“ยูเนสโก” รับรอง “ยะลา” เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกว่าด้วยเมืองแห่งการเรียนรู้ แถมได้รางวัล “ผังเมืองดี” อันดับ 23 ของโลก
เมื่อเร็วๆนี้ “ยูเนสโก” (UNESCO) หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศรับรองให้ “กรุงเทพฯ ขอนแก่น ยะลา” เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกว่าด้วยเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก
3 เมืองของประเทศไทย ซึ่งรวมยะลาอยู่ด้วย ได้รับการประกาศจากจำนวนสมาชิกใหม่ในเครือข่ายโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO Global Network of Learning Cities : GNLC) ของปี 2567 ซึ่งมีทั้งหมด 64 เมือง จาก 35 ประเทศทั่วโลก
@@ ไทยครบ 10 เมือง : เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้
ปัจจุบันประเทศไทยมีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 10 เมือง ได้แก่ เชียงราย (เป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ.2562) เชียงใหม่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา (เป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ.2563) สุโขทัย พะเยา หาดใหญ่ (เป็นสมาชิกปี พ.ศ.2565) และกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ยะลา ได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกล่าสุดในปี พ.ศ.2567
เหตุผลที่ทำให้ ยูเนสโก ประกาศให้ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และยะลา เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของโลก เพราะมีผลงานเด่นที่สอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs
กล่าวเฉพาะ จ.ยะลา ด้วยวิสัยทัศน์ด้านกลยุทธ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของจังหวัดยะลา มีพื้นฐานมาจากแนวทาง 4 ระดับ ได้แก่ การสำรวจความต้องการ การวางแผน บุคลากรหลัก และการติดตามผล ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลา ในระยะสั้นมีจุดมุ่งหมายคือการทำความเข้าใจความต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลายของทุกชุมชน และสร้างพื้นที่การเรียนรู้สีเขียวที่เข้าถึงได้โดยใช้ทรัพยากรของเทศบาล เช่น รถโรงเรียน และรถรางในเมือง
ส่วนเป้าหมายระยะยาว ได้แก่ การเปลี่ยนยะลาให้เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้อัจฉริยะ” ผ่านความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ภายใต้กรอบ GNLC ของ UNESCO
ยะลาให้ความสำคัญกับความร่วมมือสีเขียว การไม่แบ่งแยก และแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวทางการดำเนินงานมีตั้งแต่การคิดนโยบาย วางแผนงาน และการนำไปปฏิบัติ
@@ สุขภาวะยั่งยืน - เสมอภาคเท่าเทียม - การทำงานที่มีคุณค่า
ด้านความยั่งยืนและสุขภาวะ - ยะลาบูรณาการความยั่งยืนและสุขภาพเข้ากับกลยุทธ์การเรียนรู้ โดยผสาน SDG 3 และ SDG 17 (เป้าหมายการพัฒนาที่ยื่นยืน ข้อ 3 กับ ข้อ 17 ของยูเอ็น) เข้ากับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เมืองได้พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สีเขียว และสโมสรสุขภาพที่เปิดให้ทุกคนใช้ มีการติดตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพ
ยะลายังให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สีเขียว เช่น สวนขวัญเมือง ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน
ด้านความเสมอภาคและความเท่าเทียม - ผ่านการจัดลำดับความสำคัญของชุมชนที่มีช่องโหว่ ยะลาร่วมมือกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย และกองทุนเพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษา โดยใช้กรอบการทำงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 4, 10 และ 17 เพื่อจัดการกับความล้มเหลวทางการเรียนรู้จากโควิด-19 กลยุทธ์ต่างๆ ได้แก่ การปฐมพยาบาล พื้นที่การเรียนรู้สีเขียว และทุนการศึกษา โดยมุ่งเป้าไปที่การเชื่อมช่องว่างทางการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ
ด้านการทำงานที่มีคุณค่าและการเป็นผู้ประกอบการ - ยุทธศาสตร์ของจังหวัดยะลาในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าและการเป็นผู้ประกอบการนั้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 8, 10 และ 11
เมืองยะลาอำนวยความสะดวกให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เทศกาลแฟชั่นมลายูยะลา เพื่อมอบโอกาสการเรียนรู้ให้กับแรงงานในท้องถิ่นและเยาวชน โครงการริเริ่มเหล่านี้สอนทักษะต่างๆ เช่น การออกแบบแฟชั่นที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ในช่วงโควิด-19
นอกจากนี้ โครงการ “เมืองนกยะลา” ยังสนับสนุนกิจกรรมผู้ประกอบการที่ช่วยลดขยะอีกด้วย
@@ เรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น - มีวงดุริยางค์เยาวชน
แนวปฏิบัติที่ดี - “ห้องสมุดมนุษย์” โครงการนี้มีการประชุมสภากาแฟทุกเดือน มีการตรวจสุขภาพและติดตามผลสำหรับผู้เรียน โดยทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับการสนทนาระหว่างกลุ่มทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งช่วยประเมินความต้องการการเรียนรู้ในท้องถิ่น
โครงการริเริ่มนี้มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดในสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ส่งผลให้ผู้เรียนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง และส่งเสริมการแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่การเรียนรู้สีเขียว
“สัปดาห์การออกแบบมลายู” Pakaian Melayu Design Week โครงการริเริ่มนี้เน้นการเรียนรู้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดชีวิต ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มทางสังคม มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเสื้อผ้า ด้วยการผสมผสานวัสดุเหลือใช้และวัสดุมือสองเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ ความคิดริเริ่มนี้ไม่เพียงส่งเสริมความยั่งยืนด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังสร้างโอกาสในการทำงานที่ดีอีกด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมี “วงดุริยางค์เยาวชนยะลา” ที่ก่อตั้งเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ให้บริการการศึกษาด้านดนตรีแก่เยาวชนและครอบครัวในจังหวัดยะลา ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรรายสำคัญ เช่น โรงเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย โดยมีกองทุนเทศบาลเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจในการศึกษาดนตรีระดับมหาวิทยาลัย
@@ ผังเมืองดีติดอันดับ 23 ของโลก
จังหวัดยะลายังเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองดีติดอันดับ 23 ของโลก และได้รางวัลด้านเมืองจากการตัดสินของ UNESCO Cities
ผังเมืองยะลาดีขนาดไหนหลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า “ยะลา” มีฉายา “ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน” มีผังเมืองติดอันดันท็อปของโลก จนปี พ.ศ.2546 ผ่านการตัดสินชนะเลิศจากกรรมการตัดสินชุดใหญ่ของ UNESCO ได้รับรางวัล UNESCO Cities และมีเว็บไซต์ชื่อดัง จัดอันดับยะลาให้เป็นผังเมืองที่ดีที่สุด อันดับที่ 23 ของโลกในปี 2560 เป็นปีเดียวกับที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้อันดับที่ 1 ไปครอง
จังหวัดยะลา ทำอย่างไรถึงได้รางวัลการันตีว่าเป็นผังเมืองที่ดี เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองใหญ่ในประเทศไทยที่มีการวางผังเมืองตั้งแต่สร้างเมือง สมัยที่ชุมชนเมืองยะลายังเป็นชุมชนขนาดเล็กเกาะตัวอยู่ใกล้สถานีรถไฟ รายล้อมด้วยสวนยางและป่าไม้ การตัดถนนจึงดำเนินการไปในพื้นที่สวนและป่าเป็นส่วนใหญ่
จุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองยะลานั้น ริเริ่มโดย พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) อดีตข้าหลวงคนที่ 10 ของจังหวัดยะลา (พ.ศ.2456-2458) ซึ่งเมื่อลาออกจากราชการแล้ว ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลาถึงสองสมัย (พ.ศ.2480-2488)
ผังเมืองยะลา ถนนทุกเส้นมุ่งหน้าสู่ใจกลางเมืองยะลา มีถนนกว่า 400 สาย ตัดเชื่อมต่อกันเหมือนใยแมงมุม มีวงเวียนซ้อนกัน 3 วง คล้ายกรุงปารีสฝรั่งเศส และแบ่งพื้นที่เป็นโซนนิ่งชัดเจน คล้ายกับกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส รวมถึงมีการกล่าวว่า มีต้นแบบแรกเริ่มมาจากแคนเบอร์รา เมืองหลวงของออสเตรเลีย
@@ ยะลาเมืองสวยงาม คนในพื้นที่ภูมิใจ - คนนอกพื้นที่ชื่นชม
ข่าวเรื่องการได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกว่าด้วยเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก และการได้รับยกย่องเป็นจังหวัดที่มีผังเมืองดีที่สุดในประเทศไทยและมีผังเมืองดีติดอันดับ 23 ของโลก สร้างความดีใจและภูมิใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
นางสาวรอกายะ มะแด แม่ค้าจังหวัดยะลา บอกว่า ทราบมาตลอดว่าผังเมืองยะลาดีและสวยกว่าจังหวัดไหนๆ สมัยเด็กๆ ครูก็สอนตลอดว่า จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวย ก็จำมาตลอด สวยจริงๆ สมแล้วที่ได้รางวัล ขอบคุณทุกคนที่ทำให้บ้านเรามีสิ่งดีๆ มากกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบ
นายสุไลมาน สาเละ อุซตาสจังหวัดยะลา กล่าวว่า เห็นข่าวในโซเซียลฯบอกว่า ยะลาเราได้รางวัล เป็นเรื่องดีมาก เพราะเมืองสวยจริงๆ ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาภาพเหล่านี้ให้สวยงามตลอดไป อย่าได้มีเสียงระเบิดมากลบสิ่งดีๆ ที่มีเลย อยากให้คนข้างนอกได้มาเห็นว่า จังหวัดยะลาของเราสวยจริงๆ สมแล้วที่เขาให้รางวัลมา
ด้านเจ้าหน้าที่ทหารจากภาคเหนือที่มาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ กล่าวว่า จังหวัดยะลามีผังเมืองสวยมาก ถูกต้องที่สุดแล้วที่ได้รางวัลมา อยากให้คนจากภาคอื่นๆ มาเที่ยวยะลา เพราะที่นี้มีอะไรดีกว่าที่พวกเราเคยคิด ธรรมชาติสวยงามมาก คนใจดี มีน้ำใจ มาอยู่ที่นี้ไม่นานก็รู้สึกหลงรักยะลา ไม่ต่างจากคนยะลาเลย