กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ เผยผลหารือหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ หลังเชิญเข้าชี้แจงข้อมูล พร้อมสรุป 3 ข้อเสนอต่อรัฐบาล เดินหน้าหนุนกระบวนการสร้างการสันติภาพผ่านการเจรจา จี้รัฐมีเจตจำนงการเมืองที่แน่วแน่ ขณะที่เพจคณะพูดคุยฯ ผุดอินโฟกราฟฟิกอธิบาย “การปรึกษาหารือสาธารณะ” ภายใต้หลักการแผน JCPP
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) เปิดเผยว่า ในฐานะประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ได้เชิญหัวหน้าและตัวแทนคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มาชี้แจงข้อมูลเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2567 หลังจากได้รับฟังข้อมูลของคณะพูดคุยฯแล้ว ทาง กมธ.มีความเห็นต่อทิศทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ดังต่อไปนี้
1. คณะ กมธ.ได้รับฟังจากคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คณะพูดคุยฯ มีความยินดีในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้และเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย หากเราพิจารณากระบวนการสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ ทั่วโลก จะเห็นได้ว่าการเจรจาสันติภาพเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งย่อมเป็นพื้นที่สำหรับการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และเป็นพื้นที่สำหรับการแสวงหาฉันทามติร่วมเพื่อนำไปสู่สันติภาพ โดย กมธ.เชื่อว่าทุกฝ่ายต่างมีเจตนาที่ดีในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. คณะ กมธ.ขอสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการที่กำลังดำเนินการอยู่ การพูดคุยสันติภาพเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างสันติภาพที่จะนำมาสู่การคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งรุนแรง
การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนนั้น เราไม่สามารถจะบรรลุความมุ่งหมายนี้ด้วยการยุติความรุนแรงในทางกายภาพเท่านั้น แต่เราจำเป็นที่จะต้องจัดการที่รากเหง้าของปัญหาในลักษณะเป็นองค์รวม เช่น การไม่เข้าใจความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม การขาดการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน การจัดการทรัพยากรและมีส่วนในการจัดระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อการสร้างความสงบสุขและสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวด้วย
3. คณะ กมธ.มีความเห็นว่า รัฐบาลควรมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ และควรระดมสรรพกำลังเพื่อสร้างกลไกมาสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้บนพื้นฐานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งประเทศ
@@ การปรึกษาหารือสาธารณะภายใต้หลักการแผน JCPP
อีกด้านหนึ่ง ในเพจคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ The Peace Dialogue Panel ได้เผยแพร่อินโฟกราฟฟิกชุดใหม่ เกี่ยวกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ในหัวข้อ EP.3 การปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultations ; PC) ภายใต้หลักการของแผน JCPP โดยอธิบายเป็นข้อๆได้ดังนี้
1.กระบวนการเพื่อหาทางออกร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแนวทางของแผน JCPP โดยกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะจะเกิดขึ้นเมื่อแผน JCPP ได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคู่เจรจาแล้ว
2.มีรูปแบบอย่างไร
จัดให้มีขึ้นโดยองค์กรที่สามเพื่อสร้างสภาวะที่มีบรรยากาศที่เปิดกว้าง โปร่งใส และ ปลอดภัยต่อการพูดคุย โดยรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสดงออกถึงข้อคิดเห็นได้อย่างเสรีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
3.มีใครบ้างที่สามารถเข้าร่วมกระบวนการ PC ได้
ประชาชนทุกคนและกลุ่ม/องค์กรทุกกลุ่มที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ อาทิ
-องค์กรภาคประชาสังคม/เอกชน ทุกสาขา
-ผู้นำทางศาสนา
-ผู้นำชุมชน
-กลุ่มขบวนการ
-นักกิจกรรม
-ตัวแทนจากกลุ่มในพื้นที่ อาทิ สตรี เยาวชน
4.ประเด็นใดบ้างที่จะมีการหารือภายใต้กระบวนการ PC
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขและพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น
-รูปแบบบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
-ประเด็นเรื่อง ภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม
-เด็กและเยาวชนในพื้นที่
-การพัฒนาเศรษฐกิจ
-การศึกษา
-กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย
5.ผลของการหารือจะนำไปทำอะไร
ผลผลิตของการปรึกษาหารือสาธารณะจะนำไปผนวกรวมเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเพื่อสันติสุข ทุกความเห็นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญจะถูกรับฟังและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ข้อตกลงเพื่อสันติสุข
การปรึกษาหารือสาธารณะไม่ใช่แค่การพูด แต่คือการรับฟังผู้อื่นด้วยเช่นกัน
-พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายทั้งศาสนา สังคม อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม
-ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการปรึกษาหารือสาธารณะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกถึงความคิดเห็นของตนเอง แต่เป็นโอกาสที่ดีที่แต่ละส่วนได้รับฟังเสียงของคนอื่นๆ ที่มีความคิดต่างจากเราด้วยเช่นกัน