“จุฬาราชมนตรี” ประกาศ 10 เมษาฯ เป็นวันอีฎิลฟิตริ หลังมีผู้พบเห็นดวงจันทร์ ขณะที่ตลาดสดรถไฟยะลา มุสลิมเฮจับจ่ายซื้ออาหารเตรียมฉลองฮารีรายอ
หลังจากจุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ ในวันอังคารที่ 9 เมษายน 2567 ในเวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล หรือ “วันอีฏิลฟิตริ” ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ปรากฏว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์
นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ออกประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี กำหนดให้วันที่ 1 ของเดือนเซาวาล (วันอีฎิลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันพุธที่ 10 เมษายน 2567
@@ ตลาดสดรถไฟยะลาคึกคัก
บรรยากาศที่ตลาดสดรถไฟ ในเขตเทศบาลนครยะลา ในช่วงเย็นวันเดียวกัน เป็นไปอย่างคึกคักเต็มไปด้วยพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เดินทางออกมาจับจ่ายเลือกซื้ออาหาร เพื่อเตรียมไว้สำหรับประกอบอาหาร จัดเลี้ยงในครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ เพื่อฉลองวันฮารีรายอ
โดยบรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้นำ “ละแซ” หรือ “ละซอ” (ขนมจีน), “ตูป๊ะ” (ข้าวเหนียวห่อสามเหลี่ยม), แป้งข้าวหมาก และข้าวต้มมัด ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงวันฮารีรายอ มาวางขายบริเวณริมถนนก่อนเข้าตลาดกันจำนวนมาก
ส่วนราคาอาหาร มีทั้งที่คงที่ และปรับราคาสูงขึ้น อย่าง “ละแซ” หรือ “ละซอ” (ขนมจีน) ราคาปกติที่กิโลกรัมละ 30 บาทเหมือนกับช่วงต้นเดือนรอมฎอน ส่วน “ตูป๊ะ” (ข้าวเหนียวห่อสามเหลี่ยม) ราคาปรับขึ้น 30 บาท จากเดิม 100 ลูก 400 บาท เป็น 100 ลูก 430 บาท
แม่ค้าในตลาดสดรถไฟ บอกว่า ของขึ้นราคาหมด ของแพง ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว, น้ำตาลขึ้นราคาหมด
ในส่วนของเนื้อ ไก่ กุ้ง ปลา ผักสด ผลไม้ และขนมหวานต่างๆ ขายดิบขายดีทุกร้าน มีประชาชนรอเลือกซื้อจำนวนมาก แม้ราคาจะปรับขึ้นเกือบทุกรายการก็ตาม
“อย่างราคาเนื้อวัวสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 260 บาท ไก่สดอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท ปรับขึ้น 5 บาท ส่วนมะนาวแป้น กิโลกรัมละ 60 บาท”
ตลอดทั้งวันได้มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมจำนวนมากทั้งในพื้นที่ อ.เมืองยะลาและต่างอำเภอ ทยอยเดินทางออกไปจับจ่ายซื้อเลือกซื้อหาอาหาร สินค้าต่างๆ ที่ตลาดสด และร้านในย่านชุมชน ส่งผลให้การค้าในตัวเมืองยะลาคึกคัก การจราจรติดขัด ตำรวจ สภ.เมืองยะลา ต้องจัดกำลังมาอำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัย
@@ คนการเมืองพร้อมใจอวยพร “อิฎิลฟิตริ”
ความเคลื่อนไหวของ “คนการเมือง” โดยเฉพาะที่มีฐานเสียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างพากันทำภาพเป็นแบนเนอร์ สำหรับส่งต่อทางแอปพลิเคชั่นไลน์ และสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เขียนคำอำนวยพรเนื่องในเทศกาลฮารีรายอ กันอย่างพร้อมเพียง
เช่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอดีต สส.นราธิวาสหลายสมัย เป็นต้น