พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจัดเป็น “พื้นที่พิเศษ” อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากข่าวสารร้ายๆ จากดินแดนปลายด้ามขวานที่ตามหลอกหลอนมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยได้รับรู้รับทราบก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่ที่นั่นนับถือศาสนา และมีวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างจากประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
ความต่าง...หลายๆ ครั้งนำมาซึ่งความขัดแย้ง แต่ความแตกต่างในอีกหลายๆ ครั้ง อาจเป็นแง่งามและเป็นพลังทางสังคม รวมถึง “ซอฟต์ พาวเวอร์” ได้เช่นเดียวกัน
หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ก็คือที่นั่นมีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามเกี่ยวกับครอบครัว และมรดก
เรื่องนี้แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีน้อยครั้งที่เรื่องราวจะได้รับการสื่อสารด้วยภาษาและท่วงทำนองที่เข้าใจง่าย แต่ก็อิงอยู่กับหลักวิชาการและหลักการอิสลามอย่างครบถ้วน พร้อมมูล
เกียรติยศ ศักดิ์แสง รองอัยการจังหวัดสิงห์บุรี ช่วยราชการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายสและการบังคับคดีจังหวัดนราธิวาส กับ สุนทร อาดำ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ สำนักงานเดียวกับเกียรติยศ ร่วมกันเขียนบทความในนามของ “สถาบันนิติวัชร์” สำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายถึงที่มาและความมีอยู่ของกฎหมายอิสลาม ตลอดจนการบังคับใช้ในแดนแดนปลายสุดด้ามขวาน
@@ ลักษณะพิเศษทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม
จากการศึกษาพบว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา) รวมทั้งจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติด้านวัฒนธรรมซึ่งประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นคนเชื้อสายมลายูและใช้ภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาหลัก และนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในขณะเดียวกันจังหวัดเหล่านี้ ประชากรจำนวนหนึ่งเป็นคนไทยพุทธและคนไทยเชื้อสายจีน ลักษณะทางวัฒนธรรมเช่นนี้ ทำให้พื้นที่ดังกล่าว มีลักษณะพิเศษอยู่ 2 ประการ คือ
(1) มีความเข้มข้นทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในประเทศและจังหวัดภาคอื่นๆ
(2) มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้แก่ มลายู ไทย จีน
ด้วยลักษณะทางวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ในหลักการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด มีความจำเป็นต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการวิวาห์สมรสและการแบ่งปันมรดกให้ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ มิฉะนั้นจะได้รับบาปหนัก ประชากรโดยมากที่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยคดีครอบครัวและมรดกจึงไม่สามารถถือปฏิบัติตามหลักกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 และบรรพ 6 ได้ เพราะไม่ตรงกับข้อบัญญัติของศาสนาอิสลาม
รัฐเล็งเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมดังกล่าว จึงเป็นการสมควรที่จะใช้กฎหมายอิสลามในการวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก อิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีไม่มีข้อพิพาท จึงได้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489” กำหนดให้ใช้กฎหมายอิสลามบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก
/// ที่มาของกฎหมายอิสลาม ///
“กฎหมายอิสลาม” มีที่มาจากคัมภีร์อัล-กุรอาน และคำสั่งสอนของพระศาสดาเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่ได้ประมวลเรียงแยกแยะและจัดระเบียบข้อบังคับครอบคลุมแนวทางการดำรงชีวิตด้านต่างๆ ของมนุษย์ อันประกอบด้วยเนื้อหาด้านต่างๆ ของชีวิต 5 ด้าน คือ ความศรัทธา จรรยาบรรณ การสักการะ กิจการทางสังคม และการลงโทษ
กฎหมายอิสลามจึงมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวไม่เหมือนกับกฎหมายในระบบหรือสกุลอื่นๆ คือ เป็นกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันกับศาสนา ซึ่งมุสลิมได้ถือปฏิบัติอยู่ด้วยอย่างแน่นแฟ้นไม่อาจที่จะแยกออกจากกันได้
โดย “หลักการของกฎหมายอิสลาม” แบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ
(1) ภาคทฤษฎี (รุก่นอีมาน) ในภาคทฤษฎีนั้น เรียกตามภาษาอาหรับว่า “อีมาน” แปลว่า “การเชื่อถือโดยเลื่อมใสพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักนั้นๆ”
“ผู้ที่อีมาน” เรียกว่า “มุนิน” คำนี้ต่างกับ “มุสลิม” ในข้อที่ว่า มุสลิม คือ ผู้ปฏิญาณตนว่าไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอื่นใดควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลเลาะฮ์ และมุฮัมมัดเป็นร่อซูล (ศาสนะทูต) ของพระองค์ ซึ่งเป็นการแสดงโดยวาจาแต่ไม่พร้อมด้วยองค์ 3 คือ กาย วาจา และใจ ผู้ที่เป็นมุสลิมที่แท้จริง โดยกาย วาจา และใจ เท่านั้นได้ชื่อว่า “มุนิน”
(2) ภาคปฏิบัติ (รุก่นอิสลาม) เรียกตามภาษาอาหรับว่า “อมัล” แปลว่า “การกระทำ” ผู้ใดไม่อีมานและไม่ปฏิบัติตามทฤษฎีและหลักการปฏิบัติของอิสลาม เรียกว่า “กาฟิร” แปลว่าผู้ปฏิเสธความจริง “ซอลิม” แปลว่า ผู้อธรรม และ “ฟาซิก” ผู้ละเมิดความจริงหรือผู้ฝ่าฝืน
กฎหมายอิสลามจึงเป็นรากฐานของความเชื่อมั่นและนับถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติศาสนกิจที่อิสลามทุกคนจะละเลยเสียมิได้ ดังที่ปรากฏข้อความในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งถือเป็นธรรมนูญสูงสุดและเป็นที่มาอันดับแรกของกฎหมายอิสลาม จากหลักฐานทางศาสนาพบแหล่งที่มาของกฎหมายอิสลามที่สำคัญนั้นมาจาก
(1) พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน
(2) พระคัมภีร์อัล-หะดีษ
(3) อัล-อิจญ์มาอ์
(4) อัล-กิยาส
(5) อัรเราะยุ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายอิสลามที่นำมาใช้บังคับคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มาจากคำแปล “กีตาบ” มิได้มาจากพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานโดยตรง
“กีตาบ” ก็คือ ตำราที่เป็นคำอธิบายความในคัมภีร์อัล-กุรอาน คัมภีร์อัล-หะดีษ และมติธรรมของปวงปราชญ์ของศาสนาอิสลามให้เข้าใจความหมาย โดยมีสำนักกฎหมายของนิกายซุนนีของท่านอิหม่ามที่สำคัญรวม 4 แห่ง (4 มัซฮับ) คือ
อิหม่ามฮานาฟี (Hanafi School)
อิหม่ามมาลิกี (Maliki School)
อิหม่ามซาฟีอี (Shafei School)
อิหม่ามฮัมบาลี (Hambali School)
ต่างได้ทำคำแปลความหมายของคัมภีร์ตามความรู้และความเห็นของแต่ละท่านทำให้หลักการปฏิบัติมีข้อผิดแผกแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ละมัซฮับก็มีกีตาบสำหรับใช้เป็นหลักปฏิบัติศาสนกิจไว้สำหรับอิสลามนิกชน ผู้ศรัทธาเลื่อมใสนับถือมัซฮับใดก็จะถือปฏิบัติตามกีตาบของมัซฮับนั้น แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงหลักการอิสลามแต่ประการใด
สำหรับประเทศไทยในระยะเริ่มแรกก่อนประกาศใช้ “กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.120” (พ.ศ.2444) รัฐมีนโยบายเกี่ยวกับการใช้กฎหมายอิสลามโดยการตัดสินคดีความให้เจ้าเมืองมีอำนาจในการตัดสินคดีต่างๆ ตาม “กฎหมายประเพณีอิสลาม” โดยในประเทศไทยนิยมนับถือมัซฮับซาฟีอี (Shafei School) เป็นส่วนใหญ่ ดะโต๊ะยุติธรรมจึงใช้กีตาบมัซฮับดังกล่าวเป็นบทบังคับคดี และเมื่อกีตาบมีผู้อธิบายบรรยายเรียบเรียงไว้มากมาย (มิใช่ภาษาไทย) ในการพิจารณาพิพากษาดะโต๊ะอาจอ้างกีตาบที่แสดงความเห็นขัดแย้งกันไม่สะดวกแก่การวินิจฉัยชี้ขาดคดี
ด้วยเหตุนี้กระทรวงยุติธรรมจึงได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยดะโต๊ะยุติธรรม ผู้พิพากษาและผู้เชี่ยวชาญ ตรวจชำระกีตาบอันเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดกขึ้นเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ.2472 เริ่มจากการรวบรวบกีตาบต่างๆ ทั้งที่เป็นต้นฉบับเรียบเรียงจากภาษาอาหรับ 6 กีตาบ และมาจากภาษามลายู 7 กีตาบ
และกีตาบเหล่านี้ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มหนังสือ บางกีตาบมากกว่า 1 เล่ม รวมเป็นหนังสือนับตั้งร้อยยกขึ้นไป และรวบรวมข้อความกีตาบที่กล่าวซ้ำกันในที่ต่างๆ ไว้ในที่แห่งเดียวกัน เรียบเรียงข้อความเบื้องต้นเพื่อให้ใช้ได้ทั้งลักษณะครอบครัวและลักษณะมรดก รวมข้อความที่ต่อเนื่อง ซึ่งอยู่กระจัดการจายในกีตาบต่างๆ รวมเป็นข้อความเดียว และวางรูปโครงให้เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน คือ จัดเป็นลักษณะหมวดและมาตรา
ตลอดจนเรียบเรียงถ้อยคำสำนวนขึ้นใหม่ ถ้อยคำศัพท์ใช้เฉพาะในศาสนาอิสลามก็หาศัพท์ภาษาไทยที่เหมาะสม มิได้คงรูปศัพท์เดิมไว้ โดยทำการวิเคราะห์ศัพท์เพื่อทราบความหมายแห่งข้อความในกีตาบนั้น
และเพื่อให้ถือเป็นหลักเดียวกันในการวินิจฉัยคดี ดะโต๊ะยุติธรรมต้องยึดหลักกฎหมายที่แปลรวมนี้ และก่อนดำรงตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมต้องให้ถ้อยคำรับรองว่าจะต้องใช้กฎหมายเล่มนี้ชี้ขาดบังคับคดี
ด้วยเหตุที่กีตาบมีอยู่จำนวนมากมีการบรรยายข้อความยืดยาวและย่อความ ใช้ชื่อต่างกัน และบางฉบับผิดเพี้ยนและข้อความขัดแย้งกัน จึงต้องใช้เวลานานในการรวบรวม ตรวจสอบแหล่งที่มาของกีตาบ ทำให้ใช้ระยะเวลาในการยกร่าง “คู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก (ฉบับกระทรวงยุติธรรม)” มากกว่า 10 ปี แล้วเสร็จปลาย พ.ศ.2483 พิมพ์เสร็จเมื่อ พ.ศ.2484 รวม 230 มาตรา ประกอบด้วย นิยามศัพท์รวม 38 อนุมาตรา บรรพ 1 ครอบครัวมี 5 ลักษณะ บรรพ 2 มรดก มี 5 ลักษณะและยังคงมีขอบเขตการบังคับใช้ตาม “กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.120” ที่มีมาแต่เดิม
ต่อมาเป็นปีที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา มีพระบรมราชโองการให้ตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489” ขึ้นในประเทศไทย ใช้บังคับแก่คดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในเขต 4 จังหวัดภาคใต้นั้น แต่ศาลยุติธรรมและดะโต๊ะยุติธรรมยังใช้คู่มือฉบับกระทรวงยุติธรรมดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกในเขต 4 จังหวัดภาคใต้มาโดยตลอด
แม้ต่อมา พ.ศ.2543 ศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรม ก็ยังไม่มีคู่มือฉบับที่เป็นขององค์กรศาลยุติธรรมแต่อย่างใด จนกระทั่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดทำ “คู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก (ฉบับศาลยุติธรรม)” ขึ้นแล้วเสร็จใน พ.ศ.2554 ถือเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทยและเป็นครั้งแรกของศาลยุติธรรม
โดยมีความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงและจัดทำคู่มือให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมและดะโต๊ะยุติธรรม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่นั้น นำไปใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยอรรถคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกที่คู่ความเป็นอิสลามศาสนิก
ขณะเดียวกันเป็นการเผยแพร่คู่มือฉบับนี้ให้แก่ประชาชน หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชนต่างๆ ทราบเพื่อเกิดความเข้าใจตรงกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนให้เป็นมาตรฐานเดียวและใช้บังคับมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
/// ความมีอยู่ของกฎหมายอิสลาม ///
ความมีอยู่ของกฎหมายอิสลามในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าหลักกฎหมายอิสลามไม่ใช่กฎหมายบ้านเมืองของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะ และไม่ใช่กฎหมายที่ผ่านกระบวนการตราของสภานิติบัญญัติ แต่เป็นข้อบัญญัติที่อัลลอฮ์ประทานให้แก่มุสลิมเป็นเวลาช้านาน เป็นหลักการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและสถาพรอยู่เป็นนิรันดร์ บรรดามุสลิมผู้ศรัทธาทั้งหลายไม่ว่าอยู่ในบ้านเมืองหรือประเทศหนึ่งประเทศใด ล้วนยึดถือพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานเล่มเดียวกัน พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน จึงเป็นธรรมนูญศาสนบัญญัติที่สำคัญยิ่งในศาสนาอิสลาม
ส่วนคู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก (ฉบับกระทรวงยุติธรรม) เป็นเพียงแต่รวบรวมหลักการในศาสนาอิสลามจากแหล่งที่มาต่างๆ ของกฎหมายอิสลามเพื่อความสะดวกแก่การวินิจฉัยชี้ขาดคดี และได้รับการรวบรวมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นคู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก (ฉบับศาลยุติธรรม) หลังจากที่ใช้ฉบับกระทรวงยุติธรรมมากว่า 70 ปี
คู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก (ฉบับศาลยุติธรรม) พ.ศ.2554 ข้อ 1 ได้ให้นิยาม “กฎหมายอิสลาม” ไว้ว่า ในกฎหมายนี้ถ้าข้อความไม่ได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น “กฎหมาย” หรือ “กฎหมายนี้” หมายถึง “กฎหมายอิสลาม” ซึ่งหมายความว่า “กฎหมายที่ได้จากบทบัญญัติของอิสลามทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดและภาษาใด ทั้งที่เป็นข้อบังคับและข้อสนับสนุน”
โดยมีการรวบรวมหลักกฎหมายอิสลามไว้ในคู่มือดังกล่าวเพื่อใช้ในการวินิจฉัยขี้ขาดคดี หากคำใดหรือสิ่งใด ถ้าไม่มีความหมายหรือคำจำกัดความในทางภาษาทั่วไปหรือในทางกฎหมายอิสลาม ให้ยึดถือตามธรรมเนียมปฏิบัติของมุสลิมที่ดีทั่วไป
หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายอิสลามที่กำหนดบทบังคับให้ผู้นั้นกระทำ หรือกำหนดสิ่งต้องห้ามให้ผู้นั้นต้องละเว้น นอกจากศาลจะต้องพิพากษาหรือสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ในโลกหน้าและอาจได้รับภัยพิบัติในโลกนี้ด้วย
แต่ถ้าผู้นั้นกระทำตามบทบังคับนั้นหรือไม่กระทำในสิ่งต้องห้ามนั้นแล้วแต่กรณี ผู้นั้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในโลกหน้าและอาจได้รับความเป็นสิริมงคลในโลกนี้ด้วย และผู้ใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายอิสลามที่บัญญัติให้ผู้นั้นพึงกระทำหรือพึงไม่กระทำ ผู้นั้นจะไม่ได้รับโทษทั้งโลกนี้และโลกหน้า แต่ถ้าผู้นั้นกระทำตามบทบัญญัตินั้น ผู้นั้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในโลกหน้า และอาจได้รับความเป็นสิริมงคลในโลกนี้ด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายอิสลามเป็นหน้าที่ของดะโต๊ะยุติธรรมที่นั่งพิจารณาคดีจะเป็นผู้นำกฎหมายอิสลามมาบังคับแก่คดี ไม่ใช่หน้าที่ของคู่ความที่จะนำสืบ ถือว่าเป็นสิ่งที่ศาลรับรู้เอง
อย่างไรก็ตาม แม้สถานะทางกฎหมายของกฎหมายอิสลามนั้นมิได้ตราขึ้นโดยกระบวนการสภานิติบัญญัติ แต่ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 รับรองสถานะให้ใช้กฎหมายอิสลามได้ในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ครั้นแต่เดิมก่อนใช้คู่มือฉบับศาลยุติธรรม มีการใช้คำต่างๆ ตามประมวลกฎหมายอื่น เช่น ข้อความเบื้องต้น บรรพ มาตรา หมวด เป็นต้น ซึ่งการใช้คำต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า คู่มือหลักกฎหมายอิสลามนี้มีสถานะเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอื่นๆ เพราะฉะนั้นในคู่มือฉบับศาลยุติธรรม จึงได้มีการแก้ไขข้อความต่างๆ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น โดยใช้คำอื่นๆ ที่แสดงถึงสภาพที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายทั่วไป เช่น ใช้คำว่า “ข้อ” แทนคำว่า “มาตรา” เป็นต้น
และได้วาง “ระบบกฎหมายอิสลาม” รวม 462 ข้อ ประกอบด้วยนิยามศัพท์ 86 ข้อย่อย ข้อความเบื้องต้น บรรพ 1 ครอบครัว มี 5 ลักษณะ บรรพ 2 มรดกมี 2 ลักษณะ ดังนี้
บรรพ 1 ครอบครัว
ลักษณะ 1 การสมรส หมวด 1 การสู่ขอและหมั้น หมวด 2 เงื่อนไขแห่งการสมรส หมวด 3 วลี หมวด 4 พยานในการสมรส
ลักษณะ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา หมวด 1 สิทธิหน้าที่ของสามีภริยา หมวด 2 เวรอยู่ร่วมกับภริยาแต่ละคนของสามี และหมวด 3 ทรัพย์สินระหว่างสามีและภริยา
ลักษณะ 3 การขาดจากการสมรส หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 2 การฟ้องหย่า หมวด 3 การหย่า หมวด 4 การหย่าที่มีทัณฑ์บน ข้อกำหนด เงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา หมวด 5 การคืนดี หมวด 6 อีละอ์ หมวด 7 ซีฮาดร์ หมวด 8 ลิอาน และหมวด 9 การหย่าโดยมีสินจ้าง
ลักษณะ 4 มะฮัดร์หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 2 มุตอะฮ์ หมวด 3 อิดดะฮ์
และ ลักษณะ 5 ผู้บุพการีและผู้สืบสันดาน หมวด 1 บุตร หมวด 2 อำนาจปกครอง หมวด 3 อำนาจเลี้ยงดู หมวด 4 ค่าอุปการะเลี้ยงดูเครือญาติ หมวด 5 ค่าให้นมบุตร
บรรพ 2 มรดก
ลักษณะ 1 พินัยกรรม หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 2 พินัยกรรมทรัพย์สิน หมวด 3 พินัยกรรมจัดการ หมวด 4 ผู้จัดการมรดก หมวด 5 การรวบรวมทรัพย์มรดก
ลักษณะ 2 การแบ่งปันมรดก หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 2 ทายาท หมวด 3 ทายาทประเภทที่หนึ่ง หมวด 4 ทายาทประเภทที่สอง หมวด 5 ทายาทประเภทที่สาม และหมวด 6 ทารกในครรภ์ บุคคลสูญหาย บุคคลเพศที่สามและผู้พ้นจากการเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม
/// สรุป ///
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กฎหมายอิสลามที่ใช้บังคับในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่มา 2 ประการซึ่งเป็นหลักใหญ่เบื้องต้น คือ
(1) โดยเหตุที่เป็นบทบัญญัติของศาสนาอิสลามโดยตรงที่อิสลามศาสนิกทุกคนจำต้องถือปฏิบัติเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเป็นประจำวันอยู่แล้ว
และ (2) โดยหลักรัฐประศาสนโยบาย อันสำแดงถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ของชาติไทยที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ คำว่า “กฎหมายอิสลาม” ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 มิได้มีสถานะเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอื่นๆ เนื่องจากกฎหมายอิสลามมิได้ตราขึ้นโดยกระบวนการสภานิติบัญญัติ แต่มีมรดกทางวัตนธรรมอันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดหลักกฎหมายอิสลามขึ้นและคงมีอยู่ในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
กฎหมายอิสลามจึงเปรียบเสมือน กฎหมายประเพณีท้องถิ่น ซึ่งมีระบบกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันกับศาสนาอันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของบุคคลผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามรวมเข้าด้วยกันเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามและแน่นแฟ้นจนไม่อาจแยกออกจากกันได้
ดังที่ปรากฏในคู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก (ฉบับศาลยุติธรรม) พ.ศ.2554 อันมีอัตลักษณ์และลักษณะพิเศษเฉพาะตัวไม่เหมือนกับกฎหมายในระบบหรือสกุลอื่นๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้โดยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 รับรองสถานะให้ใช้กฎหมายอิสลามดังกล่าวในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย