา
“ใช่…มีคนบอกว่าวิธีเลือก สว.อย่างนี้มีประเทศไทยประเทศเดียวในโลก ไม่มีชุดความคิด ไม่มีวิธีการอย่างนี้ที่โลกนี้ทำ ผมก็ไม่ปฏิเสธ มันก็ใช่แหละ…แต่เพราะประเทศไทยมันไม่เหมือนกับประเทศอื่น ทำให้วิธีการได้มาซึ่ง สว. มีเฉพาะประเทศไทยที่ใช้วิธีนี้”
อดีต สว.จากปลายด้ามขวาน ยังบอกว่า กระบวนการเลือก สว. ออกแบบมาดีที่สุดแล้ว แต่ไม่สามารถสู้กับ “ความฉ้อฉล” ของพวกแสวงหาอำนาจได้
“วิธีการที่ออกมาเป็นวิธีการที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว คาดไม่ถึงว่าเขาจะใช้กลยุทธ์แบบที่เป็นข่าว ถ้าทุกคนมีการจัดตั้งเข้าไป ผมก็คิดอีกทางหนึ่งเหมือนกันว่าเราต้องใช้วิธีการจับผิดโดยผู้สมัครด้วยกันเอง ต้องคอยจับผิดกัน เช่น เขาใส่เสื้อแดง กลุ่มที่เขาใส่เสื้อแดงเขาส่งสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง เขาต้องมีการเลือกคนนั้น แปลว่ามีการเริ่มส่งสัญญาณ มีการแอบรวมกลุ่ม ก็ต้องร้อง กกต.”
“ผู้สมัครต้องทำหน้าที่ 2 หน้าที่ในเวลาเดียวกัน นอกจากจะเป็นผู้สมัคร อาสามาพัฒนาบ้านเมืองแล้ว ยังต้องทำหน้าที่คอยสอดส่อง ปกป้อง ไม่ให้คนชั่วเข้าสภาไปได้ ต้องทำควบคู่ในเวลาเดียวกัน ต้องร่วมมือกัน จะทำให้เราได้คนดีเข้ามาเป็น สว.”
อดีตสมาชิกวุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่มา 5 ปีเต็ม ย้ำว่า ผู้ที่สมัคร สว.ทุกคนต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร
“อย่าไปเป็นเหยื่อให้ใคร อย่าไปปฏิเสธว่าระบบไม่ดี ระบบจะดีได้อยู่ที่เราช่วยกันรักษาระบบ ต้องทำให้ได้คนอย่างที่เราคาดหวังว่าจะไปช่วยบ้านเมืองได้ ได้คนดีจริงๆ อย่าไปผิดหวังกับระบบ มั่นใจว่า สว.ชุดหน้าจะได้คนดีเข้ามา ถ้าเราร่วมมือกัน”
@@ แฉยะลามีเตรียมจัดตั้ง 1,000 เสียงเลือก สว.
อดีต สว.อีกรายซึ่งไม่ได้คนชายแดนใต้ แต่ลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่ปลายด้ามขวานบ่อยๆ มองต่างมุมว่า กติกาการเลือก สว.สุ่มเสี่ยงเปิดทางให้เครือข่ายการเมือง กลุ่มสีเทา กลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือกลุ่มแสวงประโยชน์เข้าไปในสภาสูง
“เจตนารมณ์เราอยากได้คนหน้าใหม่ ให้ตาสีตาสามา ไม่ใช่หลานรัฐมนตรี หรือคนของรัฐมนตรี หรือ ภรรยา สส. แต่ปัจจุบันเริ่มใช้วิธีจ้างให้สมัครเพื่อมาเลือกบางคน บางจังหวัด เช่น ยะลา เขาเตรียมคนไว้ลงสมัคร 1,000 คน พวกนี้มีเงิน เขาเป็นกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง เขามีเงิน เขาก็จ้างคนมาให้เลือกกันเองในกลุ่มเขา ระดับจังหวัด ระดับประเทศ จ้างมาเพื่อให้เลือกเขา เขายอมลงทุนเลย 5 ล้าน 10 ล้าน 20 ล้าน เขามีเงิน ตาสีตาสาทำไม่ได้ คนที่เราอยากได้ 20 กลุ่มอาชีพไม่ง่ายที่จะเข้ามา”
เขาเรียกร้องให้ กกต.ทำหน้าที่หนักขึ้น อย่างรู้เท่าทัน
“ทางออกคือ กกต.ต้องหน้าที่ให้มากขึ้น จัดเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร สอดส่องทางลับให้มาก คนที่จะเข้ามาต้องโกงน้อยที่สุด กกต.ต้องทำให้เขาเห็นและรู้ว่าเขาทำอย่างนั้นบ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น กกต.ต้องใช้อำนาจที่มี ไม่ใช่ว่า กกต.รู้ดีว่าปัญหาคืออะไร เขาฮั้วกันอย่างไร แต่ กกต.ไม่ทำอะไร เสมือนพร้อมอยู่ภายในการชี้นำของผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล แบบนี้ไม่ได้
อดีต สว.เสนอให้ กกต.มีตัวช่วยในการทำงาน มีอาสาสมัครในพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายของ กกต. ทั้งในการสืบสวนและการข่าว มาเป็นหูเป็นตา เป็นปากเสียงแทนประชาชน
เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือต้องได้ สว.ที่ดี ไม่ว่าวิธีการเลือกจะเป็นอย่างไรก็ตาม