วันพฤหัสบดีที่ 25 เม.ย.67 นับเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม พร้อมองค์กรเครือข่าย ได้พาญาติผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ตามที่ได้ประกาศเอาไว้
องค์กรที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ นอกจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยังมีมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ปรากฏตัวเป็นโจทก์ร่วมมากกว่า 50 คน
ที่น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่รัฐ 9 คนที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตยื่นฟ้อง เป็นใครบ้าง?
จากการเปิดเผยของ ผอ.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ประกอบด้วย
- แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น (พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ปัจจุบันเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย)
- ฝ่ายปกครอง
- ฝ่ายตำรวจ โดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
รายชื่อผู้ที่ถูกยื่นฟ้อง ไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจน แต่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ขยายความเพิ่มเติม
“เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกฟ้อง เรารู้ว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจจะมากกว่า 9 คนด้วยซ้ำ แต่การฟ้องหัวหน้าศูนย์ราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง คือสัญลักษณ์ของความเป็นธรรม เพราะหัวหน้าจะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะทำอะไรจนมีคนเสียชีวิต ระดับนี้เขาควรจะต้องรับผิดชอบ ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย”
ขณะที่ อับดุลกอฮาร์ อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องยื่นฟ้อง และความเชื่อที่ว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องเอง
“เป็นคดีที่ผ่านการไต่สวนการตายมาแล้วที่ศาลจังหวัดสงขลา แต่ว่าในการไต่สวนการตายทุกคดี มันก็ต้องมีการส่งสำนวนไปยังอัยการ แล้วก็พนักงานสอบสวน ถ้าคดีไหนที่มันมีมูล มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินคดี แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีผู้ใด และมันจะครบกำหนดอายุความวันที่ 25 ต.ค.ปีนี้”
“เริ่มแรกเราตามสำนวนจากทางฝ่ายพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการ โดยผ่านกรรมาธิการการกฎหมายฯ แต่ว่าสำนวนมันมีปัญหา หาไม่เจอบ้างอะไรประมาณนี้ พอเราเห็นว่าคดีจะล่าช้าและอายุความก็ใกล้จะหมด หากเราปล่อยไป มันจะทำให้คดีนี้จบไปโดยที่ไม่มีใครต้องมารับผิดชอบ ก็เลยปรึกษากับทางชาวบ้านที่เป็นผู้เสียหาย ทั้งผู้บาดเจ็บจากในเหตุการณ์ และญาติของผู้เสียชีวิต”
“มีการประชุมกัน แนะนำข้อกฎหมายว่า ถึงแม้คดีไต่สวนการตายมันจะผ่านไปแล้ว แต่กฎหมายไม่ได้ตัดสิทธิ์ให้กับผู้เสียหายหรือญาติของผู้ตายจะฟ้องคดีเองได้ สรุปผู้เสียหายบอกว่าจะฟ้องคดีเป็นคดีอาญา ทีมทนายความก็เลยมาคุยกันปรึกษาหารือกัน และตัดสินใจมาฟ้องคดีในวันนี้“
“พยานหลักฐานมีทั้งรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง และภาพถ่าย รวมทั้งการฝากขังของผู้เสียหายที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ โดยกำหนดนัดไต่ส่วนมูลฟ้อง วันที่ 24 มิ.ย.67”
“ช้อหาที่ฟ้อง คือ การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่ว่าเป็นการฆ่าประเภทที่เล็งเห็นผล เป็นศัพท์ของกฎหมาย เพราะว่าตามกฏหมาย มันมีฆ่าประสงค์ต่อผล กับฆ่าโดยเล็งเห็นผล คือถึงแม้ไม่ได้เจตนาโดยตรง แต่ถ้าเล็งเห็นได้ว่า ทำแบบนี้จะทำให้คนถึงแก่ความตาย ก็เข้าองค์ประกอบของกฎหมาย” ผอ.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุ
ด้านความเห็นของครอบครัวเหยื่อตากใบ
บุสรอ อับดุลเลาะ อายุ 38 ปี น้องสาวของนายสาโรจน์ โต๊ะเล ชาว อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส บอกว่า “พี่ชายเสียชีวิตในเหตุการณ์ ตอนนั้นกำลังเรียนชั้น ม.6 ทราบข่าวว่าพี่ชายเสียชีวิต ทราบข่าวจากทีวีรายงานชื่อผู้เสียชีวิต มีชื่อพี่ชายอยู่ด้วย จึงพยายามติดต่อผู้ใหญ่บ้านเพื่อที่จะไปขอรับศพ ผ่านไป 3 วันกว่าจะได้ศพพี่ชาย”
“แม่ก็เคยขึ้นไปสู้มา ตอนนั้นเรายังเรียนอยู่ ยังเด็กอยู่ ไม่รู้เรื่องของกฎหมายอะไร แม่ได้ไปกับศูนย์ทนายความ ไปสู้คดีที่สงขลา แต่พอเราโตขึ้น มีรัฐบาลมาเยียวยา เราก็นึกว่าที่รัฐบาลเยียวยา ทางทนายสู้คดีชนะแล้ว รัฐบาลก็เลยให้เงินเยียวยา แต่พอมารู้ความจริงว่า คนทำผิดยังไม่ได้รับโทษอะไรเลย และสำนวนคดีก็หาย ก็เลยคุยกันว่าจะสู้เพื่อขอความยุติธรรมอีกครั้ง เพราะว่าจากเหตุการณ์ตากใบ ในด้านจิตใจทางรัฐบาลทำกับพี่น้องของเราโหดเหี้ยมเกินไป เราจะยอมให้คนทำผิดลอยนวลไปไม่ได้”
บุสรอ บอกด้วยว่า ถ้าศาลไม่รับฟ้อง ก็จะยื่นอีกจนถึงสิ้นอายุความ ให้รู้กันไปเลยว่าความยุติธรรมประเทศไทยไม่มี
“อยากจะบอกว่าคือเรารอคอยความยุติธรรมตลอด 19 ปี ครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นปีสุดท้าย ก็อยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆ”