ใกล้เข้าสู่เดือนรอมฎอน ตามที่จุฬาราชมนตรีประกาศให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด ในวันที่ 10 มี.ค.67
ปรากฏว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าโครงการ “รอมฎอนสันติ” ตามที่ได้ตกลงกันจากโต๊ะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 หนึ่งในคณะพูดคุยฯ กล่าวว่า ผลการพูดคุยสันติสุขฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 - 7 ก.พ.67 คณะพูดคุยฯ ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่มุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อให้เอกสาร JCPP หรือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว และจะมีการหารือมาตรการดังกล่าวร่วมกันในรายละเอียดโดยคณะทำงานเทคนิคของ 2 ฝ่ายในเดือน มี.ค.67 ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติสุขเพื่อประชาชนในพื้นที่ และน่าจะเริ่มทดลองปฏิบัติตามข้อตกลงในห้วงเดือนรอมฎอน คือเดือน มี.ค.ถึง เม.ย.นี้ทันที
ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยการส่งเสริมกระบวนการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจ และสร้างความพร้อมของทุกภาคส่วนในกระบวนการพูดคุยฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม
โดยมีคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (คพท.) เป็นโซ่ข้อกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จในการพูดคุยสันติสุขฯโดยเร็ว
สำหรับ พล.ท.ปราโมทย์ นอกจากเป็นหนึ่งในกรรมการคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐบาลไทยแล้ว ยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานเทคนิค ซึ่งจะต้องพูดคุยกันต่อกับฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะ JCPP หรือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” ด้วย
@@ ฝ่ายความมั่นคงปรับแผน รปภ.เดือนถือศีลอด
พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ได้มีการปรับแผนการปฏิบัติงานในห้วงเดือนรอมฎอน พร้อมการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจถือศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิม การดูแลความปลอดภัยให้มีความรัดกุม ปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท ทั้งการรักษาความปลอดภัยเส้นทางหลัก เส้นทางรอง และให้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และใช้ในการละศีลอดในห้วงเดือนรอมฎอนต่อไป
พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส (ผบ.ฉก.นราธิวาส) ในฐานะผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 กล่าวว่า รับนโยบายจาก พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค แม่ทัพภาค 4 จึงได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45, 46, 48 และกรมทหารพรานที่ 49 ที่รับผิดชอบในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของ จ.นราธิวาส ร่วมบูรณาการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคเอกชน เปิดแผนยุทธการ “รอมฎอนสันติสุข” ในการส่งเสริมสนับสนุนชาวไทยมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาในช่วงเดือนรอมฎอนให้ลุล่วงไปด้วยดีตลอดระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการป้องกันและป้องปรามสกัดกั้นไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่
“เจ้าหน้าที่ทหารพรานจะเป็นตัวหลักในการรับผิดชอบพื้นที่เสี่ยง ส่วนรอบนอกจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการร่วมตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะต้องสงสัยในพื้นที่เขตเมืองและชุมชน เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมมีความไว้วางไว้ สามารถปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอนลุล่วงไปด้วยดี”
พล.ต.เฉลิมพร กล่าวอีกว่า สำหรับจุดเสี่ยงที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต จะมีเจ้าหน้าที่ทหารพรานอีกส่วนหนึ่งเดินลาดตระเวนตามถนนหนทางเพื่อป้องกันเป็นกรณีพิเศษ โดยวัตถุต้องสงสัย รวมไปถึงพื้นที่แนวเชิงเขาก็จะใช้เจ้าหน้าที่ทหารพราน “ชุดเสือดำป่าภูเขา” เดินลาดตระเวนเพื่อกดดันและสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กบดานบนเทือกเขา แฝงตัวลงมาก่อเหตุร้ายในแต่ละพื้นที่
@@ ชาวบ้านหวังไร้เหตุรุนแรงตลอดไป ไม่ใช่แค่รอมฎอน
ในมุมของประชาชนในพื้นที่ ล้วนอยากให้มีความสงบเกิดขึ้นตลอดช่วงเดือนรอมฎอน
นายอามานี วาเด็ง ชาว จ.ยะลา กล่าวว่า ทุกปีก่อนที่จะเข้าสู่เดือนรอมฎอน คณะพูดคุยฯจะมีการพูดคุยสันติสุข โดยเฉพาะเรื่องรอมฎอนสันติ หลายปีแล้วที่เป็นแบบนี้ เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอนแรกๆ ก็จะสงบ แต่ช่วงปลายๆ ก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอนก็จะมีเหตุยิงต่อสู้ระหว่างทหารกับกลุ่มก่อเหตุรุนแรง ทุกปีเป็นแบบนี้
“ส่วนตัวก็มองว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็มีจุดเริ่มต้นและอาจต้องใช้เวลา ปีนี้ก็เช่นกัน มีการคุยเรื่องรอมฎอนสันติ ก็มีความหวังว่าพื้นที่ตรงนี้จะสงบจริงๆได้ ไม่ใช่แค่สงบหรือหยุดยิงเฉพาะช่วงรอมฎอน ถ้าเป็นไปได้ขอให้หยุดยิงตลอดไป”
นายอามานี กล่าวอีกว่า ส่วนตัวก็รู้สึกชินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะทุกวันนี้ คู่ต่อสู้ชัดเจนขึ้นจะทำเฉพาะคนที่เป็นคู่ต่อสู้ของเขา ไม่ค่อยทำชาวบ้านทั่วไป มีความหวังว่า การพูดคุยสันติสุขฯจะทำให้เกิดสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้โดยเร็ว
เช่นเดียวกับ นายอาหาหมัด โต๊ะแช ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า รอมฎอนสันติ ชาวบ้านหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ดีกว่าทุกปี จะยิ่งดีถ้าไม่เกิดเหตุแบบยาวๆ เลย
“ผมไม่มีความหวังกับการเจรจาของคณะพูดคุยฯ แต่ก็มีความหวังว่า หลายๆ อย่างจะถูกทำให้สงบได้ แต่ต้องใช้เวลา การพูดคุยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะก้าวไปถึงจุดที่จะทำให้เกิดความสงบได้ รัฐบาลเองก็ต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างพร้อมๆ กันด้วย”