วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สังคมได้เห็นคำตอบต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ของนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งควบตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “หัวหน้าคณะเจรจาฯ ภาคใต้”
แต่อ่านคำตอบของหัวหน้าคณะฯ ฝ่ายไทยแล้ว อาจชวนให้ต้องคิดมากขึ้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) นายฉัตรชัยยืนยันว่า การเจรจาดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ได้ตอบการแก้ปัญหาในทางยุทธศาสตร์ เพราะถ้านายฉัตรชัยไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ นายฉัตรชัยจะมีสถานะเดียวคือ เป็น “กบฎ” และเป็นผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทางออกของรัฐบาลในทางกฎหมายจึงไม่ควรมีทางเลือกเป็นอื่น นอกจาก “ปลดและจับกุม” นายฉัตรชัยด้วยข้อหากบฏ
2) ในทางกลับกัน ก็เชื่อว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มีคำสั่งที่อนุญาตให้นายฉัตรชัย ไปดำเนินการเพื่อให้เกิดการละเมิดรัฐธรรมนูญในกระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะคงไม่มีรัฐบาลใดกระทำเช่นนั้น
3) การยืนยันว่า การเจรจานี้จะไม่นำไปสู่การประกาศเอกราช และการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่หน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายไทย การยืนยันในเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคู่เจรจาฝ่ายตรงข้าม ที่จะต้องแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนในกระบวนการเจรจา หัวหน้าคณะฝ่ายไทยไม่จำเป็นต้องแสดงความ “อ่อนหัด” ในการรับรองให้แก่ฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ใช่หน้าที่ที่ควรกระทำ
4) ท่าทีการแสดงออกอย่างชัดเจนของหัวหน้าคณะฝ่ายไทย คือ การใช้นโยบายแบบ “ยอมฝ่ายตรงข้าม” และหวังว่าการยอมฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้จะทำให้ฝ่ายตรงข้าม “ยอมเรา” ซึ่งนโยบายในแบบนี้ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “The Appeasement Policy” เช่นที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยใช้ในวันที่ฮิตเลอร์บุกยึดดินแดนซูเดเทินลันท์ในปี 1938 และการยอมด้วยนโยบายเช่นนี้ ทำให้ฮิตเลอร์ ”ได้ใจ” และนำไปสู่การเปิดสงครามเพื่อยึดดินแดนของโปแลนด์ในเวลาต่อมา การแสดงออกด้วยท่าทีที่อ่อนแอของอังกฤษในกรณีนี้คือ หนึ่งในจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 และวงการความมั่นคงยุคหลังจากนั้น มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทิศทางเช่นนี้คือ “การยอมจำนน” ในทางนโยบาย และเริ่มต้นด้วย “การยอม” บนโต๊ะเจรจา
5) นายฉัตรชัยได้กล่าวว่า “รัฐบาลทราบเรื่อง” ซึ่งนายฉัตรชัยอาจต้องแถลงให้ชัดเจนว่า รัฐบาลที่นายฉัตรชัยกล่าวถึงนี้คือใคร จริงหรือว่านายฉัตรชัยได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลรับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว
6) ถ้าเป็นจริง รัฐบาลจะยอมรับต่อสิ่งที่นายฉัตรชัยกำลังดำเนินการนี้อย่างไรหรือไม่ รัฐบาลควรต้องกล่าวถึงเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะหลายภาคส่วนในสังคมมีความเห็นละความกังวลต่อเรื่องนี้อย่างมาก การปล่อยเรื่องนี้ไปโดยไม่มีความชัดเจน อาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้
7) นายฉัตรชัยได้สัมภาษณ์ว่า “หลักการ [ ของแผน ] มันดี อยากให้ทุกคนมั่นใจ…” ซึ่งในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย เขาไม่จำเป็นต้อง “รีบร้อน” แสดงออกเช่นนี้ เพราะการรับหรือไม่รับ “หลักการ” ในประเด็นการเจรจาไม่ใช่หน้าที่ของนายฉัตรชัย และไม่ใช่เรื่องที่จะใช้ “เจ้าหน้าที่” ในสำนักงานสภาความมั่นคงฯ มาให้การรับรอง แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลและ/หรือตัวสภาความมั่นคงฯ ต้องวินิจฉัยด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะการกำหนดหลักการของการเจรจาเป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ของรัฐ และมีผลกระทบต่อรัฐ
8) กระบวนการเจรจาทางการเมืองนอกจากมีปัญหาในตัวเอง และยังมีความซับซ้อนในตัวเองอีกด้วย การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องยึดหลักการสำคัญคือ การเจรจาเพื่อยุติการก่อความไม่สงบเป็น “สงครามการเมือง” รูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ เป็นสงครามที่มีแนวรบอยู่กับความได้เปรียบ/เสียเปรียบผ่าน “กระบวนการเจรจาต่อรอง” หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นสงครามที่มี “โต๊ะเจรจา” เป็นสนามรบ การชิงความได้เปรียบ/เสียเปรียบจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดด้วย “ความใคร่ครวญ” ในทางยุทธศาสตร์ และผู้เจรจาต้องมีทักษะที่จะต้องเข้าใจกระบวนการนี้ หรือที่กล่าวเสมอในวิชาการเจรจาต่อรองว่า “อย่าโง่กว่าข้าศึก” บนโต๊ะ
9) ภาษาที่ใช้ในการเจรจามี “ความละเอียดอ่อน” อย่างมาก ผู้เจรจาฝ่ายไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มักจะละเลยในประเด็นเช่นนี้ ดังจะเห็นได้จากภาษาที่อีกฝ่ายได้นำเสนอ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่กลายเป็น “หลุมพราง” ต่อรัฐไทย และปัญหานี้จะต้องไม่เกิดจากท่าทีแบบ “ยอมทุกอย่าง” หรือทัศนะแบบ “ละเลย” ของคณะผู้เจรจาฝ่ายไทย
10) การเจรจาจะต้องทำให้เกิดรูปธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่เป็นผลบวกกับชีวิตของคนในพื้นที่ทั้งไทยพุทธและมุสลิม และคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องตระหนักเสมอว่า ผู้ก่อความไม่สงบดำเนิน “สงคราม 2 แนวรบ” เช่นที่เห็นได้เสมอในทุกการต่อสู้ คือ สงครามการทหารคู่ขนานกับสงครามการเมือง การรับหรือไม่รับประเด็นในการเจรจา จะต้องคำนึงเรื่องนี้
11) การกำหนดข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย ที่กล่าวว่า “BRN” จะต้อง “ไม่ก่อเหตุ ไม่ขนย้ายอาวุธ ไม่ปลุกปั่น ไม่ทำผิดกฎหมาย” ดูจะเป็นการเรียกร้องที่หาสาระไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงของขบวนติดอาวุธในสงครามก่อความไม่สงบ ไม่เคยมีการยุติ 4 การกระทำเช่นนี้ได้ การกระทำจะค่อยๆ ลดลงจากความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่เกิดจากผู้ที่เข้าร่วมปฎิบัติการนั้น มองไม่เห็นอนาคตของสงคราม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐไทยในทางยุทธศาสตร์ที่จะต้องทำให้เกิดสภาวะเช่นนั้นให้ได้
12) ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้อง “กล้า” ประกาศว่า ผู้ก่อเหตุฝ่ายตรงข้าม ที่กระทำการด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ทั้งต่อไทยพุทธและมุสลิมคือ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” (BRN) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ฝ่ายไทยกำลังเจรจากับใคร และรัฐบาลควรนำเสนอถึงความโหดร้ายของผู้ก่อความไม่สงบกับเวทีสากล มิใช่ปล่อยให้ผู้ก่อความไม่สงบโฆษณาทางการเมืองภายใต้การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ผ่าน “เจนีวา คอล” (Geneva Call) แต่ขณะเดียวกัน รัฐจะต้องชัดเจนที่จะไม่ทำลายเงื่อนไขทางการเมืองของตนผ่านปฎิบัติการต่างๆ ที่ไม่สร้างผลตอบแทนในทางยุทธศาสตร์ หรือเป็นปฎิบัติการที่สร้างผลลบในทางยุทธศาสตร์
ปล: เขาลือกันว่าคุณฉัตรชัยต่อรองกับรัฐบาล เพื่อขอขึ้นเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในเดือนกันยายน 2567 นี้ ก็หวังว่า การเจรจาในเรื่องภาคใต้จะไม่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในเรื่องนี้ !
--------------------------------
หมายเหตุ : บทความของอาจารย์สุรชาติ พาดหัวเดิมคือ “นโยบายยอมจำนนในภาคใต้”