การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ตลอด 3 วัน 2 คืน ไปนอนในพื้นที่ มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการสร้างโอกาส ตามที่ประกาศไว้
แทบไม่พูดถึงปัญหาความมั่นคงเลย หากจะพูดแตะๆ บ้างก็เป็นในแนวที่ว่าหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบ ทำได้ดีอยู่แล้ว
ทั้งๆ ที่ก่อนนายกฯลงใต้ ก็มีประเด็นที่หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์คณะพูดคุยสันติสุขฯ ชุดที่ท่านนายกฯตั้งขึ้นเอง ว่าไปเห็นชอบริเริ่มพูดคุย “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP แบบหละหลวม รวดเร็ว และเสียเปรียบคู่เจรจาอย่าง “บีอาร์เอ็น” หรือไม่
แต่ตลอด 3 วันที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ นายกฯเศรษฐาก็ไม่เอ่ยถึงประเด็นนี้เลย
การให้สัมภาษณ์ทุกครั้งเป็นการตอกย้ำเรื่องโอกาสในการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าดินแดนปลายด้ามขวานมี “ของดี” และ “ทุนทางสังคม” พร้อมต่อยอดเยอะจริงตามที่ผู้นำประเทศว่าเอาไว้
งานนี้ สส.จากพรรคแกนนำฝ่ายค้านทั้ง 2 พรรค คือ ก้าวไกลและประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และท้วงติง
คนหนึ่งมองว่านายกฯอาจจะให้น้ำหนักของปัญหาผิดไป แม้เรื่องเศรษฐกิจปากท้องจะสำคัญ แต่รากเหง้าของปัญหาอาจจะไม่ใช่เรื่องนี้
ขณะที่ สส.อีกคนจากอีกพรรค มองว่าการให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนา ไม่ได้ผิด แต่ควรดูอดีตเป็นบทเรียน เพราะสูญเสียงบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาท ไม่ต้องพูดถึงว่าสูญเสียโอกาสไปมากเท่าไหร่
@@ มุ่งเศรษฐกิจ เมินความมั่นคง-เจรจา?
ที่อาคารรัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงเรื่องนี้
ในการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี และได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจปากท้อง รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราสนับสนุน แต่ยังมองว่านี่เป็นเพียงแค่ผิวเปลือกเท่านั้น เพราะยังมีบางเรื่องที่นายกรัฐมนตรีอาจมองผิดพลาดไป นั่นคือปัญหาการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดูเหมือนว่าการประเมินสถานการณ์ของนายกรัฐมนตรีอาจจะบิดเบี้ยวบิดเบือนไป ตั้งใจไม่มอง ไม่เห็น ไม่พูดถึงความไม่สงบ ความไม่มั่นคง รวมถึงกระบวนการสันติภาพหรือความขัดแย้ง
ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพยายามเรียกร้องให้ประชาชนลืมเหตุการณ์ตากใบ ต้องให้อภัยใครหรือไม่ แต่ถ้าคิดอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าน่าเสียดาย เพราะความเสมอภาคเท่าเทียม การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ จะไม่มีความหมายเลยถ้าปมในใจของประชาชนและหัวใจสำคัญที่สุดคือความยุติธรรม ยังถูกเมินเฉยอยู่
@@ แก้ขัดแย้งแบบลูกผสม? เปิดโต๊ะคุย แต่จำกัดเสรี
ตั้งแต่มีรัฐบาลเศรษฐา นายกรัฐมนตรีได้พบกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียหลายครั้ง ซึ่งดูเหมือนนายกรัฐมนตรีจะให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐบาลได้มีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 ครั้ง แต่รัฐบาลยังไม่แตะกฎอัยการศึก ซึ่งเรื่องนี้สำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว แล้วประเทศจะพัฒนาตามที่นายกฯ ตั้งใจไว้ได้อย่างไรหากยังมีกฎอัยการศึกหรือกฎหมายพิเศษอยู่
เรื่องที่ต้องกังวลและนายกฯเศรษฐายังไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ คือเรื่องบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ของกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังถูกจำกัดสิทธิอยู่มาก แต่นายกรัฐมนตรียังไม่เห็นมีมุมมองเรื่องนี้
และสถานการณ์ในปัจจุบันคงต้องเรียกว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหรือการสร้างเสรีภาพแบบลูกผสม ระหว่างการสร้างสันติภาพแบบเสรี กับการจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยม เพราะด้านหนึ่งคือเปิดให้มีการพูดคุย แต่อีกด้านหนึ่งก็จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
@@ อย่าดูเบาสถานการณ์ - เมินใจกลางปัญหา “ปมการปกครอง”
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐากำลังทำอยู่คือ ดูเบาสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ และด้วยเหตุนี้รัฐบาลเศรษฐาจึงไม่กล้าที่จะปะทะกับปัญหาใจกลางของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วมองข้าม นั่นคือเรื่องการปกครองที่ชอบธรรม เราไม่สามารถที่จะควบคุมจากกรุงเทพฯ จัดการส่งทหารไป แล้วอยู่กันอย่างนี้ได้ ต้องแบ่งอำนาจ แชร์อำนาจ และฟังเสียงประชาชน และมีแต่วิธีนี้ที่คนที่ใช้กำลังจะไม่มีความสามารถระดมพล
วิธีแก้ปัญหายั่งยืนคือ ต้องสร้างโครงสร้างการปกครองที่ชอบธรรมที่ผู้คนยอมรับได้อย่างไร แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นายกฯเศรษฐาละเลยไป และมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจเลย
@@ เตือนตัดสินใจผิด - มอบฝ่ายความมั่นคงจัดการ
นายรอมฎอน เน้นย้ำถึงข้อเสนอของตน คือ
1.เจตจำนงทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เราต้องการฝ่ายบริหารที่มุ่งมั่นแน่วแน่ว่าจะแก้ปัญหาทางการเมืองจริงๆ ไม่ได้ต้องการผู้นำที่พยายามหลีกเลี่ยงหนีปัญหา ซึ่งยังไม่เห็นในรัฐบาลเศรษฐา
2.ขอเตือนนายกฯเศรษฐาว่า ให้ทบทวนสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ ถ้าดูเบาสถานการณ์เกินไป มองตัวแสดงมอบหมายหลักให้กับฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว เกรงว่าในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร เป็นผู้นำของรัฐบาลพลเรือน เกรงว่านายเศรษฐาจะตัดสินใจทางการเมืองผิด
3. เรามีฝ่ายนิติบัญญัติและกรรมาธิการที่พร้อมจะช่วยเหลือและพร้อมจะทำงาน และทำเสนอข้อเสนอที่ดีประคับประคองสันติภาพให้ดำเนินต่อไป
แต่ท้ายที่สุดแล้ว การสร้างสันติภาพ เจรจาพูดคุย ควรจะเป็นหัวใจในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แม้ว่าท้ายที่สุดเรื่องปากท้องคุณภาพชีวิตของประชาชนจะเป็นเป้าหมายที่เห็นตรงกันแต่วิธีการการเรียงลำดับความสำคัญนายกเศรษฐาอาจจะต้องทบทวนใหม่”
@@ ฝาก 3 คีย์แมนรัฐบาลให้คำแนะนำนายกฯ
นายรอมฎอน กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากถึง นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นคีย์แมนสำคัญในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำจังหวะก้าว ท่าทีทิศทางของรัฐบาลเศรษฐาต่อความขัดแย้งต่อสถานการณ์ความไม่สงบและการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ต้องพูดถึงนายทักษิณ เพราะช่วงหนึ่งมีบทบาทสำคัญในการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวปูทางไปสู่ความเป็นไปได้ในการเปิดหน้าพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ก็เลยคิดว่า ในรอบนี้นายทักษิณเองแม้จะมีข้อจำกัดอยู่ แต่ก็น่าจะให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อนายเศรษฐาได้
@@ ชู “ท่องเที่ยวเชิงอารยธรรม” ปลุกเศรษฐกิจปลายขวาน
สส.ฝ่ายค้านอีกรายหนึ่ง คือ นายสรรเพชญ บุญญามณี คนนี้เป็น สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของนายกฯเศรษฐา ที่ลงพื้นที่ชายแดนใต้ในแคมเปญ “เที่ยวใต้ สุดใจ” ด้วยเหมือนกัน
ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ รู้สึกยินดีที่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการ และคาดหวังรัฐบาลจะจริงจังและจริงใจพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดได้ตรงจุด เพื่อดึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและสันติภาพในพื้นที่ให้กลับคืนมา
ผมอยากฝากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต การพัฒนาพื้นที่ แก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สามารถกลับมาสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเม็ดเงินได้อีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เมื่อ 20 ปีก่อน เราต้องยอมรับว่าการพัฒนาด้านต่างๆ ของพื้นที่ได้หยุดชะงักลง
สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดในเวลานี้ ผมเห็นว่าเราต้องดูต้นทุนของพื้นที่และกล้าที่จะตัดสินใจสนับสนุนการลงทุน ผมคิดว่าความโดดเด่นของสามจังหวัด คือ เป็นพื้นที่ที่ความหลากหลายซึ่งผสมผสานทางอารยธรรมไทย มาเลย์ จีน และมลายู สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมได้
นอกจากนี้ในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยระบบเกษตรกรรม ปศุสัตว์ของพี่น้องชาวมุสลิม ตรงนี้เองหากภาครัฐ และเอกชนกล้าลงทุน เราก็จะสามารถพัฒนาพื้นที่สามจังหวัด ป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารต่อยอดเป็นครัวมุสลิมของโลกได้ ดังนั้นตอนนี้ผมจึงเห็นว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจในสามจังหวัด คือ การหาแหล่งทุนให้กับพื้นที่ รวมทั้งระบบเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ด้วย
@@ อุทาหรณ์เทงบงานมั่นคง เมินเศรษฐกิจ-การศึกษา
นายสรรเพชญ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า งบประมาณในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สูงกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเน้นงานด้านความมั่นคงเป็นหลัก ไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางเศรษฐกิจ สวัสดิการทางสังคม ซึ่งส่งผลให้ประชาชนสามจังหวัดมีความยากจนแร้นแค้นทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ประสบความสำเร็จนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายและความชัดเจนของฝ่ายการเมือง รวมทั้งรัฐบาลที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่เป็นสำคัญด้วย
ขอแนะนำรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ให้ดูบทเรียนความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ของรัฐบาลในอดีตเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้มีอำนาจรัฐไม่ทำผิดซ้ำรอยเดิม ไม่เอาความมั่นคงของประเทศมาลองผิดลองถูกเหมือนการพูดถึงโจรกระจอกในอดีต
ตั้งแต่ปี 2547 เราใช้เงินไปกว่า 5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งงบไปลงที่หน่วยงานความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ งบลงทุนทางเศรษฐกิจ การศึกษา มีน้อยมาก เราจึงไม่แปลกใจทำไมสามจังหวัดจึงขาดโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ไปในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรอยู่อย่างมากมาย