“โรงไฟฟ้าชีวมวล” เป็นสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบของ “โรงงาน” ที่ผุดขึ้นหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นๆ ในเกือบทุกภาคของประเทศไทย
ความหมายของโรงไฟฟ้าชีวมวล คือ โรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟจากพลังงานทดแทนที่ได้จากการแปรรูปวัสดุชีวมวลและสารอินทรีย์ประเภทต่าง ๆ นำเศษวัสดุที่เป็นชีวมวลในพื้นที่ ได้แก่ รากไม้ยางพาราสับ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ มาเป็นเชื้อเพลิง ด้วยการเผา การหมัก การบ่มก๊าซเพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อน หรือก๊าซ แล้วนำผลผลิตเหล่านั้นไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า
วัสดุ “ชีวมวล” ที่นำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ยังมีจำพวก แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ กะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า รวมถึงขยะมูลฝอย หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์ต่างๆ
โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ถูกคนร้ายบุกเผาและวางระเบิด 1 ใน 2 แห่ง เป็นของ บริษัท ประชารัฐชีวมวล แม่ลาน จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
เดิมโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล จะมีการตั้งโรงไฟฟ้า 3 แห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าของบริษัทประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลา และ โรงไฟฟ้าของ บริษัทประชารัฐชีวมวล นราธิวาส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล นราธิวาส ได้ถูกพักโครงการเอาไว้ก่อน เนื่องจากยังติดปัญหาผังเมืองไม่สามารถจัดหาที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าได้
โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งที่ปัตตานีและยะลา มีการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2.85 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง 3.00 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงจากเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก
ส่วน โรงไฟฟ้ารุ่งทิวาไบโอแมส ที่บ้านปลักบ่อ หมู่ 2 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็น 1 ใน 2 โรงไฟฟ้าที่ถูกเผาและลอบวางระเบิด ดำเนินการโดย บริษัทรุ่งทิวา ไบโอแมส จำกัด โดยกลุ่มการเมืองท้องถิ่นของสงขลา ใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เน้นเชื้อเพลิงจากไม้ยางพารา พร้อมสร้างงานให้กับคนใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา
@@ ผุดแล้ว 15 โรง - แผนสร้างอีกเพียบ - ชาวบ้านค้าน
ส่วนภาพรวมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 15 โรง เป็นของภาคเอกชนในพื้นที่ มีกำลังการผลิตกว่า 230 เมกะวัตต์ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้ผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าชีวภาพชีวมวล อีก 150 เมกะวัตต์ รวมๆ แล้วก็อีกนับสิบโรง
เอกชนที่ลงทุนกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ บางส่วนเชื่อมโยงกับการเมืองท้องถิ่น หลายโครงการถูกคัดค้านจากประชาชนบางส่วนในพื้นที่ เพราะหวาดกลัวผลกระทบ เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้า ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี, อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
แกนนำในพื้นที่ซึ่งเคยมีส่วนร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้า ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านบางส่วนไม่เห็นด้วยเพราะกลัวมลพิษ เกรงว่าจะมีการปล่อยควันในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากใช้ความร้อนจากการเผาเศษวัสดุต่างๆ นอกจากนั้นการบำบัดน้ำที่อ้างว่าเป็นกระบวนการบำบัดกันภายใน และไม่กระทบแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ก็มีรายงานการแอบปล่อยน้ำอยู่บ่อยๆ ทั้งยังมีเสียงดังจากโรงไฟฟ้า ข้อมูลเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่ว จนกลายเป็นกระแสต้านในหลายพื้นที่