หลายคนอาจจะสงสัยว่า เหตุใดสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงปะทุเดือดรุนแรง
ทั้งๆ ที่เพิ่งมีการเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ระหว่าง คณะพูดคุยของรัฐบาลไทยคณะใหม่ ภายใต้การนำของ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. กับกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง
ยิ่งไปกว่านั้น หลังการพบปะกัน คณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทยยังมีความพยายามตีปี๊บผลสำเร็จว่าจะมีการเดินหน้า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP แม้จะมี “ผู้รู้” หลายคนออกมาเตือนว่า ยังไม่มีความรอบคอบ และอาจเข้าทาง “บีอาร์เอ็น” ก็ตาม
ความน่าสนใจก็คือ ฝ่ายความมั่นคงไทยพยายามให้ข่าวเรื่อง “รอมฎอนสันติสุข” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ ปีนี้บีอาร์เอ็นไม่ได้มีแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการ
สอดคล้องกับสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบที่สรุปเบื้องต้นแล้วว่าเป็น “เหตุความมั่นคง” ในห้วงเวลา 1 เดือนก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน และเป็นช่วงหลังจากปิดจ๊อบพูดคุยสันติสุขแล้ว กล่าวคือระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคม พบว่า เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 13 เหตุการณ์ แยกเป็น
เหตุลอบยิง 5 เหตุการณ์
เหตุระเบิด 6 เหตุการณ์
เหตุก่อกวนและอื่นๆ 2 เหตุการณ์
ส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ (เสียชีวิต-บาดเจ็บ) รวม 15 ราย แยกแยะเป็น
ผู้เสียชีวิต 6 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง 4 นาย ประชาชน 2 ราย
ผู้บาดเจ็บ 9 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง 8 นาย และประชาชน 1 ราย
จากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน หรือ “เดือนแห่งการถือศีลอด” วันแรกคือวันที่ 12 มีนาคม ถัดมาแค่ 2 วัน คือวันที่ 14 มีนาคม ก็เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดปฏิบัติการปิดตรวจ ตรวจค้นบ้านต้องสงสัย ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ก่อนเปิดฉากยิงปะทะกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้าน กระทั่งฝ่ายผู้ต้องหาเสียชีวิตไป 2 ศพ
นับจากนั้นสถานการณ์ในพื้นที่ก็ตึงเครียดอย่างหนักทันที...
เอ็นจีโออย่าง อัญชนา หีมมิหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ บอกว่า ถึงแม้จะไม่มีประกาศจากทั้งสองฝ่ายว่าจะยุติปฏิบัติการทางทหารในเดือนรอมฎอนก็ตาม แต่ก็มองว่าเหตุวิสามัญฆาตกรรม ฝ่ายรัฐเริ่มก่อน ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย
แต่ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยฯ ก็แย้งว่า ก่อนหน้ารอมฎอน 1 เดือน เกิดเหตุการณ์ความมั่นคงจำนวน 13 ครั้ง เสียชีวิต 6 คน ได้รับบาดเจ็บจำนวน 9 คน และเหตุการณ์ที่สำคัญมี 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนรอมฎอนคือ เหตุปล้นรถยนต์ของบริษัทหาดทิพย์ ที่จังหวัดนราธิวาส และเหตุปาระเบิดที่ร้านคาเฟ่อเมซอน ที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง สะท้อนว่ามีความพยายามสร้างสถานการณ์อยู่ตลอด
โดย พล.ท.ปราโมทย์ คนเดียวกันนี้ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนแล้วว่า “รอมฎอนสันติสุข” อาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้ เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีเจตนาแรงกล้าในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากถูกบ่มเพาะความเชื่อผิดๆ ว่า หากก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน จะยิ่งได้บุญมากขึ้น
สุดท้ายก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะหลังจากปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น วิสามัญฆาตกรรม 2 ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ก็มีปฏิบัติการตอบโต้จากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบทันที กล่าวคือ
วันที่ 21 มีนาคม - เจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่องที่บรรจุในถังดับเพลิง 1 ลูก บริเวณศาลาข้างทุ่งนา ในท้องที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
22 มีนาคม - คนร้ายก่อเหตุวางเพลิง วางระเบิด สร้างความปั่นป่วนในพื้นที่หลายอำเภอของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา นับรวมได้มากถึง 66 จุด มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
26 มีนาคม - เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแหล่งพักพิงกลุ่มก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่บ้านโต๊ะอีแต ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และมีทหารพรานเหยียบกับระเบิด ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
28 มีนาคม - ล่าสุดคนร้ายใช้อาวุธปืนจ่อยิง อาสาสมัครทหารพรานหญิงนูรีซัน พรหมศรี เสียชีวิตกลางตลาดนัดดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
ไทม์ไลน์ที่น่าจับตาก็คือ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 เมษายน จะเข้าสู่ห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงให้ข้อมูลว่ามีการปลูกฝังความเชื่อผิดๆ กันมานานว่า หากก่อเหตุรุนแรงที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐไทย หรือคนต่างศาสนาในช่วงเวลานี้ จะยิ่งได้บุญมากขึ้นไปอีก
และที่ผ่านมาในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนก็เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยมากเป็นพิเศษทุกปี เพราะมีเหตุรุนแรงถี่กว่าห้วงเวลาปกติแทบทุกปีจริงๆ
หากปีนี้ ฝ่ายความมั่นคงควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ได้ แน่นอนว่าแรงกดดันในแง่ที่ว่าไฟใต้ยังไม่ดับมอด แม้จะใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท จะย้อนกลับมาทิ่มแทงรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน
โดยเฉพาะท่าทีของนายกฯเศรษฐา ที่ดำเนินนโยบายมุ่งสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจเพื่อดับไฟใต้เพียงด้านเดียว โดยไม่ยอมให้น้ำหนักเรื่่องความมั่นคง และโต๊ะพูดคุยสันติสุข