สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา หรือ ไอเอฟดี เพิ่งเผยแพร่ผลสำรวจ “ไอเอฟดี โพล” เมื่อวันที่ 9 พ.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำเสนอในสื่อกระแสหลักบางแขนง
ไอเอฟดี โพล สำรวจความเห็นจากกลุ่มประชาชน 1,276 ตัวอย่างทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25-30 เม.ย. 67 และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสายการเมืองการปกครอง 73 ท่าน 6 กลุ่ม โดยสํารวจช่วงวันที่ 1 -6 พ.ค.67
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และประธานสถาบันการสร้างชาติ วิเคราะห์ผลโพลของไอเอฟดี เพื่อฉายภาพการเลือก สว.แบบใหม่ ครั้งแรกของเมืองไทย และครั้งแรกของโลก
// นัยที่สะท้อนจากผลไอเอฟดีโพล //
1.ไม่ได้ตัวแทนประชาชน
ผลไอเอฟดีโพล พบว่า การเลือก สว. ครั้งนี้ จะได้คนรักษาผลประโยชน์ชาติ/ประชาชนเข้ามาเพียง 24.1% และผลสํารวจในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 53.8% ระบุว่า จํานวนคนที่ได้เป็น สว. ตามวิธีเลือกตั้งที่ กกต.กําหนด โดยไม่ใช่จัดตั้ง/ฮั้วเข้ามา น่าจะไม่เกิน 50 คน ซึ่งนับว่าน้อยมาก ไม่เป็นไปตามเจตนารมรณ์ของรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้ง สว.เข้าวุฒิสภา
2.ได้ตัวแทนที่สัมพันธ์กับพรรคการเมือง/นายทุน
จากผลไอเอฟดีโพลที่สํารวจในกลุ่มประชาชน พบว่า ประชาชน 72.8% ให้ความเห็นว่า หน้าตา สว. ที่จะเข้าสภา จะได้คนที่เชื่อมโยงพรรคการเมืองและนายทุน
สอดคล้องกับผลสํารวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่พบว่า ผู้เชี่ยวชาญ 92.3% ระบุว่า มีความเป็นไปได้แน่นอนและเป็นไปได้อย่างมากที่พรรคการเมืองจะจัดตั้งกลุ่มคนเข้าสมัคร สว. เพื่อลงคะแนนให้คนที่พรรคกําหนด
อีกทั้งมีผู้เชี่ยวชาญ 69% ระบุว่า สว. ที่จะได้รับเลือก จะมีความสัมพันธ์กับฝ่ายรัฐบาล และผู้เชี่ยวชาญ 38.5% ระบุว่า สว. ที่ได้รับเลือกจะมีความสัมพันธ์กับฝ่ายค้าน อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญ 61.6% ระบุว่าการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ น่าจะเป็นอดีตนักการเมือง เกิน 75 คน
3.ได้ตัวแทนที่มาจากการฮั้ว/การจัดตั้งเป็นหลัก
แม้จะมีความพยายามออกแบบการเลือก สว. เพื่อให้ได้ สว.ที่เป็นอิสระจากพรรคการเมือง และได้ตัวแทนประชาชนเข้ามาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่จากผลสํารวจ พบว่า ประชาชน 59.7% ให้ความเห็นว่า สามารถบล็อกโหวต/สร้างคะแนนเสียงจัดตั้งได้สําเร็จ
ในขณะที่จํานวนคนที่ได้เป็น สว.ตามวิธีเลือกตั้งที่ กกต.กําหนด โดยไม่ใช่การจัดตั้ง/ฮั้ว จะเข้ามาได้เพียง 1 ใน 4 ของจํานวนตัวแทนทั้งหมด ทั้งนี้การมีจํานวนคนสนใจสมัคร สว.น้อย ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้ตัวแทนจากการฮั้ว/จัดตั้งเข้ามาได้มากขึ้น
4.ไม่ได้ตัวแทนที่ดีมีคุณภาพเข้าวุฒิสภา
การเลือก สว.ครั้งนี้ คน 5 ด. (ดี เด่น โดน ดัง ดาว) หรือเรียกว่า “คนดาวฤกษ์” ที่มีแสงในตัวเอง จะเข้าสภาได้ในจํานวนน้อยมาก หรือแทบไม่ได้เลย เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่อยากมาสมัคร เพราะการเลือก สว.แบบใหม่ มีความซับซ้อน คิดว่าสมัครไปก็ไม่ได้รับเลือก เปลืองตัว ไม่ใช่ธุระหน้าที่และไม่สามารถสู้คนที่มาจากการฮั้ว/จัดตั้งได้ ทําให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่จะได้คนมีคุณภาพเข้าวุฒิสภา
อีกทั้งผู้คนไม่ทราบประวัติของคนที่สมัคร สว.ที่มากเพียงพอในการตัดสินใจเลือก สว.ที่ดีเข้าสภาได้
ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญ 84.7% ให้ความเห็นว่า ลักษณะของคนที่เมื่อลงสมัครแล้ว จะได้รับเลือกแน่นอน คือ คนที่ผู้คนรู้จักชื่อและมีผลงาน นั่นหมายถึงคนจะเลือก สว. บนเกณฑ์การเป็นที่รู้จัก/มีชื่อเสียง แต่เกณฑ์นี้ไม่ได้รับประกันว่าจะเป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน
5.ประชาชนเบื่อหน่าย/ไม่สนใจเลือก สว.
ผลไอเอฟดีโพลพบว่า ประชาชน 82.5% ระบุว่า หมดหวังกับการเลือก สว.แบบใหม่ เพราะทําให้เปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่แย่ลง
อีกทั้ง ประชาชน 81% คิดว่า จะไม่สมัคร สว. เพราะเบื่อการเมือง และไม่คิดว่าตนจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้
สาเหตุสําคัญคือการไม่รู้และไม่เข้าใจการเลือกตั้ง สว.แบบใหม่, สภาพบรรยากาศที่ส่อว่าจะบล็อกโหวตได้, การมีกติกาที่ซับซ้อน ประกอบกับประชาชนคิดว่ามีแนวโน้มที่จะฮั้ว/จัดตั้งในการสมัคร สว. ได้ ยิ่งส่งผลให้ประชาชนเบื่อหน่าย/ไม่อยากยุ่งกับการเมืองรวมถึงไม่สนใจเลือก สว.
6.มีการรณรงค์/ประชาสัมพันธ์น้อย/ไม่มากพอ
ผลไอเอฟดีโพล พบว่า ประชาชน 68.5% ไม่สนใจการเลือก สว. โดยกลุ่มที่ไม่สนใจ 83.4% ระบุเหตุผลว่าเพราะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร และไม่เข้าใจข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว.แบบใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาการรณรงค์จาก กกต. ยังไม่เพียงพอที่จะทําให้ประชาชนในวงกว้างเข้าใจกระบวนการเลือกตั้ง
อีกทั้งยังมีข้อจํากัดในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ในการแนะนําตัวผู้สมัคร สว. การรวมกลุ่มกันมาสมัคร รวมถึงประเด็นการให้หน่วยงานหรือองค์กรที่จะเข้ามาช่วยรณรงค์เชิญชวนว่าทําได้มากน้อยแค่ไหน และในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งยังคงมีข้อคําถามและยังมีการตีความเกี่ยวกับกติกาที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ
7. บรรยากาศ “สงัด ไม่สนั่น”
ผลสํารวจกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 46.2% คาดการณ์จํานวนคนสมัคร สว. ทั้งประเทศมีประมาณ 1 แสนคน และ 38.5% คาดว่าต่ำกว่าหลักแสนคน เพราะการณรงค์เกี่ยวกับการเลือก สว. ยังมีน้อยเกินไป
ประกอบกับคนที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเลือก สว.นี้ โดยธรรมชาติจะไม่ได้เข้ามาสมัคร สว. มากนัก เพราะคิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับตน ไม่ใช่ธุระ ตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก และสมัครไปก็ไม่ได้รับเลือก เพราะไม่มีพรรคพวก ฯลฯ ทําให้การเลือก สว. ยังมีผู้สมัครจํานวนไม่มากตามที่คาดการณ์ไว้
// ข้อเสนอการเลือก สว. แบบใหม่ //
กกต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีต่างๆ ควรร่วมกันเร่งดําเนินการเร่งด่วนและเต็มกําลังในการทําให้ประชาชนมีความหวังต่อการเลือก สว. ว่าจะได้ตัวแทนประชาชนที่ดีมีคุณภาพเข้าไปพัฒนาประเทศ เห็นความสําคัญกับการไปเลือก สว. แม้คนที่ไม่มีฐานเสียงก็สามารถเป็น สว.ได้ เพื่อให้เกิดการสมัคร สว.กันเป็นจํานวนมาก โดยเสนอแนวทาง ดังนี้
1.หาพันธมิตรร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์การเลือก สว.แบบใหม่ ทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง/เป็นที่รู้จักองค์กร และสถาบันต่างๆ โดยทํางานร่วมกันอย่างเป็นพันธมิตร ดังตัวอย่างที่สถาบันการสร้างชาติ (NBI) จัดอบรมให้ความรู้การเลือก สว.แบบใหม่ให้ประชาชนใน 77 จังหวัด โดยดําเนินการอย่างเร่งด่วนและเข้มข้น ซึ่งยังพอมีเวลาก่อนช่วงเวลาเลือก สว.
2.ส่งเสริมเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป ที่แม้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรคการเมือง/นายทุน/ผู้มีอิทธิพล มาสมัคร สว.ให้ได้มากที่สุด
โดยมีการณรงค์และให้ความรู้ในวงกว้าง เพื่อให้คนไทยที่เข้าเกณฑ์ที่ กกต.กําหนด ให้เห็นความสําคัญและความจําเป็นในการสมัคร สว. เพื่อร่วมกันเข้าไปเลือกคนดีมีคุณภาพเข้าวุฒิสภา และจะมีส่วนลดจํานวนตัวแทนที่มาจากการจัดตั้งของพรรคการเมือง/ผู้มีอิทธิพล/นายทุนได้
3.เชิญชวนและจูงใจให้ “คนดาวฤกษ์” เข้าร่วมสมัคร สว.ให้ได้มากที่สุด
คนดาวฤกษ์คือ “คนดี เด่น โดน ดัง ดาว” เพื่อให้คนกลุ่มนี้ ที่มีพลังเข้ามาร่วมพัฒนาประเทศ โดยมีกระบวนการทําให้คนกลุ่มนี้อยากมีส่วนร่วม โดยเชิญชวนให้นําเสนอชื่อกลุ่มคนนี้ขึ้นมาในแต่ละพื้นที่แต่ละอําเภอและจังหวัด อาจรวมกลุ่มกันสมัครขึ้นมา มีการกระจายประวัติผู้สมัครในวงกว้างให้เป็นที่รู้จัก แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้มีฐานเสียงมาก่อน
และที่สำคัญ ต้องมีระบบการเลือก สว. ที่โปร่งใส/ตรวจสอบได้ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจและจูงใจให้กลุ่มคนดาวฤกษ์เข้ามาสมัครกันอย่างกว้างขวาง
4.ปรับให้กระบวนการสมัครไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทําให้การสมัครง่ายและสะดวก มีระบบในการตรวจสอบคุณสมบัติและให้คําแนะนําแต่แรกเริ่มต้นของการสมัคร และระหว่างการสมัคร โดยทําให้ผู้สมัครไม่รู้สึกกลัว เช่น ไม่ต้องกลัวจะผิดระเบียบ เป็นต้น
5.นําส่งประวัติผู้สมัคร สว. ไปให้ถึงผู้สมัคร สว.ทุกคน และไปในวงกว้าง ให้เกิดการรับรู้ทั่วกันเกี่ยวกับประวัติของผู้สมัคร สว.ให้กระจายไปในวงกว้างให้ได้มากที่สุด ในช่องทางที่หลากหลาย และเป็นช่องทางที่สะดวกรวดเร็วในการรับข้อมูลประวัติของผู้สมัคร เพื่อให้ผู้สมัคร สว.ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกคนดีมีคุณภาพเข้าสภา
แม้ว่าคนนั้นจะไม่ได้เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่หากเป็นคนมีคุณภาพ เป็นกลุ่มคนดาวฤกษ์ เป็นคนดีเก่งกล้า ก็มีโอกาสจะถูกเลือกเข้าวุฒิสภา