แม้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในหมวกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะถูกวิจารณ์อย่างหนักกรณี “นักโทษชั้น 14” และ “พักโทษเหมือนพ้นโทษ”
แต่อีกด้านหนึ่งของภารกิจดูแลกรมราชทัณฑ์ พ.ต.อ.ทวี ก็จริงจังกับเรื่องสิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง
ผลงานสำคัญในห้วง 6 เดือนแรกที่เข้าดำรงตำแหน่ง คือการแยกสถานที่คุมขังของ “ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี” กับ “นักโทษเด็ดขาด” ออกจากกัน นำร่องที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี และมีแผนขยายไปยังเรือนจำใหญ่ทุกภูมิภาคของประเทศ
ทั้งยังมีการพูดถึงพัฒนาการศึกษาให้กับผู้ต้องขัง เพราะส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ดังสำนวนที่คนไทยรู้จักกันดี “โง่ จน เจ็บ”
ไม่นับรวมถึงการสานต่อโมเดลคุมประพฤติผู้ก้าวพลาดในคดียาเสพติด โดยเน้นพัฒนาพฤตินิสัย ปลุกสำนึก และเสริมทักษะในการดำเนินชีวิต รวมถึงการประกอบวิชาชีพ เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอย่างยั่งยืน
อีกกิจกรรมหนึ่งที่ พ.ต.อ.ทวี ทำอย่างเงียบๆ มาตลอด ก็คือ “เยี่ยมเรือนจำ” แม้กระทั่งเรือนจำเล็กๆ อย่างเรือนจำจังหวัดอ่างทอง ที่มี สส.ร้องเรียนว่าแออัด ก็ยังแอบไปเยี่ยม ไปดูของจริงในวันหยุดราชการ
ในห้วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม พ.ต.อ.ทวี ก็เดินสายจัดกิจกรรม “ละศีลอด” ร่วมกับผู้ต้องขังมุสลิมในเรือนจำทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ฐานเสียงสำคัญของตนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ
แต่เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้องที่กรุงเทพฯ และห้องกักชาวโรฮิงญา พ.ต.อ.ทวี ก็ยังเดินทางไป
ระยะหลัง พ.ต.อ.ทวี ยังสร้างนวัตกรรมใหม่ ด้วยการบัญญัติศัพท์เรียกขานผู้ต้องขัง หรือนักโทษ อย่างให้เกียรติมากขึ้นว่า “ผู้ต้องราชทัณฑ์”
นับเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ “ให้ใจ” ในการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤตินิสัย โดยเจ้าตัวย้ำอยู่ตลอดว่า ผู้ต้องขังและรัฐมนตรีเป็นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
ก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอนไม่ถึง 10 วัน พ.ต.อ.ทวี จัดกิจกรรมละศีลอดที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
งานนี้ได้เชิญ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดรกระทรวงกลาโหม ไปทำกิจกรรมด้วยกัน
พล.อ.นิพัทธ์ กับ พ.ต.อ.ทวี คือ คณะบุคคลที่ได้รับสมญานามว่า “สามทหารเสือ” โดยอีกหนึ่งคือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในภารกิจดับไฟใต้ยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เพราะเป็นผู้ริเริ่ม “กระบวนการพูดคุยสันติภาพ” กับกลุ่มบีอาร์เอ็น แบบ “เปิดเผย-บนโต๊ะ” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดการความขัดแย้งดินแดนปลายด้ามขวานของไทย
เวลานั้น พล.อ.นิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วน พล.ท.ภราดร เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสวมบทเป็น “หัวหน้าคณะพูดคุย” ชุดประวัติศาสตร์
แต่ทุกอย่างหยุดชะงักลงเพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ซึ่งลงท้ายด้วยการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ปิดฉากกการพูดคุยครั้งนั้นลง แต่ไม่อาจยุติการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยเจรจาแบบ “เปิดเผย-บนโต๊ะ” ได้อีกต่อไป
เพราะการพูดคุยก็ยังดำเนินมาทุกรัฐบาล จนถึงปัจจุบัน นี่คือคุณูปการของ “สามทหารเสือ”
พล.อ.นิพัทธ์ กับ พ.ต.อ.ทวี จึงมีสายสัมพันธ์ที่ดี และเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
เมื่อ พ.ต.อ.ทวี ชวน พล.อ.นิพัทธ์ ไปร่วมงานละศีลอดที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อดีตปลัดกลาโหมจึงไม่รีรอที่จะไปร่วมงาน และได้โพสต์ข้อความความประทับใจถึง “เพื่อนเก่า-น้องรัก” อย่าง พ.ต.อ.ทวี เอาไว้ในพื้นที่เฟซบุ๊กของตนเอง
ข้อความของ พล.อ.นิพัทธ์ ไม่ได้มีสาระแค่ชื่นชม พ.ต.อ.ทวี แต่พูดถึงประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองของเราด้วย....
“ขอกล่าวถึง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ครับ
"ผู้ต้องราชทัณฑ์" คือ คำศัพท์ที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ขอให้ใช้แทนคำว่า “ผู้ต้องขัง“ ที่ฟังเเล้วหดหู่ใจ
ผมได้ยินครั้งเเรก.. รู้สึกว่าคำนี้ น่ารัก ให้ “ความเป็นมิตร –ให้เกียรติ“ กับบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ
5 เมย. 67 ราว 17.00 น. ผมได้รับเชิญจาก รมว.ยธ. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ให้ไปพบกันในเรือนจำ จ.อยุธยา เพื่อร่วมกิจกรรม “อ้อมกอดแห่งรอมฎอนสู่เรือนจำ จ.พระนครศรีอยุธยา“ โดยมี ประธานรัฐสภาฯ ท่าน วันนอร์ รวมถึง จุฬาราชมนตรี ท่านอรุณ บุญชม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รอง ผวจ.อยุธยา นายกอบจ. อยุธยา ผบ.เรือนจำ และ ผบ.เรือนจำในจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมด้วย
ก่อนเดินทางไปอยุธยา... ผมไม่กล้าถามรายละเอียดว่า ทำอะไร อย่างไร ด้วยเกรงใจท่านทวีฯ
สรุปได้ว่า...ในช่วงรอมฏอน พี่น้องในเรือนจำอยุธยาซึ่งมีพี่น้องมุลิมอยู่จำนวนหนึ่ง ต้องโทษถูกควบคุมตัวในช่วงถือศีลอด ระหว่างวัน มุสลิมจะไม่ดื่มน้ำ ไม่ทานอาหาร หากแต่เมื่อตะวันตกดิน (ถือเกณฑ์ 18.30 น.) จึงจะดื่มน้ำ ทานอาหารได้
การปฏิบัติเช่นนี้ คือ ศรัทธาต่อหลักศาสนา ฝึกความอดทน ไม่ประพฤติผิด ที่มุสลิมปฏิบัติกันทั่วโลก ซึ่งผมเคยไปทำงานในประเทศอินโดนีเซีย พอจะได้สัมผัสมาบ้าง
ผู้เข้าไปในพิธี ห้ามนำโทรศัพท์เข้าไป เนื่องจากเป็นกฎของเรือนจำ จะได้รับอนุญาตเฉพาะเจ้าหน้าที่
เมื่อเริ่มพิธี โดย คุณดำรง พุฒตาน ที่เป็นมุสลิมใน จ.อยุธยา กล่าวแนะนำตัวบุคคล ลำดับพิธีแบบกระชับ
ทุกคนสวดพร้อมกัน รวมถึงบรรดา “ผู้ต้องราชทัณฑ์“ ราว 200 คน
ผมแสดงความสำรวม ฟังไม่เข้าใจ แต่เสียงทำนองเสนาะของบทสวด ไพเราะเสนาะหู ...
บนโต๊ะจะไม่มี น้ำ อาหาร วางให้เห็น
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขึ้นไปกล่าวรายงาน..
ผมเลยเข้าใจ..ว่านี่พิธีอะไร ใช้คำว่า “ผู้ต้องราชทัณฑ์“ ให้ทุกคนได้ยิน
ท่านประธานวันนอร์ ขึ้นไปกล่าวถึงการทำความดี การกลับตัวเป็นคนดี ความอดทนที่จะถือศีล ฯลฯ เน้นว่า เราสามารถเลือกที่จะ ทำความดีที่เปรียบเหมือนไปสวรรค์ หรือทำความไม่ดี ประดุจไปนรก โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ที่มีผู้ถูกต้องราชทัณฑ์นั่งฟังอย่างตั้งใจ
จุฬาราชมนตรี ได้รับเชิญขึ้นไปกล่าวหลักการใช้ชีวิตและให้พรต่อทุกคน เน้นไปที่ “ผู้ต้องราชทัณฑ์“
ผมพอจะได้เรียนรู้ สัมผัสได้ถึง “กรอบความคิด” ที่ละเอียดอ่อนของคำสอน หลักการใช้ชีวิตที่ทำให้เป็นสุข
18.30 น. อาหาร น้ำ ถูกนำมาตั้งบนโต๊ะ พี่น้องมุสลิมที่งดทานอาหาร งดดื่มน้ำมาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จะได้ดื่ม กิน ตามหลักปฏิบัติ อาหารที่ขาดมิได้ คือ อินทผลัม
บรรดา “ผู้ต้องราชทัณฑ์“ ที่แต่งตัวเรียบร้อย ได้ไปนั่งโต๊ะทานอาหาร (เหมือนโต๊ะจีน) เป็นภาพที่ทุกฝ่ายตื้นตันใจ สนามหญ้าในเรือนจำกลายเป็นโต๊ะอาหาร ที่แสนจะมีคุณค่าทางกาย ใจ
ผมนั่งทานข้างๆ พ.ต.อ.ทวีฯ อจ.วันนอร์ ท่านจุฬาราชมนตรี นายก อบจ. รอง ปลัด ยธ. เสร็จแล้วไปสวดอีกครั้ง ทุกคนเข้าแถวยืนบนพรมที่ผมขอร่วมด้วย เพราะเคารพในศาสดาทุกศาสนา
พ.ต.อ.ทวีฯ ได้รับเชิญให้ขึ้นไปกล่าว ทุกคนจึงได้ทราบว่า นี่คือกิจกรรมที่กระทรวงยุติธรรมใส่ใจต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของทุกศาสนิก และเคยไปจัดที่เรือนจำมีนบุรีมาก่อนแล้ว
รมว.ยธ. ยืนยันในหลักการที่ผมประทับใจว่า...
“ราชทัณฑ์ มีไว้ปลดปล่อย สร้างคนให้ปรับเปลี่ยน ไม่ทำผิดกฎหมาย...มิใช่จ้องจะเอาคนมาขังอย่างเดียว“
พ.ต.อ.ทวีฯ สำเร็จการศึกษาจาก รร.นายร้อยตำรวจ เป็นตำรวจฝีมือดีเยี่ยม ต่อมาโอนไปรับราชการเป็นรองปลัด ยธ. เป็น อธิบดี DSI ไปเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. ดูแลความเป็นอยู่พี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ทวีฯถูกถอดออกจากทุกตำแหน่งเช่นเดียวกับผม
ใน 3 จชต. เหตุการณ์ ตัวบุคคล คดีความ ตั้งเเต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประชาชน ปัญหาที่ลึกลับซับซ้อน ทวีฯ คือ ผู้ที่ "รู้จริง"
เราเคยเป็นข้าราชการที่รัฐบาล นรม.ยิ่งลักษณ์ฯ ตั้งขึ้น เพื่อไปทำงานใน 3 จชต. เริ่มพูดคุยกับฝ่ายมาเลเซียอย่างเป็นระบบ
พอทำงานไปจึงพบว่า เลขาฯศอ.บต. ชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ทำงานแบบทุ่มเท ครองใจพี่น้องประชาชน แม้กระทั่งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ก็ชื่นชอบ ใน “ความริเริ่ม“ ท่านฯ ทำงานแบบ “จริงจัง” ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มคนต่างๆ ที่ถืออาวุธสงคราม
พื้นฐานการเป็น “ตำรวจ“ มาก่อนส่งผลชัดเจนต่อการปฏิบัติในเชิงนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ คดีความในพื้นที่ ใหญ่-น้อย ทวีฯ มีหนทางในการแก้ไขแบบ win-win
พิธีฯ ในเรือนจำ จ.อยุธยา มีผู้มีจิตอาสา นำอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อยืดคอปกจิตอาสามาแจกจ่ายให้ทุกศาสนิกชนที่มาร่วมพิธี โดยเฉพาะ “ผู้ต้องราชทัณฑ์“ ที่ไม่เคยมีใครมาเยี่ยม
ผมได้ทราบว่าทั่วประเทศ มีผู้ต้องราชทัณฑ์ ราว 2.8 แสนคน...แอบคิดเสมอว่า พลังของมนุษย์ยิ่งใหญ่ที่สุด ถ้าถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ และยุติธรรมต่อค่าแรงงาน
จบงาน..ผมกลับ กทม.
ขอบคุณ พ.ต.อ.ทวีฯ ที่ให้โอกาสผมได้เห็น ในสิ่งที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน ได้พูดคุยกับจุฬาราชมนตรีสั้นๆ
บ้านเมืองของเรา ต้องการ “ผู้นำ“ ที่ กล้าหาญ เก่ง ดี มีน้ำใจ...
“พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก”