ในบรรยากาศที่คณะพูดคุยสันติสุขฯฝ่ายรัฐบาลเอง เดินหน้าลุย JCPP หรือแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ที่ตกลงเบื้องต้นกับบีอาร์เอ็นต่อไปแบบไม่หยุดยั้ง
ฝั่งที่ทักท้วง คัดค้าน ก็ส่งเสียงเตือนดังขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวบางคน ไม่ใช่ฝ่ายวิชาการ หรือผู้สังเกตการณ์ แต่เป็นผู้ที่เคยอยู่ “วงใน” และเป็นมือทำงานตัวจริง นั่งอยู่ในโต๊ะเจรจาจริงๆ
หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งใกล้หมดวาระเต็มที
พล.อ.อักษรา คัดค้านแผน JCPP มาตั้งแต่ต้น เคยเผยแพร่ข้อเสนอเป็นเอกสาร โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อใด แต่ข้อเขียนก็ตรงไปตรงมา และแรงได้ใจจริงๆ
อ่านประกอบ : “อักษรา” ท้วง “ทีมเจรจา” อ่อนด้อย - เดินผิดทาง ยิ่งจุดไฟความรุนแรง
ข้อเสนอชิ้นแรกของ พล.อ.อักษรา เผยแพร่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ภายหลังมีการเปิดข้อมูลรายละเอียดของ JCPP จากโต๊ะพูดคุยแบบเต็มคณะ ก่อนหน้านั้น
แต่หลังจากข้อเสนอชุดแรก ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบรับจากคณะพูดคุยฯมากนัก ล่าสุด พล.อ.อักษรา จึงเผยแพร่ข้อเสนอชุดที่ 2 มีจำนวน 6 ข้อ จั่วหัวว่า “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย”
หลายคนได้อ่านแล้วบอกว่า ตรงกว่าเก่า และแรงกว่าเดิม...
1. อย่าเบี่ยงประเด็นและเปลี่ยนปัญหา จชต. จากปัญหาการก่อการร้ายไปเป็นปัญหาอื่น เช่น ปัญหายาเสพติด และภัยแทรกซ้อนอื่นๆ ตามที่ BRN ต้องการ เพราะจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลทุ่มเททรัพยากรไปผิดทาง
2. อย่าใช้วาทกรรมหลีกเลี่ยงคำว่า "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นพื้นที่ปลอดเหตุ หรือ พื้นที่สันติสุขตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล แนวร่วม BRN ชี้นำ เพราะจะทำให้ฝ่ายเรามองข้ามมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่นั้นๆ
3. อย่ามุ่งแก้ปัญหาการบ่มเพาะเฉพาะในสถานการศึกษา เช่น ปอเนาะ ตาดีกา อย่างเดียวเท่านั้น เพราะ BRN ขยายแนวร่วมทุกกลุ่มอาชีพ สร้างอัตลักษณ์มลายู จึงต้องเร่งงานมวลชนในทุกกลุ่มอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ด้วย
4. สมควรทบทวน JCPP ที่ไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะเป็นแผนซื้อเวลาของ BRN เพื่อใช้แผนสันติภาพยืนยันประวัติศาสตร์ รัฐสยามยึดครอง รัฐเอกราชปัตตานี จนนำไปสู่การแทรกแซงจากองค์กรต่างประเทศตามมติ UN 1514 ให้รัฐอาณานิคมสามารถกำหนดใจตนเองได้
5. กระบวนการพูดคุยฯ ต้องมุ่งสู่การยุติความรุนแรง ด้วยใช้ความต้องการของประชาชนเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นประเด็นหลักในการพูดคุยฯ โดยให้ BRN เป็นฝ่ายเลือกพื้นที่เพื่อพิสูจน์ความไว้วางใจต่อประชาชน เป็นความเร่งด่วนแรก
6. ดำรงสถานะปัญหา จชต. ให้เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคง ยืนยันตามหลักการนี้อย่างชัดเจน และกำหนดไว้ในเอกสารนโยบายแก้ปัญหา จชต. ในทุกระดับ