ประชุมฝ่ายเทคนิคคณะพูดคุยฯ “ไทย-บีอาร์เอ็น” ได้ข้อสรุปจัดประชุมเวิร์คชอปร่วมกันครั้งแรก 19-21 พ.ค. ที่มาเลเซีย ลุยวางกรอบติดตามการลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ แบ่ง 2 ระยะ ตั้งกลไก 2 ระดับ ดึงบุคคลจากอาเซียนเข้าสังเกตการณ์ เสนอชื่อฝ่ายละคน
วันอังคารที่ 30 เม.ย.67 พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเทคนิค คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยผลการประชุมฝ่ายเทคนิค คณะพูดคุยฯ กับ ดร.นิมะ เจ๊ะแต หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของฝ่ายบีอาร์เอ็น ระหว่างวันที่ 27-30 เม.ย. ที่รัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน ประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) ร่วมกันเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค.67 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อวางกรอบรายละเอียดการทำงานร่วมกันในการลดสถานการณ์ความรุนแรง และการปรึกษาหารือสาธารณะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างสันติสุขถาวรในพื้นที่
พล.ท.ปราโมทย์ กล่าวว่า หัวเรื่องที่จะมีการหารือกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการกลางเดือน พ.ค. เป็นกิจกรรมที่จะดำเนินการของแต่ละฝ่าย หรือทำร่วมกัน ในช่วงของการลดสถานการณ์ความรุนแรงและช่วงของการปรึกษาหารือสาธารณะ หลังการลงนามร่วมกันในแผนปฏิบัติการร่วมสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP (JOINT COMPREHENSIVE PLAN TOWARDS PEACE) ที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่วมกันมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้ลงนามให้ความเห็นชอบ
อีกเรื่องจะเป็นการหารือ TOR กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และการบริหารจัดการของกลไกติดตามสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านสถานการณ์ ที่มีการกำหนดห้วงเวลาเป็น 2 ระยะ
ช่วงแรก ในเรื่องการลดสถานการณ์ความรุนแรง 3 เดือนและ 6 เดือนในช่วงที่สองที่ต่อเนื่องจากช่วงแรก
พล.ท.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการประชุมฝ่ายเทคนิค ในการหารือกับบีอาร์เอ็นในเรื่องของกลไกติดตามสถานการณ์ที่มีการหารือกัน ในที่ประชุมได้ยืนยันว่า การพูดคุยในครั้งนี้เป็นเรื่องปัญหาภายในประเทศไทย เป็นเรื่องที่คณะพูดคุยของทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทุกรายละเอียด นำไปสู่การตกลงร่วมกันของกลไกติดตามสถานการณ์ ซึ่งมีสองระดับด้วยกัน
ระดับแรก เป็นการติดตามสถานการณ์จากส่วนกลาง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการ ได้ข้อสรุปว่า เป็นเรื่องของคณะทำงานคณะพูดคุยอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่าย ที่มีนายฉัตรชัย บางชวด และ อานัส อับดุลราห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยของทั้งสองฝ่าย และผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ทำหน้าที่ในคณะทำงานส่วนกลาง
และมีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ในคณะพูดคุยอยู่แล้ว โดยเพิ่มเติมด้วยตัวแทนของบุคคลจากประเทศอาเซียนจำนวน 2 คน ซึ่งในเรื่องของผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ จะต้องไม่เป็นตัวแทนของรัฐ ภาคราชการ ไม่เป็น NGO ภาคประชาสังคม ให้ทั้งสองฝ่ายมีการเสนอขึ้นมาฝ่ายละหนึ่งคน ในการประชุมคราวหน้าจะมีการพิจารณารายชื่อกัน
ลำดับต่อมาจะเป็นการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ในภาคสนาม เราเห็นสอดคล้องกันว่าจะต้องมีการออกแบบรูปแบบกลไก ประกอบด้วย บก.ติดตามสถานการณ์ และคณะทำงานติดตามสถานการณ์ เป็นรายจังหวัดของทั้ง 4 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงกรอบแนวทางที่จะจัดทำรายละเอียดของกิจกรรม ซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องของกิจกรรมลดความรุนแรงที่มีมุมมองความเห็นที่แตกต่างกัน ทางผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียได้ให้มีการทำแผนผังใหญ่ มีการลงรายละเอียดของกิจกรรม มีการทำตัวอย่างให้ดู ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปเป็นประเด็นในการพูดคุยระหว่างจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งหน้า
ส่วนประเด็นข้อเสนอในเรื่องการปรับลดกำลัง และแนวทางในการยุติการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ ยังไม่มีการหารือกัน โดยหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องโครงสร้างของกลไกติดตามสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว จะมาวางกรอบแนวทางในการจัดทำรายละเอียดของกิจกรรมในแต่ละระยะ จะต้องมีการลงรายละเอียดและพูดคุยกันค่อนข้างมาก
“ทางผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียเสนอว่า ควรยกไปหารือในช่วงการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ในการประชุมคณะเทคนิคครั้งหน้า เราก็จะมีการหารือกันใน 3 เรื่อง คือ
1.รูปแบบกำหนดรายละเอียดของกิจกรรม
2.จัดทำรายละเอียดของแต่ละกิจกรรมว่าจะต้องมีการปฏิบัติอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรที่สามารถทำร่วมกันได้
และ 3.เป็นเรื่องของ TOR เกี่ยวกับหน้าที่บทบาทของกลไกติดตามสถานการณ์ ทั้งจากส่วนกลางและภาคสนาม เป็นกรอบที่เราร่วมกันวางไว้ในการประชุมเทคนิคครั้งหน้า” แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเทคนิคฯ ระบุ